ชุดแข่งประมูลหลักล้าน กับกฎเหล็ก Wimbledon ที่แม้แต่ Federer ยังเคยโดนเตือน

ชุดแข่งประมูลหลักล้าน กับกฎเหล็ก Wimbledon ที่แม้แต่ Federer ยังเคยโดนเตือน
กฎเหล็ก “ชุดขาวล้วน” แห่ง Wimbledon ไม่ได้เป็นแค่ธรรมเนียมสุดเข้มงวด แต่สะท้อนตัวตนแบรนด์อังกฤษสุดคลาสสิก พร้อมเปลี่ยนชุดแข่งธรรมดาให้กลายเป็นของสะสมระดับโลก

ตลอด 140 กว่าปีที่ผ่านมาสนามแข่งเทนนิสอย่าง Wimbledon คือหนึ่งในไอคอนิกระดับโลกที่ยังคงมีธรรมเนียมที่อนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ กฎเหล็กเรื่องการแต่งกายที่เคร่งครัดระดับสุดโต่ง ที่นักเทนนิสต้องใส่ ชุดสีขาวล้วนเท่านั้น

หลายคนอาจคิดว่า "ก็ใส่ขาวเป็นหลักก็พอ" แต่กับ Wimbledon มันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะคำว่า “สีขาว” ของที่นี่ ต้องเป็น สีขาวบริสุทธิ์ (pure white) เท่านั้น ไม่ใช่ขาวครีม ขาวมุก หรือขาวอมเทา เพราะแม้แต่ โลโก้แบรนด์บนชุดนักกีฬา ก็ห้ามใหญ่เกิน 1 ตารางนิ้ว หรือแม้แต่ บราหรือกางเกงชั้นใน ถ้าเห็นทะลุผ่านเนื้อผ้าก็ยังต้องเป็นสีขาวเช่นกัน

 

กฎนี้เกิดขึ้นในปี 1800s เมื่อเหงื่อของนักกีฬาถูกมองว่าไม่เหมาะสมในสังคมผู้ดีอังกฤษ สีขาวจึงถูกเลือกเพื่อพรางเหงื่อและแสดงถึงความสะอาดสุภาพ นับตั้งแต่นั้นมา Wimbledon ก็รักษาธรรมเนียมนี้ไว้ไม่เคยเปลี่ยน จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันมา และกลายเป็นทัวร์นาเมนต์ที่แตกต่างจากกีฬาอื่นทั่วโลก

แม้ว่าจะเป็นกฎเหล็กที่ต้องปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด แต่ใช่ว่าจะไม่มีนักกีฬาที่กล้าแหกกฎ จนถูกเตือนกันมาแล้ว อย่างเช่น อดีตนักเทนนิสมือ 1 ของโลกอย่าง Roger Federer เขาเคยใส่รองเท้าขอบส้มขึ้นแข่ง แต่ก็โดนเรียกให้เปลี่ยนทันที หรือแม้แต่นักเทนนิสหญิงชาวอเมริกันอย่าง Venus Williams เธอเองก็เคยถูกเชิญให้ไปเปลี่ยนบรา เพราะมีสีชมพูอ่อนที่มองเห็นใต้เสื้อ 

 

กฎเหล่านี้ไม่ได้มีไว้แค่ควบคุมระเบียบแต่มันคือ แก่นของแบรนด์ Wimbledon ที่พยายามขายความหรู ความคลาสสิก และความเป็นผู้ดีอังกฤษทุกอย่างในทัวร์นาเมนต์ ตั้งแต่สนามหญ้าสีเขียวสด การกิน “Strawberries & Cream” ไปจนถึงเสื้อผ้าสีขาวล้วน ล้วนบ่งบอกว่า Wimbledon = British Heritage

สิ่งที่น่าสนใจกว่ากฎเหล็กสีขาวนี้  คือ ชุดแข่งจาก Wimbledon บางชุด ไม่ได้จบแค่ในสนาม แต่กลายเป็น “ของสะสมราคาแพง” ที่มีมูลค่าสูงในตลาดประมูล อย่างเช่น

1. Billie Jean King – ชุด Wimbledon ปี 1973 หนึ่งในนักเทนนิสหญิงผู้ทรงอิทธิพลในประวัติศาสตร์ ชุดขาวล้วนจากการแข่งขันปี 1973 ของเธอ ถูกประมูลในปี 2017 ราคาปิดอยู่ที่ กว่า $10,000 USD

ที่มา: Heritage Auctions

2. Roger Federer – Match-Worn Shirts จาก Wimbledon เสื้อแข่งสีขาวของ Federer ที่ใส่จริงในการแข่งขัน บางตัวถูกนำไปประมูลในราคาสูงถึง $30,000 – 50,000 USD โดยเฉพาะแมตช์ในรอบชิงฯ หรือแมตช์ในปีที่เขาคว้าแชมป์

ที่มา: Christie’s, Julien’s Auctions

3. Serena Williams – เดรสรอบชิง Wimbledon ปี 2016 คอลเลกชั่นที่เธอได้ดีไซน์ร่วมกับ NikeCourt เป็นชุดขาวล้วนที่ทรงพลัง โดยออกประมูลเพื่อการกุศลในปี 2020 ปิดราคาที่ ราว $17,000 USD

ที่มา: Charitybuzz

 

 

แม้ Wimbledon จะเป็นเพียง 1 ใน 4 ของ Grand Slam แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างจากสนามอื่นในโลกไม่ใช่แค่สนามหญ้าสีเขียว หรือรายชื่อนักกีฬาระดับตำนานที่เคยเหยียบสนามแห่งนี้ แต่มันคือ “วัฒนธรรมสีขาว” ที่แฝงไว้ด้วยความคลาสสิก ความเข้มงวด และความสง่างามแบบอังกฤษแท้ กฎที่ดูเข้มนี้ไม่เพียงควบคุมการแต่งกาย แต่กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ทางแบรนด์ที่ทรงพลัง และทำให้เสื้อผ้าชุดหนึ่งในสนามนี้สามารถเปลี่ยนสถานะจากชุดแข่งธรรมดา สู่ของสะสมที่มีมูลค่าสูงระดับโลก Wimbledon จึงไม่ใช่แค่เวทีแห่งการแข่งขัน แต่คือการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ตราตรึงอยู่ในประวัติศาสตร์กีฬาและแฟชั่นอย่างแท้จริง
 
อ้างอิง:

Wimbledon Official Dress Code: wimbledon.com


BBC Sport – Why do Wimbledon players wear white: bbc.com


GQ – Wimbledon Style Rules: gq.com


Heritage Auctions – Billie Jean King’s dress: ha.com


Christie’s, Julien’s Auctions – Federer match-worn


Charitybuzz – Serena Williams Wimbledon Dress: charitybuzz.com

TAGS: #Wimbledon #เทนนิส #กฎเหล็กแฟชั่น #แฟชั่นเทนนิส #แฟชั่นชุดขาว #วิมเบิลดัน