อโรมาเธอราพี ศาสตร์แห่งหอมที่ยังคงอบอวลผ่านกาลเวลาหลายพันปี แต่ยังคงความมหัศจรรย์ที่ช่วยบรรเทาโรคร้ายในมนุษย์ได้อย่างเหลือเชื่อ เพียงแค่ได้กลิ่น
หากใครได้กลิ่นหอมแล้วรู้สึกดี หรือในทางกลับกันถ้าได้กลิ่นเหม็น แล้วจะรู้สึกเซ็งๆ บางคนถึงกับปวดหัว ความรู้สึกเหล่านี้ไม่ใช่ความรู้สึกที่คิดไปเอง แต่นั่นเพราะ “กลิ่น” มีผลต่อสมอง อารมณ์และสุขภาพจิต ที่พิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์
กลิ่นมีผลต่อสมองส่วนลิมบิก (Limbic System) ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมอารมณ์ ความทรงจำ และพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ความกลัว ความสุข ความเศร้า ดังนั้นเมื่อเราได้กลิ่นหอมร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุข ที่มีคุณภาพที่โดดเด่นแตกต่างกัน ประกอบด้วย เซโรโทนิน (Serotonin), โดพามีน (Dopamine), เอนดอร์ฟิน (Endorphin), ออกซิโทซิน (Oxytocin), นอร์อิพิเนฟรีน (Norepinephrine)
หากพูดถึงกลิ่นในศาสตร์ “อโรมาเธอราพี (Aromatherapy)” กลิ่นที่มีประวัติอันยาวนานตั้งแต่ยุคโบราณ หรือประมาณ 6,000 ปีก่อน ในยุคนั้นเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ประโยชน์ของกลิ่นที่ได้จากพืชกลิ่นหอม ทั้งนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บูชาเทพเจ้า ใช้เป็นน้ำหอม หรือแม้แต่การใช้ในการรักษาโรค
อโรมาเธอราพี มีค่อนข้างหลากหลายกลิ่นและแต่ละกลิ่นจะมีสรรพคุณที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์กับสารเคมีในสมองที่ส่งผลต่ออารมณ์ และสุขภาพจิตอย่างลึกซึ้ง อย่างเช่น หากต้องการลดความเครียด การได้กลิ่น “ลาเวนเดอร์ (Lavender)” จะช่วยให้ผ่อนคลายได้ ทำให้นอนหลับดีขึ้นและลดอาการวิตกกังวล หรือกลิ่น “เปปเปอร์มินต์ (Peppermint)” ที่จะช่วยในเรื่องของสมาธิ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในสมอง และบรรเทาอาการเหนื่อยล้า เช่นเดียวกัน กลิ่น “แซนดัลวูด (Sandalwood)” ที่จะช่วยเสริมสร้างสมาธิ และการมีสติได้เช่นกัน
“เลมอน/ซิตรัส (Lemon/Citrus)” เป็นสารที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งโดพามีน ทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวา ลดความหดหู่ หรือใครที่มีปัญหากับระบบทางเดินหายใจ รู้สึกอึดอัด การได้กลิ่น “ยูคาลิปตัส (Eucalyptus)” จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในเรื่องทางเดินหายใจ พร้อมกระตุ้นระบบประสาท ให้ความรู้สึกปลอดโปร่ง
ใครต้องการให้สมองตื่นตัว ต้องหากลิ่น “โรสแมรี่ (Rosemary)” มาไว้ข้างกาย โดยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจำและการคิดให้กับสมอง หรือใครที่คิดมากไป การได้กลิ่น “กำยาน (Frankincense)” จะช่วยลดความฟุ้งซ่านลงได้ พร้อมกับการลดความวิตกกังวล
ในเพศหญิงที่อารมณ์แปรปรวน ไม่รู้จะจัดการอย่างไร การได้กลิ่น “เจอราเนียม (Geranium)” จะช่วยในเรื่องของการปรับสมดุลฮอร์โมน และทำให้อารมรณ์คงที่มากยิ่งขึ้น และกลิ่น “ทีทรี (Tea Tree)” ที่จะช่วยให้เกิดความรู้สึกสดชื่น ช่วยให้รู้สึกสะอาด สดใส เหมาะกับผู้ที่รู้สึกอ่อนเพลียร่างกายและจิตใจ
ที่ผ่านมากลิ่นอโรมาเธอราพี ยังเคยเป็นตัวช่วยให้กับผู้ป่วยได้จริง อย่างการบำบัดอาการซึมเศร้า และการนอนไม่หลับในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือ PSD โดยผ่านวิธีการสูดดมน้ำมันหอมระเหย กลิ่นลาเวนเดอร์ ซึ่งถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังได้ประสิทธิภาพอย่างที่คาดไม่ถึง
หรือแม้แต่การนวดอโรมาเธอราพี ด้วย น้ำมันลาเวนเดอร์ คาโมมายล์ และโรสแมรี่ ให้กับผู้สูงอายุ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20 นาที โดยนวดติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า อะโรมาเทอราพีสามารถช่วยลดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุได้อย่างมาก
จะเห็นว่า กลิ่นจากศาสตร์อโรมาเธอราพี เป็นอีกหนึ่งตัวแปรในจิตวิทยาทางด้านอารมณ์ ความคิด ที่ลงลึกไปถึงสุขภาพจิตได้จริง ไม่ว่าจะเป็น การช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด รวมถึงเสริมสมาธิและความสดชื่นได้ดี กลิ่นหอมบางชนิดยังช่วยให้นอนหลับลึกขึ้น บางกลิ่นช่วยกระตุ้นพลังงานในวันที่อ่อนล้า หรือบางกลิ่นช่วยเยียวยาความเศร้าใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ
“อโรมาเธอราพี” ไม่เพียงแต่เป็นชื่อเรียกของกลิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นความมหัศจรรย์ที่ช่วยบรรเทาอาการป่วยได้อย่างน่าทึ่ง เพียงแค่ใช้พลังแห่งความหอมที่โดดเด่นออกมาจากกลิ่นเฉพาะ เป็นอีกหนึ่งการสร้างประสบการณ์การรับรู้ผ่านการสัมผัสกลิ่นได้อย่างน่าประทับใจ
แหล่งอ้างอิง :
https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC8887855/?utm_source=
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/38241803/