เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ประเทศไทยไม่มีการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ จากสัตว์สู่คน กระทั่ง 24 เมษายน 2568 พบชายวัย 53 ปี ตรวจเจอเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด
ย้อนไปช่วงที่ประเทศไทย มีการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ (ANTHRAX) ตามข้อมูลจากกองระบาดวิทยา ในปี 2538 มีการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อมากสุด 102 ราย ในปี 2542 พบผู้ป่วยติดเชื้อ 14 ราย และสุดท้ายในปี 2543 พบผู้ป่วยติดเชื้ออีก 15 ราย
ด้วยการทิ้งช่วงห่างของเวลา แม้จะมีข่าวการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ใน จ.มุกดาหาร เมื่อเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนอาจยังไม่รู้จักหรือเกิดความตระหนักต่อโรคนี้อย่างเพียงพอ
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ และติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่นๆ โดยในคนส่วนใหญ่จะติดต่อทาง “ผิวหนัง” ผ่านการสัมผัสสัตว์ป่วย หรือผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ได้มาจากสัตว์ป่วย พบมากในกลุ่มอาชีพเกษตรกรรม โดยจะใช้เวลา 12 ชั่วโมง ถึง 7 วัน ตั้งแต่รับเชื้อจนถึงขั้นแสดงอาการ
ไม่เพียงแต่เป็นโรคติดต่อเท่านั้น แต่แอนแทรกซ์ยังเคยถูกใช้เป็นอาวุธ เป็นการนำแบคทีเรียบาซิลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) มาใช้เป็นอาวุธชีวภาพในการทำสงครามชีวภาพ และการก่อการร้ายทางชีวภาพ โดยเชื้อแอนแทรกซ์จะถูกแพร่กระจายทางอากาศเพื่อโจมตี ทำให้เกิดการติดเชื้อจากการหายใจ
เมื่อใครได้รับเชื้อ อาการของโรคจะแสดงออกตามแต่ละรูปแบบของการรับเชื้อ โดยลักษณะแรก คือ “แอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง” เริ่มจากการเป็นตุ่มแดงบริเวณที่รับเชื้อ พบมากบริเวณนอกร่มผ้า โดยโรคนี้จะมีแผลลักษณะเฉพาะ เพราะตุ่มที่พบช่วงแรกจะเป็นตุ่มน้ำใส แล้วจึงเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตุ่มหนอง จากนั้นจะแตกออกเป็นแผลยกขอบ ตรงกลางจะบุ๋ม และมีสีดำ หากได้รับการรักษาช้า จะค่อนข้างหายยาก
ต่อมา “แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินอาหาร” เกิดจากการกินเนื้อหรือเครื่องในของสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ และไม่มีการปรุงสุก โดยจะแสดงอาการ มีไข้ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้อาเจียน หากไม่รีบรักษา “จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผลที่ต่อมน้ำเหลืองของขั้วไส้และลำไส้ส่วนต่างๆ มีน้ำในช่องท้อง และปวดท้องอย่างรุนแรง”
และสุดท้าย การติดเชื้อที่มีอัตราการเสียชีวิตมากถึง 80-90% คือ “แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินหายใจ” มักพบในผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับขนสัตว์ หรือกระดูกป่น ที่มีการฟุ้งกระจาย โดยผู้ที่รับเชื้อจะมีอาการเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หายใจลำบาก และหากทิ้งไว้นาน 3-5 วัน หลังรับเชื้อ จะถึงขั้นเสียชีวิตจากอาการระบบหายใจล้มเหลว
อย่างไรก็ตาม ลักษณะการติดเชื้อข้างต้น เป็นการติดต่อจาก “สัตว์สู่คน” เท่านั้น และไม่สามารถติดต่อจาก “คนสู่คน” ได้
แต่ไม่ว่าจะติดต่อจากช่องทางใด หากไม่อยากให้เชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย การป้องกันที่สามารถทำได้ คือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์กินหญ้า เช่น โค กระบือ แพะ แกะ หรือควรล้างมือ ทำความสะอาดร่างกายให้สะอาด หลังสัมผัสกับสัตว์ รวมไปถึงเรื่องของการกิน ควรเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ ที่ได้รับรองว่าเป็นอาหารปลอดภัย และหากพบสัตว์ที่เสียชีวิตผิดปกติ ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยทันที
จนถึงตอนนี้ มีผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ ที่ยืนยันติดเชื้อสะสมแล้ว 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 2 ราย ตามข้อมูลล่าสุด (8 พ.ค.68) ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้เคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับกรมควบคุมโรค และสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย