ฟังเสียงกลไกหัวใจ ทำไมการผิดหวังในความรัก ถึงผลักให้คิดปลิดชีพตัวเอง

ฟังเสียงกลไกหัวใจ ทำไมการผิดหวังในความรัก ถึงผลักให้คิดปลิดชีพตัวเอง
เมื่อความรักสิ้นสุด หลายคนอาจรู้สึกเหมือนโลกทั้งใบพังทลาย บทความนี้เราจะพาไปสำรวจกลไกทางจิตใจของผู้ที่ผิดหวังในความรัก พร้อมแนะแนวทางเยียวยาใจอย่างอ่อนโยน ก่อนที่ความเจ็บจะกลายเป็นความคิดอยากจบชีวิต

เมื่อวิมานกลายเป็นหนาม ความสัมพันธ์ที่เคยหวานกลายเป็นจืดชืด สิ่งนี้บางคนอาจจะเรียกมันว่า "ความทุกข์" เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่บางคนก็อาจจะยังเรียกมันว่า "ความรัก" ถ้าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นได้มีการปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน 

ความสัมพันธ์ของคู่รักที่พอไปกันไม่ได้ ความรุนแรงที่มีหลากหลายรูปแบบก็มักจะตามมา ทั้งทำร้ายกันเอง ทำร้ายคนรอบข้าง ไปจนถึงการทำร้ายตัวเอง ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มากกว่า 90% ของผู้ที่เลือกจะจบชีวิตตัวเองนั้นมีภาวะซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่นร่วมอยู่ และหนึ่งในตัวกระตุ้นที่สำคัญคือ “การสูญเสียความสัมพันธ์ที่มีความหมาย” โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและ LGBTQ+ ที่เผชิญกับความเปราะบางทางสังคมและครอบครัว

เหตุผลที่ว่าทำไมการผิดหวังในความรักจึงเจ็บปวดถึงขั้นอยากจากโลกนี้ไป ในทางจิตวิทยาและข้อมูลวิชาการจากทั่วโลกได้ระบุไว้ว่า

ความรักมักเป็นแหล่งพลังใจที่สำคัญของมนุษย์ มันเติมเต็มความต้องการในการ "เป็นที่รัก" และ "เป็นที่ยอมรับ" แต่เมื่อความสัมพันธ์จบลง หลายคนกลับรู้สึกเหมือนไม่มีใครต้องการอีกต่อไป


โดยเฉพาะในกลุ่ม LGBTQ+ ที่บางคนอาจมีความสัมพันธ์เดียวในชีวิตที่ “ยอมรับตัวตน” ได้จริง การสูญเสียจึงไม่ใช่แค่คนรัก แต่คือ ความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า  ทั้งนี้ทาง Rutgers University พบว่าการถูกปฏิเสธในความรักยังเป็นการกระตุ้นสมองในบริเวณเดียวกับตอนที่คนเราพยายามจะเลิกยาเสพติด ซึ่งนี่คือสาเหตุว่าทำไมบางคนถึง “เจ็บจนแทบทนไม่ไหว” หลังการเลิกรา


อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ การสูญเสีย “ตัวตนร่วม” เพราะในความสัมพันธ์ระยะยาว หลายคู่มักไม่ใช่แค่ “ฉัน” กับ “เธอ” แต่กลายเป็น “เรา” ที่มีตัวตนร่วมกัน วางแผนอนาคต สร้างความทรงจำ และกำหนดตัวเองผ่านอีกคน และเมื่อความสัมพันธ์จบลง จึงไม่ใช่แค่การเสียคนรัก แต่คือการสูญเสียอัตลักษณ์ของตนในฐานะ "คนที่เป็นที่รัก" ยิ่งถ้าความสัมพันธ์เดิมที่เป็นอยู่มีความเปราะบาง ประกอบกับเดิมทีคู่รักนั้นมีภาวะซึมเศร้าแฝงอยู่ก่อนแล้ว การถูกปฏิเสธหรือเลิกรา อาจกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่กระตุ้นภาวะซึมเศร้าในคนที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว 


หลายคนผูกความฝัน เป้าหมาย และแผนชีวิตไว้กับคนรัก การแต่งงาน การมีบ้าน และการแก่ไปด้วยกัน แต่เมื่อภาพนั้นพังทลาย ความรู้สึกว่า “ฉันจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม?” อาจเข้ามาแทนที่ได้ง่าย โดยข้อมูลจาก WHO ยังยืนยันว่า ความผิดหวังในความรักคือหนึ่งในการจุดชนวนสำคัญที่พาใครบางคนเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าและคิดสั้นอยากจบชีวิตตัวเอง

สำหรับแนวทางการแก้ไขเบื้องต้นเมื่อผิดหวังในความรักจนตัวเองถึงขั้นรู้สึกดิ่งลงมากๆ จากงานวิจัยและแนวทางสุขภาพจิตสากลโดย James Pennebaker พบว่า การเขียนถึงความรู้สึกที่เจ็บปวดอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้จริง เพียงเขียน วันละ 10–20 นาที โดยไม่ต้องเซ็นเซอร์ความคิด และโฟกัสที่ความรู้สึกของตนเอง ไม่ใช่แค่เรื่องราวของอีกฝ่ายว่าเขาทำอะไรหรือเขาคิดกับเราอย่างไร

ที่สำคัญคืออย่าตัดขาดจากสังคมหรืออยู่ลำพังมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้ความคิดยังวนเวียนกับความเศร้า  ลองสร้างตารางชีวิตให้ตัวเองมีกิจวัตรประจำวันชั่วคราว อยู่กับธรรมชาติและหากิจกรรมที่ชอบสักอย่างทำ เพื่อให้สมองได้คิดอะไรที่ไม่จำเจ และลดความเครียดลงได้

แต่ถ้าหากยังไม่ไหว สิ่งสำคัญคือต้องยอมรับว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้น มันคือความจริง และความรู้สึกที่เกิดขึ้นอยู่นั้นคือ สิ่งที่ตัวเองต้องได้รับการเยียวยา คุณสามารถขอความช่วยเหลือทางสุขภาพจิตได้ และเข้ารับการบำบัดได้ เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่คือความกล้าที่จะดูแลตัวเอง 

ข้อมูลเพิ่มเติม : 

  • สายด่วนสุขภาพจิต 1323 (ฟรี ตลอด 24 ชม.)
  • แอปฯ Ooca หรือ Raksa สำหรับพูดคุยกับนักจิตวิทยาออนไลน์
  • ศูนย์สุขภาพจิต โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนทั่วประเทศ

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง:

WHO – Suicide Factsheet (2023)

Rutgers University – Romantic Rejection and Brain Study

Journal of Affective Disorders (2023)

APA – The Role of Social Support in Mental Health

Mental Health Foundation UK – LGBTQ+ and Mental Health

National Library of Medicine – PMC10371140
 

TAGS: #Mental #health #โรคซึมเศร้า #อกหักเป็นซึมเศร้า #ฆ่าตัวตาย