นอนวันละ 10 ชั่วโมง ตื่นมาเพลีย? เช็กอาการให้ชัวร์ ก่อนเกิดภาวะโรคนอนเกิน

นอนวันละ 10 ชั่วโมง ตื่นมาเพลีย? เช็กอาการให้ชัวร์ ก่อนเกิดภาวะโรคนอนเกิน
ต่อให้นอนวันละ 10 ชั่วโมง แต่ก็ยังรู้สึกเพลีย เป็นสัญญาณของโรคที่อาจบ่งบอกว่า การพักผ่อนของคุณ ไม่ได้ช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูอีกต่อไป

นอนมากไปก็ยังง่วง ตื่นมายังไม่สดชื่น มีอาการเพลียๆ เหมือนคนนอนไม่พอตลอดเวลา เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปกติ และไม่ควรชะล่าใจ เพราะเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคนอนเกิน หรือ Hypersomnia” และอาจเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ 

ใครที่รู้ตัวว่า อยู่ในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และมีอาการง่วงนอนหรืออยากหลับ แม้แต่ตอนที่ร่างกายกำลังขยับ เช่น กำลังรับประทานอาหาร อยู่ในที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน อยู่ในพื้นที่ที่มีการส่งเสียงดัง ก็พร้อมที่จะหลับได้ทุกเมื่อ นี่คืออาการของผู้ที่เป็นโรคนอนเกิน ที่ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่เป็นโรคที่เกิดจากภายในร่างกายของเรา 

และถ้าใครที่เคยสังเกตตัวเอง จะพบว่า หากวันไหนที่นอนไม่ได้คุณภาพจะมีผลต่ออารมณ์ของตัวเอง เช่น จะมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย แม้แต่กับเรื่องเล็กน้อย ส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของสมอง ทำให้ความจำสั้น สมองที่เคยแล่นก็มีอาการเชื่องช้ากว่าปกติ คิดอะไรไม่ค่อยออก ลามไปถึงความวิตกกังวลที่มากกว่าปกติ และอาจรุนแรงไปจนถึง “อาการซึมเศร้า” ที่ส่งผลเสียในระยะยาว 

แล้วต้องนอนนานแค่ไหน ถึงจะเรียกว่า นอนเกิน? กรมสุขภาพจิต ระบุว่า การนอนเกินวันละ 9-10 ชั่วโมงต่อวันติดต่อกันหลายวัน อาจเข้าข่ายเป็นโรคนอนเกินได้ เช่นเดียวกับ Martin Reed ผู้ก่อตั้ง Insomnia Coach บริษัทที่ให้บริการให้คำปรึกษาด้านการนอน ที่บอกไว้ในบทความของเขาว่า “หากใครก็ตามนอนหลับนานเกิน 9 หรือ 10 ชั่วโมงเป็นประจำ และยังรู้สึกเหนื่อยระหว่างวัน นั่นอาจเป็นเพราะว่าเขานอนหลับมากเกินไป”

แต่อาการการนอนนานเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง เพราะมีสาเหตุหลายประการ ดังนี้ 

  • การอดนอนนานจนเกินไปหรืออดนอนบ่อยๆ จนร่างกายรู้สึกว่าพักผ่อนไม่เพียงพอสะสมไปเรื่อยๆ 
  • เวลาในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่แน่นอน หรือต้องปรับเวลาในการพักผ่อนอยู่บ่อยครั้ง 
  • ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ
  • ผู้ที่นอนกรน และมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จนทำให้ร่างกายรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายไม่เพียงพอ 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ แต่ผลการวิจัยยังพบว่า การนอนหลับที่นานเกินไป มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคร้ายตามมา ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคอ้วน ทั้งยังสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นด้วย 

คำถามที่จะตามมาคือ เราควรนอนกันกี่ชั่วโมงต่อวัน? ….. NATIONAL SLEEP FOUNDATION ให้คำแนะนำการนอน โดยเฉพาะผู้ที่อายุระหว่าง 18 ถึง 64 ปี ว่า ควรนอนหลับอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี อาจจำเป็นต้องนอนหลับน้อยกว่านี้เล็กน้อย โดยแนะนำให้นอนหลับ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน 

หากใครที่ไม่อยากเป็นโรคนอนเกิน สามารถปรับการนอนให้ได้คุณภาพ เช่น ควรนอนและตื่นให้ตรงเวลา ไม่ควรนอนเกิน 4 ทุ่มในแต่ละวัน และหากตื่นในช่วงตี 5 ถึง 6 โมงเช้าก็จะยิ่งดี เพราะทำให้ร่างกายสดชื่น และรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากยิ่งขึ้น 

ที่สำคัญ การจัดตารางเวลาชีวิตให้เป็นระเบียบ แบ่งเวลาทำงาน เวลากิน เวลานอนให้ชัดเจน ก็จะช่วยให้เรามีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้นได้ และไม่เสี่ยงเป็นโรคนอนเกินอีกด้วย 

หลายคนอาจมองว่า การนอนเยอะ คือการพักผ่อนที่เพียงพอ สิ่งนั้นอาจจะไม่ผิด หากตื่นมาแล้วไม่ได้รู้สึกอ่อนเพลีย หรืออยากนอนต่ออีกตลอดเวลา เพราะนั่นอาจไม่ใช่ความรู้สึกขี้เกียจโดยทั่วไป แต่อาจเป็นสัญญาณของ “โรคนอนเกิน” ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้ 

 

แหล่งอ้างอิง : 
https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29640 
https://www.thensf.org/how-many-hours-of-sleep-do-you-really-need/ 
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1087079217300278?via%3Dihub 

TAGS: #Health #Sleep #พักผ่อน #นอน