ยุคทองของการตามล่าเอเลี่ยน จากศาสตร์นอกสายตาสู่ความนิยมครั้งใหม่

ยุคทองของการตามล่าเอเลี่ยน จากศาสตร์นอกสายตาสู่ความนิยมครั้งใหม่

กล้องโทรทรรศน์กรีนแบงก์ซึ่งซ่อนตัวอยู่ระหว่างภูเขาในมุมที่เงียบสงบแห่งหนึ่งในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐฯ ทุกค่ำคืนมันได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งเพื่อเริ่มเฝ้าจับตาประจำยามราตรี เพื่อสอดส่องจักรวาลในปฏิบัติการค้นหาความลับ

หากมีสิ่งมีชีวิตอัจฉริยะอยู่นอกโลก มีโอกาสสูงที่ทีมที่วิเคราะห์ข้อมูลจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ จะเป็นทีมแรกที่ได้รู้

สตีฟ ครอฟต์ นักวิทยาศาสตร์โครงการ Breakthrough Listen กล่าวว่า "ผู้คนต่างถามตัวเองว่า 'เราอยู่เพียงลำพังในจักรวาลหรือไม่' นับตั้งแต่พวกเขามองขึ้นไปบนท้องฟ้าในยามค่ำคืนและสงสัยว่ามีโลกอื่นอยู่นอกนั้นหรือไม่"

ในทศวรรษที่ผ่านมา ความพยายามทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวล้ำนี้ได้ร่วมมือกับไซต์บุกเบิกที่ได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1950 เพื่อค้นหา "ลายเซ็นทางเทคโนโลยี" (technosignatures) ซึ่งหมายถึงร่องรอยของเทคโนโลยีที่มีต้นกำเนิดไกลเกินระบบสุริยะของเรา

การค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาจากนอกโลกหรือที่เรียกว่า "SETI" นั้นถูกมองข้ามมานานในฐานะเป็นสาขาของพวกนอกรีตนอกรอยของวงการวิทยาศาสตร์ และถูกตัดเงินทุนจากรัฐบาลกลางเมื่อสามสิบปีก่อนโดยรัฐสภา

แต่ในปัจจุบัน สาขานี้กำลังได้รับการฟื้นฟูและมีผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากความก้าวหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) รวมถึงการค้นพบใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าดวงดาวเกือบทุกดวงบนท้องฟ้ายามค่ำคืนมีดาวเคราะห์อยู่ ซึ่งหลายดวงมีลักษณะคล้ายโลก

"สำหรับผมแล้ว รู้สึกเหมือนว่านี่เป็นยุคทอง" ครอฟต์ นักดาราศาสตร์วิทยุที่ผ่านการฝึกอบรมจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าว เขาเริ่มต้นอาชีพด้วยการศึกษาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ตั้งแต่หลุมดำมวลมหาศาลไปจนถึงการปล่อยดาวฤกษ์ที่ระเบิด

ET กำลังติดต่อมาหรือไม่ 
เรื่องราวของ "เขตสงัดสัญญาณวิทยุแห่งชาติ" (National Radio Quiet Zone) ย้อนกลับไปในปี 2501 เมื่อรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ กำหนดพื้นที่แห่งหนึ่งในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียเพื่อช่วยให้นักดาราศาสตร์ปกป้องอุปกรณ์ที่อ่อนไหวของพวกเขาจากสัญญาณรบกวน

นั่นหมายความว่าไม่มีสัญญาณวิทยุ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และสัญญาณ WiFi สำหรับชุมชนโดยรอบมีจำกัด แม้แต่ยานพาหนะที่ใช้ขนส่งพนักงานไปและกลับจากกล้องโทรทรรศน์ก็ต้องใช้น้ำมันดีเซล เนื่องจากหัวเทียนของรถที่ใช้น้ำมันจะก่อให้เกิดการรบกวนทางไฟฟ้า

“ผมคิดว่าชุมชนมีความภาคภูมิใจที่มีสิ่งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ชั้นนำอยู่ที่นี่” พอล วอสทีน ซึ่งทำงานที่หอดูดาวแห่งนี้มาเป็นเวลาแปดปีกล่าว

วอสทีนยืนอยู่บนแท่นที่สูงที่สุดของจานรับส่งสัญญาณขนาดยักษ์สูง 100 เมตร โดยชี้ไปที่เทือกเขาอัลเลเกนี ซึ่งทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้นสัญญาณวิทยุตามธรรมชาติในหุบเขาที่มีรูปร่างคล้ายชามแห่งนี้

ดาราศาสตร์วิทยุ ( Radio astronomy) เริ่มต้นขึ้นโดยบังเอิญเมื่อคาร์ล แจนสกี นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันค้นพบคลื่นวิทยุที่มาจากศูนย์กลางของกาแล็กซีของเรา ซึ่งก็คือทางช้างเผือก ในปี 1933

นับแต่นั้นมา ดาราศาสตร์วิทยุก็ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถมองทะลุดาวเคราะห์ ดวงดาว และฝุ่นที่มองเห็นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์แบบออปติกได้

ดาราศาสตร์วิทยุเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนามากมาย ตั้งแต่การค้นพบพัลซาร์ (Pulsar) ไปจนถึงการสังเกตการณ์ไฮโดรเจนของอะตอมที่ละเอียดอ่อน ซึ่งให้แสงสว่างใหม่เกี่ยวกับการก่อตัวของกาแล็กซี และล่าสุดคือการตรวจจับการระเบิดของคลื่นวิทยุอย่างรวดเร็ว 

นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมายาวนานว่าหากมีอารยธรรมนอกโลกอื่นๆ อยู่จริง อารยธรรมเหล่านั้นอาจปล่อยคลื่นวิทยุออกมา เช่นเดียวกับอารยธรรมของเราตั้งแต่เริ่มมีการสื่อสารทางวิทยุในศตวรรษที่ 19

ในนวนิยายเรื่อง "Contact" ของคาร์ล เซแกน มนุษย์ได้รับการแจ้งเตือนถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตนอกโลกเป็นครั้งแรกจากการส่งสัญญาณซ้ำของคำปราศรัยเปิดงานของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1936 ซึ่งเป็นสัญญาณโทรทัศน์แรกที่แรงพอที่จะหลุดพ้นจากชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ของโลกออกไปยังอวกาศ

กรอบการทำงานสำหรับการประมาณการจำนวนอารยธรรมที่ตรวจจับได้ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วกาแล็กซีพบได้ใน "สมการเดรก" (Drake Equation) ซึ่งคิดค้นโดยแฟรงก์ เดรก นักดาราศาสตร์ในตำนาน ปัจจุบัน สมการเดรกเป็นหนึ่งในสูตรที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในทางวิทยาศาสตร์ และยังเป็นที่นิยมใช้เป็นลายสักเรือนร่าง และลายพิมพ์เสื้อยืดในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบมนุษย์ต่างดาวอีกด้วย

'โอกาสพบเอเลี่ยนกำลังดีขึ้น' 
ในแต่ละปี เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ ทีมงาน Breakthrough Listen จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ จะเดินทางไปยังกล้องโทรทรรศน์ในช่วงระยะเวลาการบำรุงรักษารางของโครงสร้างที่มีน้ำหนักมากถึง 17 ล้านปอนด์

"เป็นช่วงเวลาพักผ่อน ทุกครั้งที่ผมมาที่นี่ ผมจะรู้สึกดีที่ได้อยู่ในเขตสงัดสัญญาณวิทยุแห่งชาติ เพราะไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีโทรทัศน์ เป็นสภาพแวดล้อมที่เน้นสมาธิ" แมตต์ เลบอฟสกี้ หัวหน้าผู้ดูแลระบบกล่าว

"บางครั้ง เราต้องลงมือทำบางอย่างด้วยตัวเองเพื่อทำความเข้าใจว่าเซิร์ฟเวอร์ของเราทำงานอย่างไร"

ภายในห้องเซิร์ฟเวอร์ เสียงฮาร์ดไดรฟ์ 6,000 ตัวที่เก็บข้อมูล 40 เพตาไบต์ ซึ่งเทียบเท่ากับแล็ปท็อป 40,000 เครื่อง ทำให้เราไม่สามารถพูดเลยถ้าไม่ตะโกน

"โดยพื้นฐานแล้ว เรากำลังมองหา 'สิ่งแปลกๆ' ในข้อมูล" ครอฟต์อธิบาย ซึ่งบางอย่างอาจบ่งบอกว่าสิ่งมีชีวิตอาจกำลังพยายามเข้าถึง หรืออาจเป็นเพราะนักวิทยาศาสตร์กำลังรับสัญญาณที่ส่งมาโดยไม่ได้ตั้งใจ

มีช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้นที่เพิ่มมากขึ้นในชุมชน SETI รวมถึงการตรวจพบสัญญาณที่เรียกว่า "ว้าว!" จากกลุ่มดาวคนยิงธนูในปี 1977 ซึ่งตอนนี้กฌยังคงไม่มีคำอธิบายว่ามันคืออะไรกันแน่

ล่าสุด ในปี 2020 ทีมได้ระบุสัญญาณ Breakthrough Listen Candidate 1 จากระบบดาวที่อยู่ใกล้ที่สุดคือดาวพร็อกซิมา เซนทอรี (Proxima Centauri) แต่หลังจากวิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว สรุปว่าเป็นสัญญาณรบกวนจากมนุษย์

“แต่มันไม่ได้ทำให้ใจเราฝ่อลงเลย” เลบอฟสกี้ยืนกราน ตรงกันข้าม เขากลับมองโลกในแง่ดีมากกว่าเดิม เนื่องจากมีข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ถูกรวบรวมและประมวลผลในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับช่วงแรกๆ “ผมรู้สึกว่าโอกาสต่างๆ กำลังเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณทุกปี”

Story by Agence France-Presse

Photo - (TOPSHOT) - เด็กๆ กำลังเล่นซอฟต์บอลในสนามของโรงเรียนใกล้กับกล้องโทรทรรศน์กรีนแบงก์ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบบังคับทิศทางได้ขนาด 100 เมตร โดยสามารถเห็นได้ที่หอสังเกตการณ์กรีนแบงก์ในเขตเงียบวิทยุแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2024 ในเมืองกรีนแบงก์ รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย (ภาพถ่ายโดย Brendan Smialowski / AFP)

TAGS: #มนุษย์ต่างดาว