ฝนตกแล้วใจบาง.. ผลวิจัยชี้ Gen Z มีภาวะ SAD ไม่รู้ตัวสูงถึง 65%

ฝนตกแล้วใจบาง.. ผลวิจัยชี้ Gen Z มีภาวะ SAD ไม่รู้ตัวสูงถึง 65%
ฝนตกแล้วใจหม่นไม่ใช่เรื่องเล็ก... งานวิจัยเผยว่า Gen Z เสี่ยงภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล (SAD) มากถึง 65% โดยไม่รู้ตัว สำรวจสัญญาณและวิธีดูแลใจให้ไหว ในวันที่อากาศไม่เป็นใจ

ในวันที่ฝนเทลงมาแบบไม่ลืมหูลืมตา หลายคนอาจแค่นอนฟังเสียงฝนแล้วรู้สึกชิลๆ แต่สำหรับบางคน... มันคือฤดูกาลที่ อารมณ์เริ่มแกว่งได้ง่ายๆ

ถ้าคุณเคยรู้สึกว่า "ทำไมช่วงนี้มันเศร้าจัง เบื่อแบบไม่มีเหตุผล ขี้เกียจแบบไม่มีแรงจะลุก" คุณไม่ได้คิดไปเอง และมันอาจไม่ใช่แค่ ‘ขี้เกียจ’ หรือ ‘ขี้เหงา’ แต่คุณอาจกำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า Seasonal Affective Disorder (SAD) หรือ ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล

SAD ไม่ใช่ศัพท์วัยรุ่นใหม่ แต่มันคือโรคในกลุ่ม Major Depression ที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลที่แสงแดดน้อย เช่น ฤดูฝนหรือฤดูหนาว เพราะแสงธรรมชาติมีผลโดยตรงต่อสมองของเรา โดยเฉพาะในส่วนที่ควบคุมสารสำคัญอย่าง เซโรโทนิน (serotonin) และ เมลาโทนิน (melatonin) ซึ่งเกี่ยวกับอารมณ์และการนอนหลับ เมื่อร่างกายได้รับแสงน้อยลง สมองจะผลิตสารเหล่านี้ลดลง ส่งผลให้เรารู้สึกเศร้า หม่น เบื่อโลก หรือลุกไม่ไหวแม้แต่จะออกไปหน้าบ้าน

จากผลสำรวจโดย CivicScience ในสหรัฐฯ พบว่า 65% ของคนอายุ 18-24 ปี (กลุ่ม Gen Z) เคยประสบกับอาการ SAD ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และมีแนวโน้มได้รับการวินิจฉัยสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ซึ่งเหตุผลก็ไม่ซับซ้อนอะไร เพราะเนื่องจากไลฟ์สไตล์ของ Gen Z มักติดหน้าจอ ใช้ชีวิตในร่ม และอยู่กับแสงจากจอมากกว่าแสงจากธรรมชาติ


หากยังไม่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในภาวะนี้ อาจจะต้องสังเกตอาการตัวเองมาเข้าข่ายไหม ยกตัวอย่างเช่น รู้สึก หมดแรง เบื่ออาหาร หรือบางทีก็กินมากผิดปกติ, ขาดแรงจูงใจ ไม่อยากทำสิ่งที่เคยสนุก, ชอบเก็บตัวไม่อยากคุยกับใคร, หงุดหงิดหรือร้องไห้แบบไม่มีสาเหตุ อาการเหล่านี้ ถ้าคุณรู้สึกติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศครึ้ม ฝนตก หรือแสงแดดน้อย ควรลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยาเพื่อทำการบำบัดอย่างถูกต้อง 

แต่ถ้าเบื้องต้นกับการดูแลความรู้สึกตัวเอง อาจเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่บรรยากาศสภาพแวดล้อมที่คุณอยู่ให้สดใสมากขึ้น หมั่นออกกำลังกายเพื่อลดความเครียด และพยายามไม่เสพคอนเทนต์ที่กระตุ้นให้เกิดความเศร้าจนเกินไป อาจจะเลือกเพลง หรือหนังที่ให้อารมณ์สนุกสนานมากขึ้น แต่ถ้าอาการยังไม่หาย อย่างที่บอกไปตอนแรกคือ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยตรง อย่ารอ หรือผลัดไปเรื่อยๆ จนอาการหนักมากกว่านั้น 

สุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่สิ่งที่ต้องรอให้แย่ก่อนถึงจะใส่ใจ การเข้าใจตัวเองในวันที่อารมณ์หม่น คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่สำคัญมาก อย่าลืมว่าแม้ฟ้าจะครึ้ม ฝนจะตก แสงอาทิตย์อาจจะไม่มาในวันนี้ แต่แสงเล็กๆ จากการดูแลใจตัวเอง ก็คือสิ่งที่ช่วยให้เราไปต่อได้ในวันพรุ่งนี้

TAGS: #Mentalhealth #สุขภาพจิต #SAD #SeasonalAffectiveDisorder #สุขภาพจิตในGENZ