เพื่อตัดวงจรการลอกเลียนแบบเหตุความรุนแรง และเพื่อลดผลกระทบทางจิตใจต่อผู้เกี่ยวข้องและสังคมโดยรวม เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มักเกิดจากบุคคลที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช
เหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าดังใจกลางกรุงวันนี้ (3 ต.ค. 66) ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปหลายเสียง ถึงสาเหตุของพฤติกรรมความรุนแรงเมื่อผู้ก่อเหตุคือเยาวชนวัย 14 ปี จึงมีการคาดการณ์ว่าอาจจะเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ เฟซบุ๊กเพจ Psychology CU เผยข้อมูลว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ เพื่อตัดวงจรการลอกเลียนแบบเหตุความรุนแรง
และเพื่อลดผลกระทบทางจิตใจต่อผู้เกี่ยวข้องและสังคมโดยรวม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย ขอความร่วมมือสื่อมวลชนและทุก ๆ ท่านในทิศทางการสื่อสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้
สิ่งที่ไม่ควรทำ
1. การเปิดเผยชื่อ ภาพ เครื่องแบบ อาวุธ เรื่องราวส่วนตัว ประวัติ และแรงจูงใจในการก่อเหตุของผู้กระทำผิด
2. การสื่อความในลักษณะที่ทำให้ผู้ก่อเหตุดูเท่ ดูเก่ง เช่น ใช้คำบรรยายพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุว่า "อุกอาจ" (อาจจะดูเท่ในสายตาของผู้ที่นิยมความรุนแรง)
3. การรายงานเน้นจำนวนผู้เสียชีวิต/ ผู้บาดเจ็บเปรียบเทียบว่าครั้งนี้เสียชีวิต/ บาดเจ็บกี่คน มากกว่าหรือน้อยกว่าครั้งก่อนเท่าไร
สิ่งที่ควรทำ
1. ไม่เอ่ยชื่อ ไม่ให้ตัวตนคนร้าย
2. นำเสนอเรื่องราวของผู้ประสบเหตุแทน เพื่อสร้างตัวแบบทางบวกว่าคนเหล่านี้ผ่านเรื่องราวเลวร้ายร่วมกันมาได้อย่างไร
3. เล่าเรื่องราวของผู้ที่แจ้งเหตุก่อนผู้ที่ตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น
4. อัปเดตเหตุการณ์ตามจริงตรงไปตรงมา ไม่เร้าอารมณ์
5. เน้นเรื่องการป้องกันและการเยียวยา
เหตุการณ์เยาวชนที่อายุไม่ถึง 15 ปีก่อเหตุกราดยิงผู้บริสุทธ์ที่ไม่ใช่คู่กรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2566 วัยรุ่นชายอายุ 13 ปีถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว หลังตกเป็นผู้ต้องสงสัยก่อเหตุยิงผู้คนในโรงเรียนที่กรุงเบลเกรดของเซอร์เบีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ข้อมูล การดูแลจิตใจเด็กและวัยรุ่นจากเหตุกราดยิงสังหารหมู่ โดยแรงจูงใจส่วนใหญ่มักเกิดจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการบ่งบอกถึงความโกรธที่ผู้กระทำมีต่อสังคม
ในความเป็นจริงนั้น พบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มักเกิดจากบุคคลที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงเพียงร้อยละ 3-5 ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงเหล่านี้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม มักจะก่อความรุนแรงไม่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง ซึ่งขาดยา รับการรักษาไม่สม่ำเสมอ มักจะไปใช้สารเสพติดมากขึ้น และมีโอกาสจะกระทำความรุนแรงมากขึ้นได้
แนวทางการดูแลจิตใจ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- การดูแลแบบทั่วไปสำหรับทุกคนที่เผชิญกับเหตุการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีเป้าหมายคือ ลดความตึงเครียด ทำให้ปฏิกิริยาของเด็กกลับมาเป็นปกติ และค้นหาเด็กคนที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติม เช่น การปฐมพยาบาลทางใจ [Psychological First Aid : PFA]
- การดูแลแบบเข้มข้นสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น การทำกลุ่มบำบัด โดยอาจใช้เป็นศิลปะบำบัดหรือบำบัดตามแนวทาง การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT)
- การดูแลเฉพาะบุคคล สำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างมาก เช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมที่เน้นการกระทบกระเทือนจนเกิดบาดแผลทางจิตใจ (Trauma - Focused Cognitive Behavioral Therapy; TF-CBT), การเล่นบำบัด (Play Therapy), จิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์ (Eye Movement Desensitization and Reprocessing Therapy; EMDR)
การใช้ยาจะใช้ร่วมกับการดูแลทางจิตใจ โดยใช้กับอาการจำเพาะบางอย่าง เช่น ปัญหาการนอนในช่วงแรก ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า มีความหงุดหงิดและวุ่นวาย โดยอาการที่เกิดนั้นจะต้องเป็นมากจนกระทบกับการใช้ชีวิต