เช็กลิสต์! พฤติกรรมแบบไหนที่ก่อให้เกิด “พุง”

เช็กลิสต์! พฤติกรรมแบบไหนที่ก่อให้เกิด “พุง”
กินแบบไหน กินตอนไหน หรือพฤติกรรมใดที่ก่อให้เกิดพุง เพราะแบบนี้หรือเปล่า แม้จะผอม แต่ก็แอบมีพุงด้วย

ไม่กินมื้อเช้า

การงดมื้อเช้าจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นในการเสริมสร้างพลังงานและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สมองไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย และยังไปเพิ่มความหิวจนเรากินหนักขึ้นในมื้อถัดไป กลายเป็นว่าอ้วนกว่าเดิม

กินใกล้เวลานอน

เพราะร่างกายต้องใช้เวลาในการย่อยอาหารในกระเพาะและลำไส้เล็กประมาณ 2-3 ชั่วโมง หากกินปุ๊บแล้วนอนปั๊บ ร่างกายของเราก็จะปรับโหมดเข้าสู่การพักผ่อน ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลงและเกิดการสะสมพลังงานในรูปแบบไขมันมากยิ่งขึ้น

อดอาหารลดความอ้วน

การอดอาหารช่วยให้น้ำหนักลดลงแค่เพียงชั่วคราวและยังเสี่ยงที่น้ำหนักจะเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง หรือที่เรียกว่าภาวะ “โยโย่ เอฟเฟค” เพราะการอดอาหารจะทำให้ร่างกายปรับตัวให้ใช้พลังงานน้อยลง และเมื่อกินอาหารเข้ามาอีกก็จะเกิดการสะสม

กินไปด้วยทำอย่างอื่นไปด้วย

ทำงานไปก็หยิบขนมเข้าปากไป ดูละครไปก็หยิบป๊อปคอร์น กินไปด้วยแบบนี้เตรียมตัวไว้ได้เลยไขมันกำลังจะมาแน่นอน เพราะปกติเรามักจะมุ่งความสนใจไปที่กิจกรรมหลักที่กำลังทำ โดยมีการกินเป็นกำลังเสริมที่เราลืมนึกถึง เพลินๆ แบบนี้จะไม่ได้อ้วนได้ยังไงไหว

น้ำตาลใกล้คน ใครเล่าจะทนได้

น้ำตาลในที่นี้รวมถึงอาหารจำพวกแป้งด้วย เพราะน้ำตาลที่เหลือใช้จะแปรเปลี่ยนเป็นไขมัน อาหารรอบตัวเราก็เต็มไปด้วยน้ำตาลและแป้ง พลิกฉลากหรือตารางช้อมูลโภชนาการดูได้ง่ายๆ ขนาดน้ำผลไม้ที่ว่าเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ยังมีน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ที่ 15 กรัม! แล้วแต่ละวันเราดื่มแค่น้ำผลไม้ซะที่ไหน

 

ข้อมูล หนังสือชีวิตใหม่ไร้พุง : How to สลายน้ำหนักด้วยหลัก 3 อ. จากศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

TAGS: #อ้วน #พุง