หลายๆ คนอาจจะเข้าใจไปแล้วว่าโพรไบโอติกช่วยได้แค่เรื่อง การปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ แต่ความจริงแล้วโพรไบโอติกสามารถช่วยอะไรให้กับร่างกายเราได้หลากหลายมากกว่าที่ทุกคนคิด เช่น ภาวะโรคอ้วน
ภาวะโรคอ้วน
คนที่มีภาวะอ้วน (obesity) คือ ผู้ที่มีไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพในอัตราส่วนที่สูงในร่างกาย วิธีการวัดภาวะโรคอ้วนจะวัด จากค่าดัชนีมวลกายหรือ body mass index (BMI) ค่า BMI คืออัตราส่วนระหว่างน้ำหนัก (กิโลกรัม) และส่วนสูง (เมตร)2
ภาพจาก https://www.medindia.net/patients/calculators/images/body-mass-index-bmi-chart.jpg
โรคอ้วนสามารถวัดได้คร่าวๆ จากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตามที่องค์กรอนามัยโลกได้กำหนดค่าดัชนีมวลกายไว้ว่า
• เกณฑ์ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5 คือ น้ำหนักน้อย
• อยู่ระหว่าง 18.5-24.99 คือน้ำหนักปกติ
• ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป คือน้ำหนักเกิน
• อยู่ระหว่าง 25-29.99 คือเริ่มอ้วน
• และ 30 ขึ้นไปคือเป็นโรคอ้วน
ค่า BMI เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้น ร่างกายแต่ละคนมีมวลกระดูกมากน้อยแตกต่างกัน หรือสภาวะบวมน้ำ ปัสสาวะบ่อยที่ส่งผลต่อน้ำหนักตัวด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่รูปร่างสมส่วนแล้ว ผู้ที่น้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ มากขึ้น ได้แก่ โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจหลอดเหลือด, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังทำให้อายุขัยสั้นลงด้วย โดยทั่วไปคนไข้จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วนหากดัชนีมวลกายหรือ BMI สูงถึง 30 หรือมากกว่า ค่าดัชนีมวลกายสามารถประมาณไขมันในร่างกายได้ แต่ไม่สามารถวัดไขมันในร่างกายได้อย่างแม่นยำ ค่าดัชนีมวลกายอาจสูงในคนที่มีกล้ามเนื้อมาก ซึ่งอาจไม่มีไขมันส่วนเกินในร่างกายได้เช่นกัน
สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนมีหลายประการ ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม พฤติกรรมการเผาผลาญ และฮอร์โมน การรับแคลอรี่มากเกินไปเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญออกผ่านกิจกรรมหรือการออกกำลังกายตามปกติเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคอ้วนได้เช่นกัน
- พันธุกรรม ปริมาณไขมันในร่างกายมีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม นอกเหนือจากไขมันส่วนเกินในร่างกายแล้ว พันธุกรรมอาจมีส่วนในการเปลี่ยนอาหารเป็นพลังงาน การเผาผลาญแคลอรี่ รวมไปถึงการควบคุมความอยากอาหาร
- ไลฟ์สไตล์ การเลือกวิถีชีวิตมีส่วนสำคัญในการสะสมของไขมันส่วนเกินในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วน อาจรวมถึง
การบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เครื่องดื่มแคลลอรี่สูง การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
- โรคและยาอื่น ๆ โรคอ้วนอาจเป็นผลมาจากปัญหาทางการแพทย์บางอย่าง เช่น โรคข้ออักเสบ โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง และกลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ ยิ่งไปกว่านั้นอาจเป็นผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาต้านอาการชัก ยาเบาหวาน ยาต้านอาการซึมเศร้า
- อายุ มีงานวิจัยกล่าวว่าอายุก็เป็นส่วนสำคัญในเรื่องระบบเผาผลาญของร่างกาย และฮอร์โมน ที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักตัวได้เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น
- ปัจจัยอื่น ๆ อาจทำให้ไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้นและนำไปสู่โรคอ้วนอาจรวมถึง เช่น การตั้งครรภ์ การเลิกสูบบุหรี่ การขาดการนอนหลับ ความเครียด ไมโครไบโอม ความพยายามในการลดน้ำหนักอย่างไม่ถูกต้องก่อนหน้า
อ้วนแต่ละส่วน มีปัจจัยต่างกัน
การสะสมไขมันของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันตามพฤติกรรมและสภาพร่างกาย ซึ่งการสะสมไขมันแต่ละส่วนมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิต ได้แก่
• การสะสมของไขมันช่วงบนเกิดจากการรับประทานน้ำตาลมากเกินไป
• การสะสมของไขมันบริเวณท้องเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
• การสะสมของไขมันช่วงกลางหน้าท้องเกิดจากร่างกายมีสภาวะความเครียด อาการซึมเศร้า
• การสะสมของไขมันบริเวณท้องด้านบน และหลังยื่นเกิดจากการไม่ค่อยออกกำลังกายหรือขยับตัว
• การสะสมของไขมันช่วงล่างเกิดจากการแพ้ Gluten ที่มีในขนมปัง แป้ง ธัญพืช
• การสะสมของไขมันช่วงล่างลงไปถึงขา เกิดจากการตั้งครรภ์และพันธุกรรม
โรคอ้วนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังตามมามากมาย ได้แก่
• โรคเบาหวาน
• โรคหัวใจและหลอดเลือด
• ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
• ไขมันพอกตับ
• โรคข้อเสื่อม
• กรดไหลย้อน
• ประจำเดือนผิดปกติ
นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคอ้วนยังเสี่ยงเสียชีวิตเร็วกว่าคนปกติ 7-10 ปีอีกด้วย โรคอ้วนจึงอันตรายมากกว่าที่คิด
การป้องกันภาวะโรคอ้วน
- ออกกำลังกาย เป็นประจำประมาณวันละ 30 นาทีขึ้นไป 5 ครั้งต่อสัปดาห์
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และควบคุมปริมาณอาหาร โดยลดการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ไขมัน ของหวาน แป้ง น้ำหวาน เปลี่ยนจากการทอดมาเป็นการนึ่ง ต้ม ตุ๋น ย่าง แทนได้
- การผ่าตัดกระเพาะอาหาร เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่า BMI สูงมากและไม่สามารถลดด้วยวิธีการคุมอาหารหรือออกกำลังกายได้ โดยการผ่าตัดจะทำให้กระเพาะอาหารแคบลง ผู้ป่วยจะอิ่มเร็วขึ้น ทานอาหารได้น้อยลง จึงสามารถลดน้ำหนักได้
- ไม่ควรลดความอ้วนโดยการอดอาหาร ไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย เพราะจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารน้อย อัตราการเผาผลาญอาหารก็จะน้อยลง เกิดสิ่งที่เรียกว่า Yo-Yo dieting เนื่องจากระบบต่างๆ ทำงานน้อยลง รวมไปถึงระบบเผาผลาญพลังงานและกำจัดไขมัน สุดท้ายก็จะเข้าสู่ภาวะอ้วนเหมือนเดิม ฉะนั้นการอดอาหาร น้ำหนักตัวจะลดลง แต่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น
- ไม่ควรการพักผ่อนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงทำให้เป็นโรคอ้วนได้ เนื่องจากการนอนน้อยทำให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น จากงานวิจัยกล่าวว่าการนอนน้อยว่า 7 ชั่วโมง มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนในเด็กถึงร้อยละ 89 และในผู้ใหญ่ร้อยละ 55
- ไม่ควรทานยาลดน้ำหนัก นอกจากแพทย์แนะนำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยาลดน้ำหนักมีผลข้างเคียงอันตรายมากที่สุดถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ทานอาหารเสริมที่มีส่วนช่วยในการลดไขมันในร่างกายอย่างถูกวิธี เช่น การรับประทานโพรไบโอติกที่มีส่วนช่วยในการปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้
โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยลดภาวะโรคอ้วนได้จริงหรือไม่ ?
“โพรไบโอติก” หรือจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย หลายคนรู้เรื่องประโยชน์ด้านระบบขับถ่ายเพียงอย่างเดียว แต่โพรไบโอติกส์บางสายพันธุ์สามารถลดภาวะโรคอ้วนได้ เช่น Lactobacillus plantarum ช่วยในการลดน้ำหนักตัว ลดมวลไขมัน และเส้นรอบเอว Lactobacillus gasseri ช่วยในการลดภาวะอ้วนลงพุง Lactobacillus reuteri ช่วยลดการดูดซึมไขมันได้
และนอกเหนือจากนี้ คนอ้วนส่วนใหญ่จะมีแบคทีเรียตระกูล Firmicutes ซึ่งมีผลเพิ่มการดูดซึมไขมัน ถึงแม้จะกินอาหารที่มีแคลอรีเท่ากับคนผอม แต่มีแบคทีเรียตัวนี้ก็ดูดซึมแคลอรีได้มากขึ้น จึงทำให้อ้วนได้ ดังนั้น จุลินทรีย์ในลำไส้จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการป้องกันและบำบัดโรคอ้วน
จากงานวิจัยในปี 2022 เรื่อง Lactobacillus plantarum Alleviates Obesity by Altering the Composition of the Gut Microbiota in High-Fat Diet-Fed Mice ได้มีการทดสอบในสัตว์ทดลองเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะอ้วนด้วยอาหารไขมันสูง พบว่า เมื่อนำโพรไบโอติกมารักษาสัตว์ทดลองเหล่านี้ โพรไบโอติกสามารถช่วยลดระดับไขมันในเลือด และลดการเกิดภาวะโรคอ้วนได้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับงานวิจัยในปี 2020 เรื่อง Cholesterol-lowering activity and functional characterization of lactic acid bacteria isolated from traditional Thai foods for their potential used as probiotics โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย Bifidobacterium animalis TA-1 มีฤทธิ์ในการสร้างเอนไซม์ไบล์ซอลไฮโดรเลส ซึ่งเป็นเอนไซม์มีส่วนช่วยในการลดระดับไขมันในร่างกายได้ และสามารถลดน้ำหนักในสัตว์ทดลองได้เช่นเดียวกัน
นพรัตน์ สุขสราญฤดี
แหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก
- Puttarat N., Ladda B., Kasorn A., Tanasupawat S.,Taweechotipatr M. Cholesterol-lowering activity and functional characterization of lactic acid bacteria isolated from traditional Thai foods for their potential used as probiotics. Songklanakarin Journal of Science & Technology . Sep/Oct2021, Vol. 43 Issue 5, p1283-1291. 9p.
- Ma Y, Fei Y, Han X, Liu G, Fang J. Lactobacillus plantarum Alleviates Obesity by Altering the Composition of the Gut Microbiota in High-Fat Diet-Fed Mice. Front Nutr. 2022;9:947367. Published 2022 Jun 30. doi:10.3389/fnut.2022.947367
- นท. นพ. บุญเลิศ อิมราพร. (2020). อ้วนส่วนไหน เป็นเพราะอะไร. https://www.vejthani.com/th/2020/12/อ้วนส่วนไหน-เป็นเพราะอะ/
- ศูนย์จัดการความรู้ผู้ป่วย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. (2016). กลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs)…โรคที่เกิดจากพฤติกรรม. https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2016/ncds-non-communicable-diseases-symptoms-prevention
- ศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง รพ. พญาไท 3. (2018). ไขข้อข้องใจ โรคไทรอยด์ทำให้อ้วนจริงหรือ?. https://www.phyathai.com/article_detail/2839/th/ไขข้อข้องใจโรคไทรอยด์ทำให้อ้วนจริงหรือ?
- ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา. (2020). อันตราย…จากโรคอ้วน. https://www.synphaet.co.th/อันตราย-จากโรคอ้วน/
- ส่องโรคแทรกซ้อนที่ซ่อนในความอ้วน. (2021). https://www.bangkokhospital.com/content/the-health-effects-of-overweight-and-obesity
- สุพิณญา คงเจริญ. (2560). โรคอ้วน: ภัยเงียบในยุคดิจิตอล. https://he01.tci-thaijo.org/index.php/EAUHJSci/article/view/105280/84420
- อังคณา อัญญมณี. (2564). ปัญหาการกิน(โรคอ้วน). https://www.manarom.com/blog/obesity.html
- อ้วน 6 แบบที่ควรรู้ รู้แล้วแก้ให้ถูกจุด. (2560). https://www.slimspinningbike.com/article/72/อ้วน6แบบ-ที่ควรรู้-รู้แล้วแก้ให้ตรงจุด