การหมกมุ่นความรูปลักษณ์ตัวเองมากเกินไป อาจไม่ใช่แค่ความรู้สึกที่อยากสวย อยากหล่อให้เหมือนคนอื่น แต่เป็นสัญญาณของโรค Body Dysmorphic Disorder
เชื่อว่า ทุกคนต้องเคยส่องกระจก แล้วมีความรู้สึกไม่ชอบหน้าตา รูปร่างของตัวเองในบางครั้ง และแม้จะดูเป็นความรู้สึกทั่วไปที่ใครๆ ก็รู้สึกกันได้ทั้งนั้น แต่มันกลับไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะหากมากเกินไป อาจกลายเป็นโรค Body Dysmorphic Disorder หรือที่เรียกว่า อาการไม่พึงพอใจกับรูปลักษณ์ของตัวเอง
ผู้ที่มีอาการของโรคนี้ มักมีความคิดหรืออารมณ์ในด้านลบต่อรูปลักษณ์ของตัวเอง จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ยิ่งใครที่เล่นโซเชียลมีเดียเป็นประจำ คงอดใจไม่ไหวที่จะไม่ใช้ฟิลเตอร์ให้หน้าเนียนใส แต่สิ่งนี้เอง ที่ทำให้เรามีความคาดหวังสูงขึ้นกับคำว่า “มาตรฐานความสวย” โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว และยังเป็นตัวการที่ผลักให้เราเข้าใกล้กับโรคนี้มากขึ้น
หากถามว่า โรคนี้รุนแรงแค่ไหน คงไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน เพราะแต่ละคนจะมีความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกันออกไป แต่อาการนี้ไม่ใช่เกิดขึ้น แล้วหายไปอย่างรวดเร็ว บางคนถึงขั้นไม่สามารถทำงานหรือเข้าสังคมได้ตามปกติ บางคนต้องคอยส่องกระจกอยู่ตลอดเวลา หรือเปรียบเทียบรูปลักษณ์ตัวเองกับคนอื่น และอาการหนักสุดอาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย
สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการที่เราจับจ้องกับจุดบกพร่องในร่างกายมากเกินไป ทั้งที่บางครั้งคนอื่นอาจจะไม่ได้สนใจหรือไม่ได้สังเกตเห็นเสียด้วยซ้ำ
บางคนก็เลี่ยงการถ่ายรูป การเซลฟี่ หรือดูภาพตัวเอง เพราะหากดูจะรู้สึกไม่ชอบตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลกระทบอย่างแน่นอนกับการใช้ชีวิต รวมไปถึงการทำศัลยกรรมต่างๆ เพื่อแก้ไขสิ่งที่ตัวเองคิดว่าเป็นข้อบกพร่อง ก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
ข้อมูลงานวิจัยเมตาอะนาลิซิสในปี 2023 พบว่า กลุ่มคนที่พบว่า มีอาการของโรคนี้มากที่สุด คือผู้ที่เข้ารับบริการด้านความงามหรือผิวหนัง 20% และพบในสถานพยาบาลด้านสุขภาพจิต 7.4% เช่นเดียวกับผลการศึกษาอีกชุดหนึ่ง ในปี 2025 พบว่า อัตราการเกิดโรคนี้โดยรวมจากประชากรทั่วไปอยู่ที่ 17% และพบในผู้ป่วยศัลยกรรมอยู่ที่ 24%
ข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่า กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ คือกลุ่มคนที่ชอบทำศัลยกรรม โดยเฉพาะใครที่ทำศัลยกรรมหลายครั้ง อย่างบางคน ศัลยกรรมจมูก แก้ทรงอยู่หลายรอบ บางคนก็พอใจ แต่บางคนก็ไม่พอใจและไม่ชอบหน้าตัวเอง จนเริ่มเลี่ยงสังคม
จนในที่สุด พฤติกรรมเหล่านั้นก็ส่งผลต่อสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า อาการผิดปกติทางการกิน โรคย้ำคิดย้ำทำ
สอดคล้องกับงานวิจัยในวารสาร Aesthetic Surgery Journal ที่พบว่า คนไข้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตก่อนการศัลยกรรม มักมีความพึงพอใจในตัวเองต่ำ และมีแนวโน้มเกิดภาวะซึมเศร้าหลังศัลยกรรมมากขึ้น
เหล่านี้ คือสิ่งที่จะตามมากับการรู้สึกไม่พอใจต่อรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเอง จนอาจก่อให้เกิดโรค Body Dysmorphic Disorder ได้ สิ่งที่เราจะสามารถทำได้ในยุคที่เราเห็นคนอื่นได้ง่าย จนเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบโดยไม่รู้ตัว ก็คือการรักตัวเองในแบบที่เป็น ไปพร้อมกับการเข้าใจว่า มาตรฐานความงามของคนเราไม่เหมือนกัน และไม่มีใครบนโลกที่สมบูรณ์แบบ 100%