ยังไม่ถึงวัย ก็เสี่ยงได้ เมื่อ “มะเร็ง” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ที่เร่งรีบ นอนดึก และมองข้ามการออกกำลังกาย
เคยลองสังเกตหรือไม่ว่า เราได้ยินข่าวผู้ป่วยโรคมะเร็งในผู้ที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ และมันอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า มะเร็งไม่ใช่แค่โรคของผู้สูงอายุอีกต่อไป และวัยหนุ่มสาวไม่ควรชะล่าใจอย่างเด็ดขาด
มีการคาดการณ์จากผลวิจัยของ BMJ Oncology พบว่า จำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ที่อายุต่ำกว่า 50 ปีทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นอีกถึง 31% และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 21% ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2030 แต่ข้อมูลนี้อาจไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องรอให้ถึงเวลานั้นเสียทีเดียว เพราะในระหว่างนี้ จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนอายุน้อยป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น ?
อย่างแรก คือ “ไลฟ์สไตล์” การใช้ชีวิตที่มีผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การนอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเข้านอนไม่เป็นเวลา เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อระบบฮอร์โมนและภูมิคุ้มกันของร่างกาย และเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเสี่ยงของมะเร็งหลายชนิด
“อาหาร” ที่เรากิน ก็เป็นส่วนสำคัญ ยิ่งใครที่ชอบกินอาหารแปรรูปในเวลาที่ชีวิตเร่งรีบ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง หรือฟาสต์ฟู๊ด ต้องรู้ไว้เลยว่า อาหารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่แฝงสารก่อมะเร็ง รวมถึงมีปริมาณไขมันและโซเดียมสูง ยิ่งเป็นคนที่ไม่ชอบออกกำลังกายด้วยแล้ว อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงในเวลาเดียวกัน
ในประเทศไทย มะเร็งที่มักจะพบได้ในวัยหนุ่มสาว ที่แม้จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน แต่มีจุดเหมือนกันคือ เกิดในช่วงที่น้อยลงเรื่อยๆ มีด้วยกัน 4 ประเภท ประกอบด้วย
มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง : พบเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนอายุเพียง 30 ต้นๆ โดยเฉพาะในคนที่นอนดึก ดื่มแอลกอฮอล์ และชอบกินอาหารแปรรูป สิ่งที่ทำให้โรคนี้น่ากลัวคือ มักไม่แสดงอาการชัดเจนในช่วงแรก จนกระทั่งเข้าสู่ระยะลุกลามที่ยากต่อการรักษา
มะเร็งเต้านม : มีแนวโน้มพบในผู้หญิงอายุน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนมักชะล่าใจเพราะคิดว่า “ยังไม่ถึงวัยเสี่ยง” แต่ความจริงคือ ควรเริ่มตรวจเช็กด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป เพื่อให้สามารถรักษาได้เร็วที่สุดหากพบความผิดปกติ
มะเร็งตับ : เกิดจากการกินหวานจัด มันจัด หรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อรา แม้คุณจะรูปร่างผอม แต่ถ้าตับมีไขมันสะสมเกิน ก็สามารถเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ไม่ต่างกัน
มะเร็งปอด : แม้ไม่สูบบุหรี่ ก็เสี่ยงได้ เพราะปัจจัยใหม่ อย่าง PM 2.5, ควันบุหรี่มือสอง และสารเคมีในอากาศ กำลังกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากป่วยด้วยมะเร็งชนิดนี้โดยไม่รู้ตัว
หากโฟกัสไปที่ “วัยทำงาน” หรือกลุ่มวัยที่มีอายุช่วง 25-45 ปี ที่แม้ภายนอกจะดูร่างกายแข็งแรง แต่กลับเป็นกลุ่มวัยที่น่ากังวลที่สุดในความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะใครที่เครียดง่าย เครียดเรื้อรัง สิ่งนี้แหละจะไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในระดับเซลล์ และนำไปสู่โรคมะเร็งได้ ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น คือ มะเร็งเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้โดยไม่มีสัญญาณเตือน
สิ่งที่ทำได้ตามคำแนะนำของ นพ.ดุลยทรรศน์ อนันตะยา อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา ศูนย์อายุรกรรม รพ.วิมุต ระบุว่า ควรดูแลร่างกายให้ดี โดยเฉพาะด้านการกิน การพักผ่อน หรือออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และควรมักสังเกตตัวเอง หากมีอาการผิดปกติอะไร ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ และควรไปพบแพทย์ทันที
แม้มะเร็งจะไม่เลือกอายุ แต่เราสามารถเลือกป้องกันได้ เพราะการดูแลสุขภาพไม่ใช่เรื่องยาก หากเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ที่เราทำทุกวัน เพื่อไม่ต้องใช้เวลาทั้งชีวิต... เพื่อรักษาสิ่งที่เรามองข้ามไปตอนที่ยังมีแรง
เรื่อง : Pornthida Jedeepram