รัฐบาลอินเดียกำลังดำเนินการโจมตีทางการทหารเต็มรูปแบบต่อกลุ่มกบฏเหมาอิสต์ก่อความไม่สงบมานานลายสิบปีแม้ว่าจะมีลดจำนวนลงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังกำราบกลุ่มนี้ไม่สำเร็จ ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อมิต ชาห์ ให้คำมั่นว่าจะ "กำจัด" กลุ่มที่หลงเหลืออยู่ของขบวนการนี้ให้หมดสิ้นภายในต้นปีหน้า
สำนักข่าว AFP ได้ทำการตรวจสอบประวัติศาสตร์ของการก่อกบฏด้วยอาวุธ 'กบฏเหมาอิสต์' (Maoist insurgents) ที่ดำเนินมายาวนานที่สุดครั้งหนึ่งของเอเชีย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 12,000 รายนับตั้งแต่เริ่มต้นในทศวรรษ 1960:
การก่อกบฏเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร?
การก่อกบฏเริ่มต้นในเขตชนบทเมื่อปี 1967 เพื่อต่อต้านเจ้าของที่ดินที่เอารัดเอาเปรียบ จนกลายเป็นการจุดชนวนให้เกิดการก่อกบฏที่ยังคงดำเนินต่อไปตลอดประวัติศาสตร์ของอินเดียนับตั้งแต่ได้รับเอกราช
ชาวนาซึ่งถือหอกและธนูได้เริ่มยึดครองที่ดินในนาซัลบารี หมู่บ้านเล็กๆ ที่สวยงามบนเชิงเขาหิมาลัยด้วยแรงบันดาลใจจากหลักคำสอนของลัทธิเหมา อันเป็นแนวทางการเมืองที่ได้รับแรงบันกาลใจมากจา เหมาเจ๋อตง ผู้นำคอมมิวนิสต์จีน
การลุกฮือที่จัดอย่างไม่ดีถูกปราบปรามอย่างรวดเร็ว แต่ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ระดมพลและเรียกร้องการจัดสรรที่ดินใหม่ และยังได้ตั้งชื่อกองกำลังกองโจรที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งในอินเดียเรียกว่า นาซาไลต์ (Naxalites)
ในช่วงทศวรรษ 1980 กลุ่มหนึ่งได้ย้ายเข้าไปในพื้นที่ป่าในอินเดียตอนกลาง หลังจากตัดสินใจที่จะขยายการต่อสู้ให้รวมถึงการโจมตีตำรวจและกองกำลังกึ่งทหาร
ป่าดงดิบของเขตบาสตาร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวใจสำคัญของการก่อความไม่สงบในรัฐฉัตตีสครห์ กลายเป็นที่หลบซ่อนและจุดพักรบสำหรับปฏิบัติการกองโจรในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ
กลุ่มเหมาอิสต์ได้รับการสนับสนุนจากชาวเผ่าในพื้นที่โดยช่วยทำการรบและเคลื่อนไหวด้านต่างๆ เพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่เหมาะสมและราคาที่ดีกว่าสำหรับผลผลิตจากป่า
กลุ่มเหมาอิสต์มีอำนาจมากเพียงใดในช่วงรุ่งเรือง?
กลุ่มเหมาอิสต์อินเดียหรือขบวนการนาซาไลต์มีแรงผลักดันอย่างมากในปี 2004 เมื่อกลุ่มสองกลุ่มที่แยกจากกันรวมพลังกันจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินเดีย (หรือพรรคเหมาอิสต์)
ตามเอกสารของพรรคในสมัยนั้น ระบุว่าเป้าหมายของกลุ่มคือการจัดตั้ง "รัฐบาลของประชาชน" โดย "ทำลายกลไกรัฐเผด็จการในปัจจุบันด้วยสงคราม"
เมื่อถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2000 กบฏมีกำลังพลประมาณ 15,000 ถึง 20,000 นาย และปฏิบัติการในเขตที่เทียบเท่ากับเกือบหนึ่งในสามของพื้นที่แผ่นดินอินเดีย
ในพื้นที่กว้างใหญ่ของดินแดนนี้ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "ระเบียงแดง" (Red Corridor) กองโจรทำการปิดกั้นการเข้าถึงรัฐบาลทางการ และพวกเขาได้สร้างรัฐบาลคู่ขนานที่ปกครองด้วยตนเองขึ้นมา
เป็นที่รู้กันว่ากลุ่มกบฏเหมาอิสต์สามารถควบคุมพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างแน่นหนา และมักจะประหารชีวิตบุคคลเพียงเพราะสงสัยว่าเป็นสายลับให้กับกองกำลังรัฐบาล
ในช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มเหมาอิสต์ยังโจมตีกองกำลังของรัฐอินเดียอย่างรุนแรงอีกด้วย
การซุ่มโจมตีในป่าในรัฐฉัตตีสครห์เมื่อปี 2010 ทำให้กองกำลังกึ่งทหารเสียชีวิต 76 นาย ซึ่งถือเป็นการโจมตีกองกำลังความมั่นคงของอินเดียที่ร้ายแรงที่สุดโดยกลุ่มกบฏ
นอกจากนี้ ยังมีการโจมตีขบวนรถการเมืองในอีก 3 ปีต่อมาทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย และการโจมตีครั้งนั้นยังเป็นกวาดล้างผู้นำระดับสูงของพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดีย จนหมดสิ้นไปจากรัฐนั้น
กบฏอยู่ในสถานะอย่างไรในปัจจุบัน?
อดีตนายกรัฐมนตรีมันโมฮัน ซิงห์ กล่าวระหว่างดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2009 ว่ากลุ่มกบฏเหมาอิสต์เป็น "ภัยคุกคามต่อความมั่นคงภายในที่ยิ่งใหญ่ที่สุด" ที่อินเดียต้องเผชิญ
รัฐบาลของเขาได้ปรับปรุงกลยุทธ์ในการส่งกองกำลังกึ่งทหารจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ที่มีกลุ่มเหมาอิสต์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
กลุ่มสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวหลายคนวิพากษ์วิจารณ์แนวทางดังกล่าว โดยอ้างถึงการเสียชีวิตจำนวนมากของชุมชนชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในป่าซึ่งติดอยู่ระหว่างกองกำลังและกลุ่มกบฏ
รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ยังคงดำเนินการปราบปรามกลุ่มกบฏอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้กลุ่มกบฏเหมาอิสต์มีจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก
ตำรวจในรัฐฉัตตีสครห์แจ้งต่อสำนักข่าว AFP ว่า ขณะนี้พวกเขาประเมินว่ากองกำลังกองโจรมีกำลังรบ 1,000 ถึง 1,200 นาย แต่เป็นตัวเลขที่ไม่สามารถตรวจสอบได้โดยเทียบกับสถิติของหน่วยงานอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม จากตัวชี้วัดอื่นๆ ก็บ่งชี้ว่ารัฐบาลมีอำนาจเหนือกว่า
จากตัวเลขที่แจ้งต่อรัฐสภาอินเดียในเดือนมีนาคมระบุว่า จำนวนรวมของพลเรือนและกองกำลังรักษาความปลอดภัยที่เสียชีวิตจากความขัดแย้งลดลง 85% ระหว่างปี 2553 ถึงปีที่แล้ว
ตามข้อมูลเดียวกัน จำนวนการโจมตีของกลุ่มเหมาอิสต์ในหนึ่งปีปฏิทินลดลงจากกว่า 1,900 ครั้งเหลือ 374 ครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว
กองกำลังรักษาความปลอดภัยสังหารกบฏไป 287 รายในปีที่แล้ว ตามตัวเลขของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2009
และมีผู้เสียชีวิตอีกกว่า 100 รายในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้
Agence France-Presse
Photo - ภาพถ่ายนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2025 เป็นภาพของ กิรัน อดีตผู้บัญชาการกองกำลังเหมาอิสต์ที่ผันตัวมาเป็นหน่วยคอมมานโดกองกำลังสำรองประจำเขต (DRG) กำลังให้สัมภาษณ์กับ AFP ในเมืองทันเตวาดะ ในเขตบัสตาร์ ของรัฐฉัตตีสครห์ของอินเดีย (ภาพโดย Jalees ANDRABI / AFP)