ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ “โรคต้อกระจก” คนอายุน้อยก็สามารถเป็นได้

ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ “โรคต้อกระจก” คนอายุน้อยก็สามารถเป็นได้
มองไม่ชัด ตาขุ่นมัว เสี่ยง “โรคต้อกระจก” แพทย์ รพ.วิมุต เผย อายุเยอะเสี่ยงเป็น รีบป้องกันก่อนสูญเสียการมองเห็น

โรคต้อกระจก ภาวะที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้สูงวัยเท่านั้น เพราะคนอายุน้อยก็สามารถเป็นต้อกระจกได้จากปัจจัยเสี่ยงที่อยู่ใกล้ตัวโดยที่อาจไม่รู้มาก่อน เช่น การสัมผัสรังสี UV เป็นเวลานาน การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาบางประเภท ต้อกระจกทำให้เลนส์ตาขุ่นมัว ส่งผลต่อการมองเห็น และหากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนสูญเสียการมองเห็นได้

พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคต้อหินจากศูนย์จักษุ โรงพยาบาลวิมุต อธิบายถึงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดต้อกระจกในคนอายุยังน้อย รวมถึงสัญญาณเตือนและแนวทางป้องกัน ก่อนที่สายตาจะพร่ามัวจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต

ต้อกระจกคืออะไร

ต้อกระจก (Cataracts) เป็นภาวะที่เกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ที่ปกติควรใสและโปร่งแสงเกิดความขุ่นมัว ส่งผลให้แสงไม่สามารถผ่านไปยังประสาทตาได้อย่างเต็มที่ ทำให้มองเห็นไม่ชัดหรือพร่ามัว

รังสี UV หนึ่งในตัวการเร่งให้เกิดต้อกระจก

แม้ต้อกระจกจะเป็นภาวะที่พบได้ในทุกคน แต่อัตราการเกิดจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยง โดยทั่วไปแล้ว มักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และเริ่มส่งผลกระทบต่อการมองเห็นอย่างชัดเจนเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม คนที่อายุน้อยก็สามารถเป็นต้อกระจกได้หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่จัด เคยผ่าตัดดวงตา ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรือมีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อสุขภาพตา รวมถึงการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา

พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ อธิบายเพิ่มเติมว่า หนึ่งในปัจจัยที่มักถูกมองข้ามคือการเผชิญกับแสงแดดเป็นเวลานานโดยไม่มีการป้องกัน เนื่องจากรังสี UV โดยเฉพาะรังสี UVA สามารถเร่งให้เลนส์ตาเสื่อมได้โดยตรง โดยจะกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระที่ทำให้โปรตีนในเลนส์ตาจับตัวเป็นก้อนและทำให้เลนส์ขุ่นมัว ดังนั้น ผู้ที่ต้องออกแดดบ่อย ๆ ควรสวมแว่นกันแดดที่มีการเคลือบสารป้องกันรังสี UV เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดต้อกระจก

สัญญาณเตือนของต้อกระจก

อาการของต้อกระจกมักเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้หลายคนไม่ทันสังเกต โดยอาการที่พบบ่อยคือ การมองเห็นพร่ามัว มองไม่ชัดในที่แสงจ้า หรือเห็นแสงกระจายเป็นวงเมื่อมองไปยังแหล่งกำเนิดแสง นอกจากนี้ หากค่าสายตาเปลี่ยนแปลงบ่อยหลังจากคงที่มานาน ก็อาจเป็นสัญญาณของต้อกระจกได้

พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ กล่าวเสริมว่า หากนำไฟฉายส่องเข้าไปที่ดวงตา ผู้ที่มีภาวะต้อกระจกจะเห็นเงาของม่านตาตกลงบนเลนส์แก้วตา ส่วนคนที่มีสุขภาพตาปกติ แสงจะสามารถผ่านไปได้โดยไม่มีเงาปรากฏ ดังนั้น หากเริ่มมีอาการผิดปกติ ควรเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย

การรักษาต้อกระจกในปัจจุบัน

การวินิจฉัยต้อกระจกสามารถทำได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม และในอนาคตอาจมีการนำ AI มาช่วยในการวินิจฉัยจากภาพถ่ายดวงตา ซึ่งจะช่วยให้การคัดกรองเบื้องต้นสะดวกขึ้น นอกจากนี้ AI ยังถูกนำมาใช้คำนวณค่าเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย รวมถึงช่วยแจ้งเตือนจุดอันตรายในระหว่างการผ่าตัด

พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ อธิบายว่า วิธีรักษาต้อกระจกขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ หากยังเป็นเพียงเล็กน้อย อาจใช้วิธีติดตามอาการก่อน หรือใช้ยาหยอดตากลุ่มต้านอนุมูลอิสระเพื่อชะลอการเกิดต้อกระจก แต่ยานี้ไม่ได้ช่วยให้หายขาด อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม

ซึ่งในปัจจุบันมีเลนส์เทียมหลายประเภทให้เลือก โดยบางรุ่นสามารถช่วยให้มองเห็นได้หลายระยะและลดแสงรบกวน แม้ว่าจะยังไม่สามารถทดแทนเลนส์ธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีการใช้เลเซอร์ช่วยในการผ่าตัด โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีถุงหุ้มเลนส์อ่อนแอ หรือเลนส์แข็งมากเกินกว่าที่จะสลายได้ด้วยคลื่นความถี่สูง

การผ่าตัดต้อกระจกปลอดภัยแค่ไหน

ปัจจุบันการผ่าตัดต้อกระจกมีอัตราความสำเร็จสูงถึง 97-99% โดยแพทย์จะประเมินก่อนว่าผู้ป่วยเหมาะสมกับการผ่าตัดหรือไม่ สำหรับผู้ที่มีภาวะจอตาเสื่อมหรือดวงตาได้รับความเสียหายมาก อาจไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ หรือในบางกรณีที่จำเป็น แพทย์อาจพิจารณาให้เปลี่ยนกระจกตาพร้อมกับรักษาต้อกระจกในครั้งเดียว

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้หลังการผ่าตัดคืออาการตาอักเสบและตาแห้ง ซึ่งมักหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ หลังผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำเข้าตา งดล้างหน้า และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดการกระแทก เพื่อให้แผลหายสนิทและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากเกิดการติดเชื้อ อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดนำเลนส์เทียมออก ซึ่งจะเพิ่มความยุ่งยากในการรักษา

ดูแลดวงตาให้ดี ป้องกันต้อกระจกได้ตั้งแต่วันนี้

พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ แนะนำว่า ต้อกระจกสามารถเกิดได้กับทุกวัย ดังนั้น ควรเริ่มดูแลสุขภาพดวงตาตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยหมั่นตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากต้องออกแดด ควรสวมแว่นกันแดดที่มีการเคลือบสารกันรังสี UV และไม่ควรซื้อยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์มาใช้เอง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกได้

“สิ่งสำคัญคือการสังเกตการมองเห็นของตัวเองอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติ เช่น มองไม่ชัดหรือพร่ามัว ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ ดวงตามีเพียงคู่เดียว เราควรดูแลให้ดีที่สุด เพื่อให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนไปอีกนาน” พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ กล่าวทิ้งท้าย

TAGS: #ต้อกระจก #ตา