ชลน่านแนะ ลดความเสี่ยงมะเร็งด้วยการมีบุตร

ชลน่านแนะ ลดความเสี่ยงมะเร็งด้วยการมีบุตร
รัฐและภาคีเครือข่ายเร่งสานต่อนโยบายการป้องกัน การตรวจคัดกรอง และการรักษามะเร็งที่พบในผู้หญิง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้หญิงไทย เนื่องในเดือนตุลาคมเป็นเดือนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม

หากจะถามว่าสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยอันดับ 1 คืออะไร คำตอบคือ “มะเร็ง” ปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 รายต่อปี และมะเร็งเต้านม คือมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย ทั้งยังมีแนวโน้มอัตราเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ในขณะที่มะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับ 5 ในผู้หญิงไทย และมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงอย่างนั้น โรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกล้วนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของสตรีในประเทศไทย นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข

เนื่องในเดือนตุลาคมเป็นเดือนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ร่วมกับสถาบัน มะเร็งแห่งชาติ ได้จัดงานประชุมหารือนโยบายมะเร็งในสตรีและโอกาสของการดูแลมะเร็งในสตรีภายใต้หัวข้อ “Enhancing Women’s Cancer Care: Thailand Women Cancer Policy Forum”

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก รวมทั้งหารือแนวทางการส่งเสริมให้สตรีไทยสามารถเข้าถึงการป้องกัน การตรวจคัดกรอง และการรักษาโรคมะเร็งในสตรีได้ดีมากยิ่งขึ้น ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Global Breast Cancer Initiative ขององค์การอนามัยโลก 

โดยมีการตั้งเป้าที่จะลดอัตราการเสียชีวิตของมะเร็งเต้านมลง 2.5% ต่อปี ภายในปี 2040 และกลยุทธ์ทั่วโลกสำหรับการกำจัดมะเร็งปากมดลูกผ่านเป้าหมาย 3 ประการภายในปี 2030 คือ ฉีดวัคซีน HPV 90% การตรวจคัดกรอง 70% และการรักษา 90% 

งานดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการกล่าวเปิดงานโดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มาร่วมเป็นเกียรติในงาน 

จากรายงาน ผลกระทบและโอกาส: การลงทุนและการดำเนินการเร่งด่วนที่จำเป็น เพื่อลดอัตราการเกิดมะเร็งของผู้หญิงในเอเชียแปซิฟิก (Impact and opportunity: the case for investing in women’s cancers in Asia Pacific) ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในด้านการเฝ้าระวังและการป้องกัน 

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายในอีกหลาย ๆ ด้าน เช่น การเข้าถึงการตรวจคัดกรอง การรักษา และการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณในการดูแลมะเร็งในสตรี ซึ่งหากได้รับการแก้ไขจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสตรีและผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น และลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม

 ทั้งนี้ รายงานได้เสนอแนะ 5 โอกาสสำคัญดังต่อไปนี้เพื่อการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในการป้องกันมะเร็งในสตรีในประเทศไทย

1. การป้องกันโรคในระดับปฐมภูมิด้วยการดำเนินการโครงการเสริมภูมิคุ้มกันฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศและทุติยภูมิด้วยโครงการคัดกรองประชากรทั่วทั้งประเทศ (สําหรับมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม)

2. การจัดให้มีโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เป็นระบบให้กับประชากร และการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องแมมโมแกรมตามความเสี่ยง

3. การขยายกำลังบุคคลากรทางสุขภาพ ศักยภาพของเครื่องมือ การกระจายและให้บริการเครื่องมือมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการตรวจคัดกรอง

4. การให้ความสําคัญในการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาตามมาตรฐานสากล

5. การเสริมสร้างบทบาทขององค์กรผู้ป่วยในการที่จะได้รับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแผนควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (NCCPs) และข้อแนะนําทางคลินิก 

นโยบายมะเร็งในสตรีของประเทศไทย

นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า “โรคมะเร็งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ทำให้เกิดการสูญเสียประชากรก่อนวัยอันควรและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมาก”

“โดยเฉพาะโรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งปากมดลูก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกด้วย ด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นแก้ปัญหาโรคมะเร็งจากการลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ซึ่งเป็นนโยบายที่ครอบคลุมตั้งแต่ ด้านการส่งเสริมการป้องกัน การคัดกรอง การวินิจฉัยและรักษา ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง อันจะนำมาสู่ประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่จะได้รับบริการอย่างครบวงจร”นพ.ชลน่านกล่าว

ทั้งนี้ทางนพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังแนะแนวทางที่จะสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการมีบุตรและลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง “ข้อมูลทางวิชาการ พบว่าความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม พบสูงในผู้หญิงที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี แล้วประจำเดือนหมดหลังอายุ 55 ปี ที่สำคัญคือ มะเร็งเต้านมมีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิง ข้อมูลระบุชัดเจนว่าผู้หญิงที่มีลูก 3 คนขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมน้อยกว่าคนที่ไม่มีลูก ดังนั้น เรื่องนี้จะสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการมีบุตร จึงขอฝาก ต้องรณรงค์ให้มีลูกเพื่อป้องกันมะเร็ง และเพื่อสร้างความสมดุลให้กับโครงสร้างประชากรของประเทศด้วย”

ปัจจุบัน สถาบันมะเร็งแห่งชาติมีการสนับสนุนและแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม 3 ช่องทาง คือการตรวจเต้านมโดยแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม (Clinical Breast Examination) การตรวจเต้านมด้วยตนเอง(Breast Self-Examination) และการตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านม (Mammography) เพื่อให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยและรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

ในปี 2548 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ผลักดันโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้กับผู้หญิงไทย อายุ 30-60 ปี ในปี 2562 การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test 

ประชาชนสามารถรับบริการที่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการหรือหากไม่สะดวก สามารถใช้วิธีเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตัวเอง (HPV Self-Sampling) แล้วนำส่งตรวจในสถานพยาบาลได้ จากการดำเนินโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาอย่างต่อเนื่องกว่า 17 ปี ทำให้ผู้หญิงไทยมากกว่า 20 ล้านคนได้รับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงแนวทางในการจัดการปัญหาโรคมะเร็งสตรีร่วมกับทุกภาคส่วนตั้งแต่การให้ความรู้ประชาชนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ (กปท.) การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และกำลังจะขยายไปในกลุ่มอายุ 11-20 ปีตามนโยบายของรัฐบาล ด้านการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA test ผู้หญิงไทยสามารถเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตัวเอง (HPV Self-Sampling) หรือไปรับบริการที่หน่วยบริการใกล้บ้านก็ได้

สำหรับการคัดกรองมะเร็งเต้านม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เพิ่ม “บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2” ให้กับหญิงไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา และการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องแมมโมแกรมตามความเสี่ยงกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความพร้อมของระบบบริการ

 ในด้านการรักษาโรคมะเร็ง สปสช. ได้ประกาศให้ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ (CA anywhere) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากนี้สปสช. กำลังทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ในการเพิ่มรายการยารักษามะเร็งที่เป็นยาชีววัตถุ หรือยามุ่งเป้าที่มีประสิทธิผลดีเข้ามาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เบื้องต้นที่ใกล้ความเป็นจริงเป็นยารักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลามที่ช่วยให้โรคสงบได้กว่า 5 ปี

ความสำคัญของมะเร็งปากมดลูกและโอกาสในการพัฒนา

นอกเหนือจากนโยบายรัฐในปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีโอกาสอยู่อีกมากในการพัฒนาระบบสาธารณสุขโดยเฉพาะในด้านมะเร็งในสตรี

โรคมะเร็งเต้านมถือเป็นปัญหาที่สำคัญเช่นกัน ด้วยความก้าวหน้าทางสาธารณสุขทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น อีกทั้งวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของประชากร เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันสูงดื่มสุรา และขาดการออกกำลังกายหรือมีภาวะโรคอ้วน เป็นต้น ทำให้โรคมะเร็งเต้านมมีแนวโน้มอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี 

รศ. พญ. เยาวนุช คงด่าน นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของทุกภาคส่วน ในการช่วยให้ผู้หญิงไทยเข้าถึงการบริการป้องกัน ตรวจคัดกรอง การผ่าตัด การรักษาโรคมะเร็งเต้านม และโดยเฉพาะที่เดือนตุลาคม เป็นเดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้ในโรคดังกล่าว สมาคมจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายดังนี้

(1.) การวางแผนเชิงระบบ โดยผลักดันการสร้างและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลระดับชาติ (national data registry) เพื่อวางแผนเพื่อการพัฒนาและสร้างตัวชี้วัดจากสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม

(2.) ส่งเสริมการเข้าถึงการวินิจฉัยในระยะเวลาที่เหมาะสม และเข้าถึงการรักษา รวมถึงยานวัตกรรมที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านมอย่างเท่าเทียมตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะระยะเริ่มต้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาเกิดซ้ำของโรค และยังช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และลดการแออัดในโรงพยาบาลได้อีกด้วย

(3.) พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยมะเร็งโดยองค์รวมที่สามารถดำเนินการได้จริงให้ได้ตามมาตรฐานสากล ไปพร้อมกับการพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาระดับชาติ และการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ

ในส่วนของมะเร็งปากมดลูก รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทยกล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามเป้าหมายขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ในการกำจัดมะเร็งปากมดลูกให้หมดสิ้นไปภายในปี 2030 ดังนั้น การดำเนินการตามสองมาตรการที่สำคัญนั้นคือ

(1) การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ได้เกิน 70% ด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV (primary HPV screening) ซึ่งการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตัวเอง (HPV Self-Sampling) สามารถที่จะเติมเต็มและขยายวงการตรวจการคัดกรองให้กว้างขึ้นได้

(2) การฉีดวัคซีน HPV ให้กับกลุ่มเป้าหมายเด็กผู้หญิงวัย 11-12 ปี อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาได้ชี้แล้วว่าการฉีดวัคซีน HPV ให้กับเด็กหญิงในวัยเกิน 12 ปี ตั้งแต่ 13-26 ปี ก็จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่สำคัญได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น ประกอบกับมีประโยชน์และมีความคุ้มค่ามาก ในอันดับต่อไปอาจจะพิจารณาฉีดในเด็กผู้ชายด้วย 

ผลกระทบทางสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ

มะเร็งในสตรีเป็นภัยร้ายใกล้ตัวผู้หญิงที่นอกเหนือจากจะส่งผลกระทบด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วยแล้ว ยังรวมถึงด้านครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

ออย ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้ง Art for Cancer by Ireal และรองประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชมรมฯ ต้องการขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อการเข้าถึงสิทธิ์การรักษามะเร็งเต้านมตามมาตรฐานอย่างเท่าเทียมในทุกสิทธิ์ โดยเฉพาะการเข้าถึงยามุ่งเป้าหรือนวัตกรรมใหม่ๆซึ่งมีราคาสูงที่มีข้อมูลชัดเจนว่าสามารถยืดอายุและดูแลคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ 

ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมซึ่งในปัจจุบันพบในอายุเฉลี่ยน้อยลงและเป็นช่วงอายุที่อยู่ในวัยทำงานซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศให้ยังสามารถรักษาศักยภาพในการทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศและทำประโยชน์ให้สังคม รวมถึงยังสามารถดูแลรับผิดชอบครอบครัวของตนเองต่อไปได้แม้อยู่ในช่วงการรักษา

ในส่วนของผลกระทบของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก เบลล์ ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งระยะสี่ และประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society) กล่าวว่า โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งอันดับต้นๆของผู้หญิงที่สามารถป้องกันได้ ปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ ความกังวลด้านภาพลักษณ์ ภาระค่าใช้จ่าย และผลกระทบหลังการรักษาที่เกิดจากการผ่าตัดหรือการฉายแสง 

ทางมูลนิธิจึงต้องการขับเคลื่อนการตรวจคัดกรองด้วยการหาเชื้อไวรัส HPV (primary HPV screening ) และการประชาสัมพันธ์การตรวจคัดกรอง โดยมีหน่วยงานทางภาครัฐ และสถานพยาบาล ให้การสนับสนุนการตรวจและการส่งผลด้วยตัวเองที่บ้าน รวมถึงให้สิทธิประโยชน์ในการติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ซึ่งในปัจจุบันการตรวจคัดกรองด้วย  HPV screening ประชาชนยังไม่เข้าใจ และยังไม่เข้าถึง การที่มีนโยบายในการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน  จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกน้อยลงหรือในอนาคตไม่มีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในไทยอีก 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งในสตรี และบริการการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมในเรื่องการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพโดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัดบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย และบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และบริษัทในเครือ เป็นส่วนหนึ่งในภาคีที่มุ่งมั่งแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนผู้ป่วยมะเร็งในสตรี เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตและพัฒนาให้ผู้ป่วยและสตรีมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากยิ่งขึ้น

TAGS: #ลูก #บุตร #ชลน่าน #มะเร็ง