วิกฤตที่โลกกำลังจ่ายแพง เมื่อพนักงานป่วยใจ องค์กรก็ป่วยตาม

วิกฤตที่โลกกำลังจ่ายแพง เมื่อพนักงานป่วยใจ องค์กรก็ป่วยตาม
อย่ามองข้ามใจคนทำงาน สุขภาพจิตคือทรัพย์สินองค์กร เมื่อสุขภาพจิตพัง กำไรก็พังตาม 12 พันล้านวันทำงานที่สูญเสีย กับคำถามใหญ่เรื่องสุขภาพจิตในองค์กร

เป็นที่รู้กันดีว่าการทำงานหนัก หรืออยู่ในที่ทำงานที่มีมลภาวะแย่ไม่ได้กระทบแค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่กระทบถึงสุขภาพจิตด้วยและทำท่าว่าจะกระทบหนักกว่าที่คิด ไม่เพียงแต่พนักงานที่เป็นแรงงานสำคัญของบริษัทที่เกิดผลเสีย แต่สุขภาพจิตที่ไม่ดีของพนักงานมีผลต่อองค์กรในด้านผลประโยชน์อีกด้วย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า ทั่วโลกจะเกิดวันทำงานที่สูญเสียไปประมาณ 12 พันล้านวันต่อปี หรือเท่ากับ 50 ล้านปีการทำงาน จากภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ไม่เพียงเท่านั้นปัญหาสุขภาพจิตส่งผลให้เศรษฐกิจโลกสูญเสียเงินประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ตัวเลข 12 พันล้านวันทำงานที่สูญเสียไป ต่อปี มาจากการรวมจำนวนวันที่พนักงานทั่วโลกไม่สามารถทำงานได้เนื่องจาก ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้ข้อมูลจากหลายประเทศแล้วนำมาคำนวณภาพรวมระดับโลก นั่นก็คือ ถ้าคน 1 คนลาป่วยจากความเครียดหรือซึมเศร้า 10 วัน แล้วมีคนแบบนี้ 1.2 พันล้านคน ทั่วโลกในปีนั้น วันทำงานที่สูญเสีย = 10 × 1.2 พันล้าน = 12 พันล้านวัน จึงนับเป็นการเสียโอกาสอย่างมหาศาล

ดังนั้นสถานที่ทำงานที่ดีต่อสุขภาพไม่เพียงส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังส่งเสริมความเป็นอยู่ทางอารมณ์ด้วย การให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับงานเป็นประโยชน์ทั้งต่อพนักงานและนายจ้างในระยะยาว หากนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ แนวโน้มของ “การลาออกครั้งใหญ่” และ “การลาออกเงียบ” ทำให้เราเริ่มให้ความสนใจไปยังความสำคัญของสุขภาพจิตในที่ทำงานจะเห็นได้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างงานและสุขภาวะทางจิตใจชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม 

เว็บไซต์ spill.chat รวบรวมสถิติและข้อมูลสุขภาพจิตในที่ทำงานที่สำคัญที่สุดไว้ ซึ่งครอบคลุมการวิเคราะห์ตามประเทศ ขนาดของบริษัท อุตสาหกรรม และตัวตนของพนักงาน โดยสถิติสุขภาพจิตในที่ทำงานที่สำคัญปี 2025 ผลกระทบของสุขภาพจิตที่ไม่ดีต่อบุคคล

  • ประมาณ 1 ใน 6 คน (14.7%) ประสบปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน
  • ตั้งแต่เกิดโรคระบาด 81% ของสถานที่ทำงานให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงานมากขึ้น
  • อย่างไรก็ตาม พนักงาน 1 ใน 3 ยังรู้สึกว่าการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตในที่ทำงานยังไม่เพียงพอ และอยากได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้จากนายจ้าง
  • เกือบครึ่งหนึ่ง (48%) ของพนักงานกล่าวว่าสุขภาพจิตของตนแย่ลงในปี 2022 และ 28% ระบุว่ารู้สึกทุกข์ทรมานกับการทำงาน และ 60% ของพนักงานรายงานว่ารู้สึกแยกตัวทางอารมณ์จากงาน
  • มีเพียง 13% เท่านั้นที่รู้สึกสบายใจในการพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตในที่ทำงาน
  • พนักงานที่มีความสุขมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นโดยเฉลี่ย 13%

ปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับงาน หรือเกิดจากงานนั้นมีมากกว่าที่เราคิด นอกจากเกิดจากการทำงานที่เราคาดหวังจากตัวเองแล้วนั้น ยังเกิดจากคนรอบข้างที่คาดหวัง หรือแม้กระทั่งบรรยากาศในที่ทำงานก็สามารถทำให้สุขภาพจิตเราป่วยได้ ยกตัวอย่างภาวะสุขภาพจิตที่มักเกิดในที่ทำงาน

ความวิตกกังวล (Anxiety)

ความผิดปกติด้านความวิตกกังวลพบได้บ่อย แสดงออกผ่านความกระวนกระวาย อ่อนล้า สมาธิสั้น และความกังวลเกินเหตุในระหว่างการทำงาน อาการเหล่านี้รบกวนความสามารถในการทำงานให้ดีที่สุด สาเหตุของความวิตกกังวลในการทำงานมีหลายประการ เช่น ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับเพื่อนร่วมงาน ผลการทำงานที่ไม่ดี หรือการต้องทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลา ความวิตกกังวลอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่ออาชีพ และอาจทำให้คุณปฏิเสธโอกาสในการก้าวหน้าได้

ภาวะซึมเศร้า (Depression)

งานใด ๆ ก็สามารถมีส่วนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการสนับสนุนที่มีอยู่ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะซึมเศร้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น ความไม่มั่นคงในงาน ขาดสมดุลระหว่างชีวิตและงาน สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ และการทำงานหนักเกินไป ภาวะซึมเศร้ายังส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจ การจัดการเวลา การทำงานที่ใช้แรง การเข้าสังคม และการสื่อสาร การวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าอย่างรวดเร็วมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาให้มีประสิทธิภาพ

ภาวะหมดไฟ (Burnout)

สภาวะที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมการทำงานที่กดดันเกินไป อาการที่พบได้บ่อยคือ ความเหนื่อยล้าอย่างต่อเนื่องทางร่างกายและจิตใจ รู้สึกหมดพลัง ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน มองงานและคนรอบข้างในแง่ลบ และรู้สึกว่าตนเองไม่มีประสิทธิภาพหรือคุณค่า สาเหตุมักมาจากภาระงานที่หนักเกินไป ขาดอิสระในการตัดสินใจ ไม่มีความชัดเจนในหน้าที่ ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดในที่ทำงาน หรือไม่ได้รับการยอมรับในผลงาน เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังทำให้ร่างกายอ่อนแอ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร และเกิดความสัมพันธ์ที่แย่ลงกับคนรอบข้าง

Workplace Trauma (บาดแผลทางใจจากที่ทำงาน)

อาจเกิดขึ้นทันทีหรือค่อยๆ สะสมจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว เช่น การถูกกลั่นแกล้งทางวาจาหรือจิตใจ ถูกเพิกเฉย ถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง หรือเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงในที่ทำงาน เช่น การล่วงละเมิดทางเพศหรือความรุนแรง อาการที่พบบ่อยจาก Workplace Trauma ได้แก่ ความวิตกกังวลอย่างรุนแรง นอนไม่หลับ ฝันร้าย ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่อยากไปทำงาน หรือมีอาการคล้าย PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) แม้ว่าจะไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุใหญ่ก็ตาม ความรู้สึกหวาดกลัว ตื่นตัวตลอดเวลา หรือรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ล้วนเป็นสัญญาณที่ไม่ควรมองข้าม

Low Self-Esteem (ภาวะความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ)

การที่บุคคลรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไร้ความสามารถ หรือไม่สมควรได้รับความสำเร็จ ความรัก หรือการยอมรับจากผู้อื่น คนที่มีภาวะนี้มักจะวิจารณ์ตนเองอย่างรุนแรง เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นตลอดเวลา และมองข้ามจุดแข็งหรือความสำเร็จของตนเองอยู่เสมอ ในที่ทำงาน ภาวะนี้อาจแสดงออกผ่านพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงการแสดงความเห็น กลัวความล้มเหลว ไม่กล้ารับโอกาสใหม่ หรือยอมรับคำวิจารณ์ทุกอย่างโดยไม่กล้าปกป้องตนเอง เมื่อปล่อยไว้โดยไม่แก้ไข อาจนำไปสู่ความเครียด ความวิตกกังวล และความพึงพอใจในชีวิตที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดภาวะทางจิตใจเกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น การขาดภาวะผู้นำที่ดี หรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้างาน ภาระงานที่จัดการไม่ได้ และขาดสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว ขาดความอิสระหรือการควบคุมในงานของตนเอง ขาดการยอมรับหรือรางวัลที่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมองค์กรหรือทีมที่เป็นพิษ

สัญญาณที่ควรระวัง

  • หงุดหงิดหรืออารมณ์แปรปรวนบ่อย
  • นอนหลับยาก หรือมีปัญหาในการจดจ่อ
  • รู้สึกหมดแรงทางอารมณ์หรือแยกตัว
  • ขาดแรงจูงใจหรือความสนใจในงาน
  • มีอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัว หรืออ่อนเพลีย

แนวทางที่ช่วยเหลือได้ คือ การสนับสนุนให้มีการพูดคุยเปิดเผยเกี่ยวกับสุขภาพจิต ตั้งขอบเขตที่ชัดเจนและเคารพเวลาในชีวิตส่วนตัว ให้การเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาหรือโครงการช่วยเหลือพนักงาน สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้การสนับสนุนและเปิดกว้างรวมทั้งฝึกอบรมผู้จัดการให้สามารถสังเกตและรับมือกับสัญญาณของความทุกข์ทางจิตใจ

อ้างอิง 1 2 3

TAGS: #Health #MentalHealth #วันแรงงาน