'แจกันทองคำ'ชี้ชะตา'ดาไล ลามะ' ใช้ประกาศิตโอรสสวรรค์จับสลากเลือกประมุขทางศาสนาของซีจั้ง

'แจกันทองคำ'ชี้ชะตา'ดาไล ลามะ' ใช้ประกาศิตโอรสสวรรค์จับสลากเลือกประมุขทางศาสนาของซีจั้ง

วันนี้มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับ 'ซีจั้ง' หรือ ทิเบต เมื่อ 'ดาไล ลามะ' ออกมาประกาศว่า หากท่านมรณภาพแล้ว จะยังคงมีการสืบทอด 'การกลับชาติมาเกิด' ของตำแหน่งดาไล ลามะ ต่อไป

แต่การประกาศแต่ฝ่ายเดียวย่อมเป็นไปไม่ได้ และแน่นอนว่ารัฐบาลจีนจะต้องตอบโต้ โดยในเวลาไม่นานหลังการประกาศของดาไลลามะ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน คือ เหมาหนิง กล่าวในการแถลงข่าวประจำวันว่า "การกลับชาติมาเกิดขององค์ดาไล ลามะ ปันเชน ลามะ และบุคคลสำคัญทางพุทธศาสนาท่านอื่นๆ จะต้องเลือกโดยจับฉลากจากแจกันทองคำ และต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง"

ดาไล ลามะ ประมุขแห่งนิกายเกลุกหรือนิกายเหลืองในพุทธศาสนาแบบทิเบต และในอดีตคือผู้นำทางศาสนาและการเมืองในซีจั้ง ก่อนที่ซีจั้งจะได้รับการปลดปล่อยจากรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

การเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งดาไลลามะ หรือลามะชั้นสูงอื่นๆ ที่เชื่อกันว่ากลับชาติมาเกิดเพื่อดำรงสมณศักดิ์เดิมไปเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่า 'ทูลกู' (祖古 หรือ เด็กผู้ทรงจิตวิญญาณ 灵童 หรือ พุทธะที่ยังมีชีวิต 活佛) ไม่ใช่ว่าคนซีจั้งจะแต่งตั้งกันเอง แต่ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาลกลาง โดยสมณศักดิ์อันเป็นผู้นำทางโลกและทางธรรมของซีจั้งนั้นต้องยึดโยงกับราชสำนัก/รัฐบาลจีน มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวนแล้ว

กล่าวคือ ในสมัยราชวงศ์หยวน ราชสำนักที่นครต้าตูให้การสนับสนนุนนิกายซากยา หรือนิกายแดง ราชสำนักจะสถาปนาประมุขและสงฆ์ชั้นสูงของนิกายแดงให้เป็น 'พระราชครู' หรือ 'กั๋วซือ' (国师) คอยดูแลสมาชิกในพุทธศาสนาแบบซีจั้งทั้งหมดแต่ส่วนกลางก็มีอาจการตรวจตราผ่านทางสำนักกิจการพุทธศาสนา (宣政院) แห่งซีจั้ง

ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง ราชสำนักที่หนานจิงและปักกิ่งให้การสนับสนุนนิกายกาจือ หรือนิกายดำ มีการตั้งให้เป็น 'พระราชครู' เช่นกัน ซึ่งเป็นผู้ปกครองนิกายทั้งปวงในซีจั้ง เช่นเดียวกับสมัยหยวน สมัยหมิงได้กำหนดผู้แทนมณฑลทหารพลเรือนอือชัง (乌思藏都指挥使司) เป็นศูนย์กลางการบริหารซีจั้งทั้งหมด และราชสำนักส่งข้าหลวงจากส่วนกลางไปกำกับดูแล

ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ชิง ราชสำนักให้การสนับสนุนนิกายที่ก่อตั้งใหม่ คือ นิกายเกลุกหรือนิกายเหลือง นิกายนี้มีประมุขใหญ่ 2 ท่าน คือ ดาไล ลามะ ซึ่งประจำอยู่ที่เมืองลาซา และ ปันเชน ลามะ ที่ประจำอยู่ที่เมืองชิกาเช ทั้งสองท่านนี้จะคอยสนับสนุนกันและกัน กล่าวคือ เมื่อ ดาไล ลามะ มรณภาพ ปันเชน ลามะ จะเป็นผู้รับรองการเกิดใหม่ของ ดาไล ลามะ ท่านต่อไป จากนั้นก็จะรับหน้าที่เป็นครูสอนวิชาทางพุทธศาสนาให้ ในทำนองเดียวกัน หาก ปันเชน ลามะ มรณภาพ ดาไล ลามะ ก็จะทำแบบเดียวกันสลับกันไปแบบนี้

ระบบเลือก 'ทูลกูผู้กลับชาติมาเกิด' หรือ 'พุทธะที่ยังมีชีวิต' นี้ปกติรัฐบาลกลางจะดูแลและอนุมัติ แต่ก็ให้สิทธิพิเศษเฉพาะการเลือก ดาไล ลามะ กับ ปันเชน ลามะ ในการเลือกกันเอง

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ควรทราบก็คือ กิจการพุทธจักรและอาณาจักรของซีจั้งนั้นเต็มไปด้วยการแย่งชิงอำนาจ ทั้งการแย่งชิงระหว่างนิกายต่างๆ เช่น ในสมัยหยวน นิกายแดงชิงอำนาจกับนิกายดำอย่างรุนแรงถึงขนาดเป็นสงครามย่อยๆ ส่วนปลายสมัยราชวงศ์ชิงนิกายเหลืองถือโอกาสผูกขาดอำนาจ ทำการกวาดล้างนิกายอื่นๆ อย่างรุนแรงเช่นกัน 

แม้ในนิกายเหลืองเองก็ชิงอำนาจกัน และมีความขัดแย้งระหว่าง ดาไล ลามะ กับ ปันเชน ลามะ อยู่เนืองๆ ไม่รวมการชิงอำนาจระหว่างผู้สำเร็จราชการแทนตำแหน่งทั้งสอง และคนในครอบครัวของผู้ดำรงตำแหน่งทั้งสอง

นอกจากนี้ ยังมีการแรกแซงจากพวก 'เจ้ามองโกล' ซึ่งแต่เดิมปกครองทิเบตและเป็นผู้สถาปนาตำแหน่งดาไล ลามะขึ้นมา เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ชิงพวกเจ้ามองโกลเหล่านี้แม้จะสวามิภักดิ์กับราชวงศ์ชิง แต่ก็โอกาสจัดแจงกิจการในซีจั้งด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการเลือกเอาคนของตัวเองมาเป็น 'ทูลกูผู้กลับชาติมาเกิด' แม้แต่การยัดเยียดคนของตัวเองมาดำรงตำแหน่งดาไล ลามะ โดยไม่ผ่านกระบวนการสรรหา

ดังนั้น การคัดสรร 'ทูลกูผู้กลับชาติมาเกิด' หรือ 'พุทธะที่ยังมีชีวิต' จึงกลายเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ 

วิธีแก้ไขเบื้องต้น คือ ในปีที่ 5 ของรัชสมัยของจักรพรรดิหย่งเจิ้ง รัฐบาลชิงได้จัดตั้ง 'มหามนตรีประจำซีจั้ง' (驻藏大臣) อย่างเป็นทางการ มหามนตรีประจำซีจั้งไม่เพียงแต่บริหารกิจการของรัฐบาลซีจั้งโดยตรงเท่านั้น แต่ยังกำกับดูแลกิจการศาสนาที่สำคัญในซีจั้งโดยตรงอีกด้วย โดยเฉพาะการระบุการกลับชาติมาเกิดของทูลกูต้องรายงานให้มหามนตรีประจำซีจั้งทราบด้วย แล้วมหามนตรีประจำซีจั้งจะต้องกราบทูลให้จักรพรรดิชิงที่กรุงปักกิ่งทรงอนุมัติ 

แต่ยังเหลือขั้นตอนหนึ่งเป็นช่องโหว่ เพราะในกระบวนการเลือก 'ทูลกูผู้กลับชาติมาเกิด' หรือ 'พุทธะที่ยังมีชีวิต'  จะต้องใช้การเข้าทรงตามหลักลัทธิหมอผีโบราณ หรือการทำ 'ชุยชง' (吹冲) ปรากฏว่าพวกชนชั้นสูงมองโกลมักจะติดสินบนคนทรงชุยชง ให้ทำนายว่าผู้ดำรงตำแหน่งดาไล ลามะ หรือลามะชั้นสูงใดๆ ก็ตาม เป็นพวกชนชั้นสูงมองโกล ดังนั้น พวกมองโกลจึงสามารถควบคุมการเมืองและการศาสนาในซีจั้งได้ 

ดังนั้น ต่อให้มหามนตรีประจำซีจั้งจะเป็นผู้กราบทูลจักรพรรดิชิงในขั้นตอนสุดท้าย แต่ก่อนจะถึงขั้นนั้นก็ต้องผ่านการทำนายของชุยชงเสียก่อน และแน่นอนว่าชุยชงที่รับสินบนจะต้องบอกกับมหามนตรีซีจั้งว่าผู้ที่เป็นดาไล ลามะ องค์ต่อไป คือ 'เด็กเส้น' ของใครคนใดคนหนึ่ง

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในปีที่  45 ของรัชกาลเฉียนหลง (ค.ศ. 1780) ปันเชน ลามะ หรือ 'ปันเชน เออร์เดนี' องค์ที่ 6 ที่อยู่ระหว่างไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิเฉียนหลงที่พระราชวังฤดูร้อนเฉิงเต๋อและที่กรุงปักกิ่งได้มรณภาพที่วัดเหลืองที่ปักกิ่ง หลังจากนั้น จงปา ฮูถูเค่อถู (仲巴呼图克图) พี่น้องของปันเชน ลามะองค์ที่ 6 ครอบครองมรดกจำนวนมาก ทำให้องค์ชามาร์ปา ที่ 10 (第十世夏瑪巴·卻朱嘉措) ลามะชั้นสูงนิกายกาจือ ไม่สามารถแบ่งผลประโยชน์ได้จึงเกิดความบาดหมางอย่างรุนแรงชึ้น

ในปีที่ 49 ของรัชสมัยเฉียนหลง องค์ชามาร์ปาที่ 10 หนีไปยังดินแดนกูรข่าของเนปาล แล้วชักนำเอากองทัพเนปาลมารุกรานซีจั้ง เข้าปล้นวัดทาชิลุนโปและเมืองชิกาเชที่ประทับขององค์ปันเชน ลามะ ทำให้จักรพรรดิเฉียนหลงส่งขุนศึก ฝูคังอัน (福康安) พร้อมนำกองทัพมาปราบและรุกรานไปถึงเนปาลจนเนปาลยอมศิโรราบของส่งเครื่องบรรณาการให้ราชสำนักชิงทุก 5 ปี ส่วนตำแหน่งองค์ชามาร์ปาถูกยกเลิกไป โทษฐานที่เป็นผู้ทรยศต่อบ้านเมือง นี่แสดงถึงอำนาจของราชสำนักต่อการให้มีหรือยกเลิกตำแหน่งทรุลกูได้เสมอ

หลังกรณีนี้ ฝูคังอัน ถือโอกาสจัดระเบียบความวุ่นวายทั้งพุทธจักรและอาณาจักรในซีจั้ง โดยรับบัญชาจากจักรพรรดิเฉียนหลง ซึ่งทรงมีพระบรมราชโองการที่ชื่อ 'พระราชกฤษฎีสถาปนาระเบียบหลังสงครามในซีจั้ง' 《钦定藏内善后章程》ในปีที่ 58 ของรัชกาลเฉียนหลง เพื่อควบคุมกิจการต่างๆ ของชาวซีจั้ง โดยกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการศาสนา กิจการต่างประเทศ กิจการทหาร การบริหาร และกระบวนยุติธรรมของซีจั้ง  มาตราแรกของระเบียบดังกล่าวได้กำหนดว่าต้องใช้ 'ระบบการจับสลากจากแจกันทองคำ' (金瓶掣籤) ในการระบุการกลับชาติมาเกิดของ 'พุทธะที่ยังมีชีวิต' หรือทูลกูท่านต่างๆ รวมถึงดาไล ลามะ และปันเชน ลามะ

ใน 'พระราชกฤษฎีสถาปนาระเบียบหลังสงครามในซีจั้ง' ระบุวิธีการคัดเลือก 'พุทธะที่ยังมีชีวิต' รวมถึงดาไล ลามะ ด้วยระบบแจกันทองคำไว้ดังนี้ 

"ข้อที่ 1 ในเรื่องของการค้นหาพระพุทธะที่ยังมีชีวิตอยู่และดวงวิญญาณขององค์ฮูถูเค่อถู (呼图克图 หมายถึงลามะที่มีตำแหน่งรองดาไล ลามะ และปันเชน ลามะ) ที่ไปสถิตในเด็กชาย ตามธรรมเนียมทิเบตโบราณ วิญญาณฮูถูเค่อถูในเด็กจะต้องได้รับการยืนยันจากธรรมบาลทั้งสี่ ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติที่ผิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้นิกายเหลืองเจริญรุ่งเรือง จักรพรรดิจึงมอบแจกันทองคำเป็นพิเศษ ในอนาคต เมื่อพบดวงวิญญาณเด็กที่กลับชาติมาเกิด ธรรมบาลทั้งสี่จะได้รับเชิญให้เขียนชื่อและวันเกิดของดวงวิญญาณเด็กบนป้ายเป็นภาษาแมนจู จีน และซีจั้ง แล้วใส่ลงในแจกัน (หากเป็น) พระพุทธะที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งมีความรู้แท้จริงก็จะถูกเลือก และสวดภาวนาเป็นเวลาเจ็ดวัน จากนั้น องค์ฮูถูเค่อถูและมหามนตรีที่ประจำการในทิเบตจะยืนยันอย่างเป็นทางการต่อหน้าพระพุทธรูปพระศากยมุนีพุทธเจ้าในวัดโจคัง (อันถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในซีจั้ง) หากพบวิญญาณเด็กเพียงคนเดียว จนไม่สามารถรับรองได้โดยตรง ต้องใส่ป้ายที่มีชื่อวิญญาณเด็กและป้ายที่ไม่มีชื่อลงในแจกัน หากหยิบป้ายที่ไม่มีชื่อ จะถือว่าไม่สามารถระบุตัวตนของเด็กได้และต้องไปหาเด็กอีกคนหนึ่ง องค์ดาไล ลามะ และ ปันเชน เออร์เดนี จำเป็นต้องเขียนชื่อของตนเป็นภาษาแมนจู จีน และซีจั้งบนป้ายเช่นกันเมื่อระบุวิญญาณเด็ก ทั้งหมดนี้ทำโดยจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของนิกายเหลืองและเพื่อป้องกันไม่ให้ธรรมบาลทำการฉ้อโกง แจทองคำนี้ควรถูกวางไว้ด้านหน้ารูปปั้นของท่านจงคาปา (ประมุขผู้ก่อตั้งนิกายเหลือง) ต้องรักษาความสะอาดและถวายเครื่องบูชา"

นี่คือกระบวนการการเลือกดาไล ลามะ ด้วยแจกันทองคำนับแต่นั้น 

'แจกันทองคำ' มีสององค์ องค์หนึ่งวางไว้ที่วัดยงเหอกงในกรุงปักกิ่งและใช้ในการจับฉลากสำหรับการกลับชาติมาเกิดขององค์ฮูถูเค่อประมุขสงฆ์ลามะในมองโกเลีย อีกองค์หนึ่งวางไว้ที่พระราชวังโปตาลาในลาซาและใช้ในการจับฉลากสำหรับการกลับชาติมาเกิดของ 'พุทธะที่ยังมีชีวิต' ในซีจั้ง ชิงไห่ และสถานที่อื่นๆ โดย ดาไล ลามะ องค์แรกที่ใช้การจับฉลากแจกันทองคำ คือ ดาไล ลามะองค์ที่ 10 ส่วนปันเชน ลามะ องค์ที่ 8 เป็นท่านแรกที่ใช้วิธีการนี้ นับแต่นั้นถึงปัจจุบัน ในซีจั้งเพียงแห่งเดียว มี 'พุทธะที่ยังมีชีวิต' มากกว่า 70 องค์คัดเลือกผ่านระบบแจกันทองคำ ทั้งนิกายเกลุก นิกายกาจือ และนิกายญิงมา (นิกายที่เก่าแก่ที่สุด) 

แม้ต่อมาจีนจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง โค่นล้มราชวงศ์ชิงแล้วเปลี่ยนมาเป็นระบบสาธารณรัฐก็ยังสืบทอดระบบนี้แลใช้กับซีจั้งและดินแดนมองโกล โดยในปี 1936 คณะกรรมการกิจการมองโกลและทิเบตแห่งสาธารณรัฐจีนได้ประกาศใช้ "ระเบียบว่าด้วยการกลับชาติมาเกิดของพระลามะ" 

และหลังจากก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 ก็ยังใช้ระบบนี้ต่อไป แม้ว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จะเป็นแยกศาสนาออกจากรัฐ แต่กิจการนี้ถือเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธ์ และมีการการกำหนด "ระเบียบว่าด้วยการจัดการการกลับชาติมาเกิดของพุทธะที่ยังมีชีวิตแห่งพระพุทธศาสนานิกายทิเบต" ซึ่งยังใช้ระบบแจกันทองคำเช่นเดิม

แต่เนื่องจากความผันผวนทางการเมืองของจีนในช่วงศวรรษที่ 19 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 ทำให้ซีจั้งหรือทิเบตพยายามแยกตัวเป็นเอกราช และทำให้ดาไล ลามะ องค์ที่ 13 และองค์ที่ 14 ไม่ได้ผ่านการกระบวนการจับสลากด้วยแจกันทองคำ อีกทั้งดาไล ลามะองค์ที่ 14 ยังลี้ไปพำนักยังต่างแดน เหลือแต่องค์ปันเชน ลามะ องค์ที่ 10 ยังอยู่ในซีจั้ง และเมื่อปันเชน ลามะ องค์ที่ 10 มรณภาพแล้ว ทางการจีนก็ใช้วิธีการเสาะหาเด็กที่เป็นผู้กลับชาติมาเกิดเพื่อรับรองเป็นปันเชน ลามะ องค์ที่ 11

อย่างไรก็ตาม ก็เพราะความซับซ้อนทางการเมืองทั้งในและนอกซีจั้งอีกนั่นเอง ที่ทำให้กระบวนการเลือกและรับรองปันเชน ลามะ องค์ที่ 11 มีปัญหาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือฝ่าย 'ทิเบตนอก' ไม่ยอมรับว่า ปันเชน ลามะ องค์ที่ 11 ที่ผ่านกระบวนการเลือกสรรที่นำโดยทางการจีนนั้นเป็น 'ตัวจริง' แต่ทางการจีนยืนยันว่านี่คือองค์จริงผ่านกระบวนการจับสลากแจกันทองคำ

กรณีนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นเพราะการต่อต้านรัฐบาลจีนโดย 'ทิเบตนอก' ที่นำโดยองค์ดาไล ลามะ ที่ 14

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

หมายเหตุภาพ - แจกันทองคำด้านขวาอยู่ที่วัดโจคัง ส่วนด้านซ้ายอยู่ที่วัดยงเหอกง

TAGS: #ซีจั้ง #ทิเบต #ดาไลลามะ #แจกันทองคำ