คนไทยกำลังความสนใจ Temu ซึ่งเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซของคนจีนที่กำลังบุกตลาดไทย จนกังวลกันว่ามันอาจทำให้ไทยถูกท่วมท้นด้วยสินค้าจากจีน และกระทบต่อผู้ค้าปลีกในไทย รายละเอียดเกี่ยวกับ Temu สามารถติดตามได้จากรายงานของ The Better เรื่อง "แอปจีนที่กำลังบุกไทยและทั่วโลก Temu คืออะไร และควรกังวลไหม?"
แต่ยังอีกหนึ่งมีบริษัทที่อยู่เบื้องหลัง Temu นั่นคือ Pinduoduo หรือพินตัวตัว (拼多多) ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซชั่นนำของจีน ซึ่งคนไทยอาจคุ้นชื่อกันมาบ้าง แต่อาจจะไม่ทราบเบื้องลึกของบริษัทนี้ ซึ่งเน้นตลาดในจีน ส่วน Temu เน้นตลาดสากล โดยในระยะหลัง Pinduoduo ถูกพูดถึงมากในแง่ที่อื้อฉาวพร้อมๆ กับความสำเร็จ ดังนั้นเราจึงจะขอล้วงลึกเรื่องราวเกี่ยวกับ Pinduoduo มาให้รับรู้กัน
1. Pinduoduo หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคือ หวงเจิง (黃崢) เมื่อเดือนเมษายน 2015 หวงเจิง มีพื้นเพมาจากครอบครัวคนงานชนชั้นกลางในโรงงาน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง สำเร็จการศึกษาปริญญาโทสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินในปี 2547
2. เขาเคยทำงานเป็นวิศวกรให้กับ Google และหลังจากลาออกจาก Google ในปี 2007 หวงเจิง ได้เริ่มต้นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ Oku แต่ขายมันไปในราคา 2.2 ล้านเหรียญในปี 2010 จนกระทั่งสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอีกอันหนึ่ง คือ Pinduoduo ในปี 2015 และมันสร้างรายได้มหาศาลให้กับเขา ปัจจุบันเขาสละตำแหน่งประธานบริษัทไปแล้ว แต่ยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลในบริษัทและในวงการอีคอมเมิร์ซอยู่เช่นเดิม
3. และ Pinduoduo ก็รุ่งขึ้นมาได้เพราะยุคสมัยของเขา ปรากฏว่า ในปี 2017 Pinduoduo มีรายได้ 1.4 พันล้านหยวนหลังจากดำเนินการได้แค่ 2 ปี และเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรกบน NASDAQ หุ้น 47% ของ หวงเจิง ใน Pinduoduo ก็มีมูลค่าถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้เขาเป็นบุคคลที่รวยที่สุดเป็นอันดับที่ 13 ในประเทศจีนในเวลานั้น ส่วนบริษัท Pinduoduo นั้นมุ่งตลาดโลกไปแล้ว โดยในเดือนกันยายน 2022 ก็แยกบริษัทลูกอีกมาอีกบริษัท คือ Temu
4. ทำไม Pinduoduo ถึงรุ่งขนาดนี้? ก่อนอื่นชื่อของแพลตฟอร์มนี้สื่อความหมายโดยตรงถึงลักษณะบริการ นั่นคือ พิน (拼) แปลว่ากลุ่ม การนำมารวมกัน หรือเหมารวม และ ตัวตัว(多多) แปลว่าเยอะแยะ บ่งชี้ว่าแพลตฟอร์มนี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสั่งซื้อสินค้ากับผู้ขายหรือผู้ผลิตผ่านการซื้อแบบกลุ่มเพื่อรับส่วนลดพิเศษ หลักๆ ก็คือ ผู้ใช้ Pinduoduo สามารถซื้อสินค้าที่ต้องการในราคาที่ถูกกว่าได้ด้วยการเริ่มการซื้อแบบกลุ่มกับเพื่อน ครอบครัว เพื่อนบ้าน ฯลฯ ซึ่งจะช่วยรวมพลังของผู้คนจำนวนมากในการซื้อสินค้าที่ดีกว่าในราคาที่ถูกกว่า
5. แต่ในแง่ของการบริหาร Pinduoduo ถูกโจมตีว่า 'ขูดรีด' พนักงานมากเกินไป และมีวัฒนธรรมการทำงานที่โหดแบบ 996 ซึ่งใช้กันทั่วไปในหมู่บริษัทเทคของจีน เช่น เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2021 มีรายงานออนไลน์ว่าพนักงานวัย 23 ปีของ Pinduoduo สาขาซินเจียง เสียชีวิตกะทันหันเนื่องจากทำงานล่วงเวลาเกินกำหนด ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า หวงเจิง เน้นหนักในเรื่อง 'หน้าที่ความรับผิดชอบ' (本分) ในองค์กรอย่างมาก เช่น ในระบบการทำงานของ Pinduoduo เมื่อชั่วโมงทำงานต่อเดือนของพนักงานถึง 300 ชั่วโมง ระบบจะแสดงข้อความ "คุณได้ทำหน้าที่ของคุณแล้ว"
6. นอกจากนี้ Pinduoduo ถูกกล่าวหาเรื่องเป็นแพลตฟอร์มที่ขายของปลอม โดยมีข่าวนี้ตั้งแต่ตอนที่เข้าจดทะเบียนในตลาด Nasdaq บริษัทถูกโจมตีด้วยรายงานข่าวเชิงลบจากสื่อเรื่องความไม่มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสินค้าลอกเลียนแบบและสินค้าด้อยคุณภาพ ปรากฏว่า Pinduoduo กลับแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยอ้างว่าเป็นเรื่องยากที่จะกำจัดสินค้าลอกเลียนแบบได้อย่างรวดเร็วในขั้นตอนนี้
7. ในเดือนมีนาคม 2020 Pinduoduo ได้เผยแพร่ “รายงานประจำปีว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค” รายงานดังกล่าวระบุถึงระบบการป้องกันผลกระทบจาก “สินค้าปลอมที่ล้นเกิน” อย่างเข้มงวด การเร่งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการผลักดัน 'เงินอุดหนุน 10,000 ล้าน' (百亿补贴) ซึ่งเป็นกลยุทธ์การกระตุ้นการขายสำคัญของแพลตฟอร์มต่างๆ ในจีน
8. อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2021 คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเซี่ยงไฮ้ได้ไต่สวน Pinduoduo และชี้ให้เห็นว่า Pinduoduo มีปัญหาด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าปลอม ปัญหาการยกเลิกคำสั่งซื้อโดยบังคับ การจัดส่งที่ผิดพลาด ปัญหาบริการหลังการขาย และการต่อรองราคาในแง่ของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค นี่เป็นปัญหาสำคัญของ Pinduoduo
9. ในส่วน 'เงินอุดหนุน 10,000 ล้าน' (百亿补贴) ถือเป็นกลยุทธ์การขายที่โดดเด่นที่สุดจุดหนึ่งของ Pinduoduo คือการอุดหนุนผู้ค้า ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2024 พบว่า ในกลุ่มร้านค้าใหม่ที่ได้รับเงินอุดหนุน 10,000 ล้านหยวน จำนวนร้านค้าที่ได้รับการอุดหนุนจาก Pinduoduo เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 83% จำนวนร้านค้าเครื่องใช้ดิจิทัลในบ้านเพิ่มขึ้น 86% เและจำนวนร้านค้าผลิตภัณฑ์เสริมความงามเพิ่มขึ้น 105%
10. ความแกร่งของ Pinduoduo ยังจะเห็นได้จากการรายงานของ The New York Times ภาคภาษาจีนที่ชี้ว่าในขณะที่เศรษฐกิจจีนซบเซา แต่ Pinduoduo กลับเด้งขึ้นมา และชี้ว่า "ปัจจุบัน Pinduoduo กำลังเข้าใกล้ JD.com ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่เป็นอันดับสองของจีนในแง่ของส่วนแบ่งการตลาด เมื่อปีที่แล้ว มูลค่าตลาดของ Pinduoduo แซงหน้า Alibaba ไปชั่วครู่ และกลายเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่าสูงที่สุดในจีน"
11. The New York Times ภาคภาษาจีนยังชี้ถึงจุดเด่นว่า "Pinduoduo ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากความท้าทายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งของจีน นั่นคือ ผู้บริโภคลังเลที่จะจับจ่าย และราคาอาหารและสินค้าอื่นๆ ที่ตกต่ำ ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนเติบโตช้าลง ผู้บริโภคก็เริ่มยอมรับ "การบริโภคที่ลดระดับลง" ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เน้นการจับจ่ายใช้สอยผ่าน Pinduoduo"
12. "การบริโภคที่ลดระดับลง" หรือ 消费降级 (เซียวเฟย เจี้ยวจี๋) หมายถึงการลดการใช้จ่ายลงโดยซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง แต่มีศักยภาพในการสร้างความพึงพอใจไม่ต่างจากสินค้าราคาสูงๆ ปรากฏการร์นี้เป็นที่นิยมของคนจีนมากขึ้นในระยะหลัง และเป็นวสาเหตุที่ทำให้แพลตฟอร์มที่ขายของราคาถูกแต่คุณภาพพอจะใช้ได้ จึงเป็นที่นิยมมาก และทำให้มันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไปได้
ผลก็คือ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม Fortune China เปิดเผยรายชื่อ Fortune Global 500 ใหม่ล่าสุด ปรากฎว่า Pinduoduo ติดอันดับโลกครั้งแรก โดยได้รับแรงหนุนจากกาารค้าออนไลน์ในจีนที่ฟื้นตัว
ดูเหมือนว่า "การบริโภคที่ลดระดับลง" ที่เป็นจุดแข็งของ Pinduoduo ได้กลายเป็นจุดแข็งของ Temu ไปด้วย นั่นคือการขายสินค้าราคาถูก เพื่อจับผู้บริโภคที่เงินน้อยลงเพราะเศรษฐกิจซบเซา แต่ก็ยังต้องการใช้จ่าย พวกเขายอมที่จะซื้อสินค้าที่คุณภาพ 'โอเค' แต่ราคาถูกมากๆ และนี่คือโมเดลของ Pinduoduo และ Temu ในเวลานี้
รายงานโดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better