สายออกกำลังกายต้องระวัง! แพทย์เฉพาะทางเตือนว่าการออกกำลังกายหนักเกินไป หรือทำผิดวิธี อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกปลิ้นได้
นพ.พร นริศชาติ แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ อธิบายว่า หมอนรองกระดูกสันหลังเป็นเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกและช่วยให้กระดูกสันหลังเคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่น โดยมีลักษณะคล้ายยางรถยนต์ด้านนอก และมีเนื้อวุ้นด้านใน อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังตั้งแต่คอ อก จนถึงเอว
โรคหมอนรองกระดูกปลิ้นพบได้ในคนอายุน้อยที่มีพฤติกรรมใช้ร่างกายผิดวิธีเป็นเวลานาน เช่น การยกของหนัก การเล่นกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ หรือการออกกำลังกายผิดวิธี แม้ว่าการออกกำลังกายจะดีต่อสุขภาพ แต่หากทำหนักเกินไป หรือใช้ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือปลิ้นออกจากตำแหน่งปกติ ส่งผลให้เกิดแรงกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดรุนแรง หรือในบางกรณีอาจทำให้เส้นประสาทเสื่อมสภาพได้
พฤติกรรมการออกกำลังกายที่เสี่ยงต่อหมอนรองกระดูกปลิ้น ได้แก่ การยกน้ำหนักผิดท่า เช่น การก้มหลังยกของหนัก การออกกำลังกายที่ใช้แรงกระแทกสูง เช่น การกระโดดหรือวิ่งระยะไกล การออกแรงมากเกินไปโดยไม่คำนึงถึงความสามารถของร่างกาย รวมถึงการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วและรุนแรงเกินไป หากออกกำลังกายโดยไม่ระมัดระวัง อาจทำให้หมอนรองกระดูกได้รับแรงกดทับสะสม จนนำไปสู่ภาวะหมอนรองกระดูกปลิ้นได้
การออกกำลังกายที่ถูกต้องและปลอดภัยสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหมอนรองกระดูกปลิ้นได้ โดยเริ่มจากการวอร์มร่างกายก่อนออกกำลังกาย ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและลดโอกาสบาดเจ็บ การฝึกท่าทางที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การยกน้ำหนักต้องจัดระเบียบร่างกายให้เหมาะสม เพื่อป้องกันแรงกระแทกที่มากเกินไป นอกจากนี้ ควรเพิ่มน้ำหนักหรือระดับความหนักของการออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรเร่งรัดจนเกินขีดจำกัดของร่างกาย ควรให้ร่างกายได้พักผ่อนหลังออกกำลังกายหนัก เพื่อให้กล้ามเนื้อและหมอนรองกระดูกฟื้นตัว รวมถึงการฟังสัญญาณจากร่างกาย หากรู้สึกเจ็บปวดควรหยุดพักทันที และหากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์
หากมีอาการปวดหลังจากหมอนรองกระดูกปลิ้น สามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้โดยหยุดกิจกรรมที่ทำให้ปวด และค่อย ๆ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการตึง หากจำเป็นอาจรับประทานยาแก้ปวดตามคำแนะนำของแพทย์ แต่หากอาการยังคงรุนแรงขึ้น มีอาการชา หรืออ่อนแรง ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
แพทย์จะทำการวินิจฉัยภาวะหมอนรองกระดูกปลิ้นด้วยการถ่ายภาพรังสี (X-ray) และตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จากนั้นจึงพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม สำหรับกรณีที่หมอนรองกระดูกปูดออกมาเพียงเล็กน้อย แพทย์อาจใช้การฉีดยาระงับการอักเสบ หรือการจี้ด้วยเลเซอร์เพื่อลดการปลิ้นของหมอนรองกระดูก แต่หากภาวะหมอนรองกระดูกปลิ้นรุนแรงและกดทับเส้นประสาทมาก อาจต้องใช้การผ่าตัดส่องกล้อง (MIS - Minimally Invasive Surgery) ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีข้อดีหลายประการ เช่น แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายใน 1 คืน
การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อร่างกายและสุขภาพในระยะยาว แต่หากใช้ร่างกายหนักเกินไป หรือทำท่าทางที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดปัญหาหมอนรองกระดูกปลิ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ในอนาคต
โรงพยาบาลเอส สไปน์ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02 034 0808