ปีทองของคอนเทนต์ไทย! จากจอเงินสู่เวทีโลก ความสำเร็จที่ต้องจับตา

ปีทองของคอนเทนต์ไทย! จากจอเงินสู่เวทีโลก ความสำเร็จที่ต้องจับตา
รีแคปปี 68 ยุคทองของคอนเทนต์ไทย จุดประกายความสำเร็จระดับสากล พร้อมเปิดแนวทางผลักดันศักยภาพนักสร้างสรรค์ให้เติบโตพร้อมรับเทรนด์โลก

ปี 2567 ถือเป็นปีทองของวงการคอนเทนต์ไทย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือแอนิเมชัน ต่างสามารถสร้างกระแสความนิยมและดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้อย่างมาก ความสำเร็จของคอนเทนต์ไทยในปีนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของตัวเลขรายได้ แต่ยังสะท้อนถึงคุณภาพและความหลากหลายที่ตอบโจทย์ผู้ชมทุกกลุ่ม การเติบโตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยไม่ได้จำกัดอยู่แค่แนวสยองขวัญ ซึ่งเป็นที่นิยมมาโดยตลอด แต่ยังขยายไปสู่แนวอื่น ๆ อย่างคอมเมดี้ ดราม่า และแอ็กชัน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีไม่แพ้กัน

คอนเทนต์ไทยไม่ได้รับความนิยมเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถก้าวไปสู่เวทีระดับโลกและสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ หลายผลงานได้รับการยอมรับในเทศกาลและเวทีรางวัลระดับสากล ตัวอย่างเช่น แอนิเมชันเรื่อง องครักษ์พิทักษ์เจี๊ยบ ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 12 ภาพยนตร์แอนิเมชันของ Annecy Selectionsในหมวด Annecy Presents จากเทศกาล Annecy International Animation Film Festival 2024 ทางด้านซีรีส์ เรื่อง DELETE สามารถคว้ารางวัลจากงาน 29th Asian Television Awards (ATA) ได้ถึงสองรางวัล ขณะที่ สืบสันดาน กลายเป็นซีรีส์ไทยเรื่องแรกที่ติดอันดับ 1 บน Netflix Global Top 10 ในหมวดซีรีส์ภาษาต่างประเทศ นอกจากนี้ ภาพยนตร์ไทยยังทำรายได้รวมภายในประเทศกว่า 2,438 ล้านบาท 

โดยมีผลงานโดดเด่นที่ช่วยสร้างสีสันให้กับวงการ เช่น ธี่หยด 2, วิมานหนาม, อนงค์, วัยหนุ่ม 2544 และ หลานม่า ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ กวาดรางวัลจากหลายเวทีทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นรางวัล Best Leading Actor (บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล), Best Picture และ Best Original Screenplay จาก The 61st Asia Pacific Film Festival, รางวัล Audience Award จากเทศกาลภาพยนตร์ New York Asian Film Festival 2024, รางวัล Honorable Mention ในสาขา Best Picture และ Best Performance in a Leading Role จากงาน Gold List Film 2025 ของสถาบัน Gold House, ได้รับการโหวตจากผู้ชมให้เป็นหนึ่งใน Best of Fest: Audience Favorites ของ 2025 Palm Springs International Film Festival และยังติดอันดับ 1 ในหมวดภาพยนตร์เอเชีย รวมถึงอันดับ 3 ในภาพยนตร์ที่ได้รับคะแนนสูงสุดจาก Letterboxd’s 2024 Year in Review

ความสำเร็จทั้งในด้านรางวัล รายได้ และกระแสตอบรับจากผู้ชมทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบุคลากรไทยในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ การนำเสนอที่หลากหลายสามารถขยายฐานผู้ชมไปยังต่างประเทศได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ คอนเทนต์ไทยยังช่วยกระตุ้นการบริโภคสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว อาหาร และแฟชั่น ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบเชิงบวกจากกระแสความนิยมของคอนเทนต์ไทย

แม้ว่าคอนเทนต์ไทยจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ในปี 2568 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออุตสาหกรรมนี้รวมถึงเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาทักษะของบุคลากร เงินทุน และการแข่งขันกับคอนเทนต์ทั้งในประเทศและระดับโลก โดยเฉพาะเทรนด์ของแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมการรับชม แม้ว่ารูปแบบการบริโภคคอนเทนต์จะเปลี่ยนแปลงไป เช่น จากทีวีสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ หรือจากเนื้อหาที่ยาวไปสู่คอนเทนต์แบบสั้นบนโซเชียลมีเดีย แต่ความต้องการบริโภคคอนเทนต์ยังคงมีอยู่เสมอ ผู้ชมยังคงมองหาผลงานที่สามารถตอบโจทย์ทั้งความบันเทิงและคุณค่าทางอารมณ์หรือความรู้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพยังคงเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมและเป็นปัจจัยหลักในการแข่งขัน ความท้าทายเหล่านี้ยังผลักดันให้เหล่านักสร้างสรรค์ไทยได้พัฒนาฝีมือและผลิตผลงานที่สามารถแข่งขันในระดับสากลได้

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “การเติบโตและการแข่งขันของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งให้กับวงการบันเทิง แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศอีกด้วย ทาง CEA มุ่งมั่นที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างเครือข่ายบุคลากร ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงพัฒนาทักษะของผู้ผลิตคอนเทนต์ ผ่านโครงการ Content Lab 2025 ที่เปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์ได้เข้าร่วมเพื่อร่วมกันผลักดันคอนเทนต์ไทยสู่เวทีโลก”

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Content Lab 2025 ได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Content Lab และกิจกรรมอื่น ๆ ของ CEA ได้ที่เว็บไซต์ www.cea.or.th

TAGS: #Content #คอนเทนท์ #หลานม่า