ผู้สูงอายุ “หกล้ม” ไม่ใช่เรื่องเล็ก ก้าวพลาดอาจเปลี่ยนชีวิต

ผู้สูงอายุ “หกล้ม” ไม่ใช่เรื่องเล็ก ก้าวพลาดอาจเปลี่ยนชีวิต
ผู้สูงอายุ “หกล้ม” ความรุนแรงมากกว่าที่คิด อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของใครหลายคน และเป็นโจทย์ใหม่ของลูกหลานที่ต้องใส่ใจให้มากขึ้น

ตอนเด็กๆ หกล้มก็แค่ร้องไห้ แต่กับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะวัย 60 ปีขึ้นไม่ใช่แค่นั้น เพราะการล้มครั้งเดียว อาจเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปเลยก็ว่าได้ 

ไม่ว่าจะเป็น การลื่นล้ม สะดุด หรือก้าวพลาดพื้นต่างระดับ เหตุการณ์เหล่านี้ ไม่ได้ทำให้เกิดแค่ความรู้สึกตกใจเพียงชั่ววูบ แต่มันอาจนำไปสู่อันตรายมากกว่านั้น และด้วยสถิติทางตัวเลขที่เป็นตัวยืนยันอีกเสียงว่า การหกล้มในผู้สูงอายุนั้น อันตรายแค่ไหน 

หากดูจากสถิติจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO จะพบว่า การหกล้มเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และยังพบว่า ผู้สูงอายุทั่วโลกหกล้มอย่างน้อย 1 ปีต่อครั้ง และยังเพิ่มสูงขึ้นในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป

ยิ่งในประเทศไทยด้วยแล้ว ในฐานะที่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ทำให้เรื่องนี้ค่อนข้างน่ากังวลอยู่ไม่น้อย ตามการรายงานข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบว่าผู้สูงอายุในไทยหกล้มทุกปี และสูงถึง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด หรือราว 4 ล้านคน 

ในปี 2566 มีผู้สูงอายุในไทย เสียชีวิตจากการหกล้มถึง 1,472 ราย และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการหกล้ม ถึง 71,035 ราย รวมภาระค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องดูแลผู้สูงอายุจากการหกล้มสูงถึง 1,500 ล้านบาทต่อปี 

แต่เชื่อว่า หลายคนที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ อาจมองว่า การหกล้มคงไม่ใช่เรื่องแปลก หรือไม่ได้เข้าใจความรู้สึกมากนัก แต่ให้ลองนึกภาพว่า ขนาดเราที่ยังหนุ่ม ยังสาว ถ้าสะดุดล้มจนก้นกระแทกพื้น ยังร้องโอย ด้วยความเจ็บ 

“ยิ่งแก่ ไขข้อยิ่งเสื่อม” ประโยคนี้ก็น่าจะเป็นคำตอบที่เห็นภาพมากที่สุด ด้วยสุขภาพที่เสื่อมไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น อย่าง กล้ามเนื้ออ่อนแรง สายตาพร่ามัว หรือแม้แต่เรื่องของกระดูกที่เสื่อมลง แน่นอนว่า พวกเขาจะรู้สึกเจ็บกว่าวัยหนุ่มสาว และอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอย่างอื่นตามมาได้ง่ายกว่า 

อย่างผู้ป่วยติดเตียง ก็มีสาเหตุหนึ่งมาจากการหกล้มที่อาจทำให้กระดูกหัก โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน หรือบางคนหกล้มหัวฟาดพื้น จนส่งผลกระทบต่ออาการป่วยทางสมอง ทั้งความจำสั้น หรือมีอาการเศร้าซึมต่างจากปกติทั่วไป และบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นภาวะเลือดคั่งในสมอง จนเสียชีวิตได้ 

คำแนะนำง่ายๆ และเป็นพื้นฐานสำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุในบ้าน คือการดูแลทำความสะอาดพื้นบ้าน ไม่ให้ลื่น ติดตั้งไฟในบ้านให้สว่างเพียงพอ รวมถึงการพาผู้สูงอายุไปตรวจเช็คร่างกาย และเสริมด้วยการบริหารร่างกายเล็กน้อย เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น 

นี่ไม่ใช่เพียงการบอกว่า การหกล้ม ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นโจทย์สำคัญของลูกหลานหรือผู้ใกล้ชิดที่ต้องดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุให้มากขึ้น เพื่อให้คนที่เรารักอยู่กับเราไปนานๆ

เรื่อง : Pornthida Jedeepram 
 

TAGS: #health #หกล้ม #ผู้สูงอายุ