จีนพบเด็ก 1 ขวบ ผ่าตัด "แฝดปรสิต" ฝังตัวในสมอง!

จีนพบเด็ก 1 ขวบ ผ่าตัด
คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น เซี่ยงไฮ้ ทำการผ่าตัดสมองเด็กวัย 1 ขวบเอา แฝดปรสิต ที่ฝังตัวในสมองออก สามารถพบทารกแรกเกิดที่มีแฝดปรสิตติดตัวมาได้ทุก 1 ใน 500,000 ราย แต่ในสมองพบน้อยมาก

คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) ในนครเซี่ยงไฮ้ของจีน รายงานกรณีศึกษาที่แปลกประหลาด โดยระบุว่าพบ “แฝดปรสิต” ซึ่งก็คือตัวอ่อนที่อาศัยอยู่ในร่างกายของพี่หรือน้องฝาแฝดของตน แต่กรณีล่าสุดนี้แฝดปรสิตกลับไปอยู่ในตำแหน่งพิสดารที่โพรงสมองของทารกหญิงวัย 1 ขวบ

บีบีซีรายงานว่า วารสาร Neurology ฉบับเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว ระบุว่าทารกหญิงวัย 1 ขวบ ถูกนำส่งโรงพยาบาลเนื่องจากมีภาวะศีรษะโตและการทำงานของระบบประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวผิดปกติ

ผลการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT scan) ชี้ว่าเนื้อสมองถูกกดทับและมีของเหลวสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในกะโหลกศีรษะ เนื่องจากมีการเติบโตของสิ่งแปลกปลอมบางอย่างภายในโพรงสมอง

ทีมแพทย์ระบุว่า แฝดปรสิตดังกล่าวเป็นตัวอ่อนของทารกในครรภ์ที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ แต่ก็มีกระดูกสันหลัง กระดูกขาสองข้าง และส่วนของร่างกายท่อนบนที่พัฒนาไปพอสมควร ทั้งยังมีแขนงที่งอกออกมาเป็นลักษณะคล้ายกับนิ้วมือด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจากแพทย์ทำการผ่าตัดเอาแฝดปรสิตออกจากศีรษะของทารกหญิงคนดังกล่าว ได้พบร่องรอยความผิดปกติของกระดูกและไขสันหลังที่เรียกว่า Spina Bifida ซึ่งจะทำให้แฝดปรสิตผู้นี้ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะและการเดินได้ หากมีโอกาสเจริญเติบโตจนคลอดออกมาเป็นทารกตามปกติ

จากเว็บไซต์อินดิเพนเด็นต์ ตามรายงานของ IFL Science กรณีของทารกในครรภ์เช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์แฝด เมื่อกลุ่มของเซลล์ที่แบ่งตัวซึ่งเกิดจากไข่ที่ปฏิสนธิเรียกว่าบลาสโตซิสต์ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเหมาะสม เป็นผลให้หนึ่งในตัวอ่อนระยะแรกถูกห่อหุ้มด้วยอีกตัวหนึ่ง

เซลล์ที่จำลองแบบของแฝดอีกคู่ห่อหุ้มไว้ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาได้ แต่ยังคง "มีชีวิต" เนื่องจากได้รับเลือดไปเลี้ยง “ส่วนที่เชื่อมต่อกันจะพัฒนาเป็นสมองส่วนหน้าของโฮสต์ในครรภ์ และห่อหุ้มตัวอ่อนอีกตัวระหว่างการพับแผ่นประสาท” 

ไม่ใช่ภาพสแกนของกรณีในข่าว

สำหรับสาเหตุของการเกิดแฝดปรสิตนั้น มาจากความผิดพลาดในการแบ่งเซลล์ของตัวอ่อนในครรภ์ระยะบลาสโตซิสต์ (blastocyst) โดยตัวอ่อนในขั้นนี้ไม่สามารถแบ่งตัวแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ทำให้ตัวอ่อนตัวหนึ่งถูกห่อหุ้มด้วยเซลล์ของพี่หรือน้องฝาแฝดที่เจริญเติบโตเร็วกว่า

ร่างของแฝดปรสิตนี้คล้ายกับเนื้องอกที่มีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงจำนวนมาก แม้เขาหรือเธอจะไม่เติบโตไปเป็นทารกโดยสมบูรณ์ แต่ก็ถือว่ายังมีชีวิตอยู่ในร่างของแฝดอีกคนนั่นเอง

แม้การเกิดแฝดปรสิตที่สมองนั้นหาได้ยากมาก แต่ก็พบก่อนหน้านี้เช่นกัน โดยที่ผ่านมามีรายงานตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับโลกเพียงไม่ถึง 20 กรณีเท่านั้น โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถพบทารกแรกเกิดที่มีแฝดปรสิตติดตัวมาได้ทุก 1 ใน 500,000 ราย แต่ส่วนใหญ่มักพบกรณีแฝดปรสิตในช่องท้องบ่อยครั้งกว่า

ครั้งล่าสุดที่มีผู้รายงานกรณีแฝดปรสิตในสมอง เกิดขึ้นเมื่อปี 1982 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนของอังกฤษ โดยแพทย์พบแฝดปรสิตขนาด 14 เซนติเมตร ในสมองของทารกอายุ 6 สัปดาห์

ในปี 1997 มีการค้นพบทารกในครรภ์ในช่องท้องของเด็กชายวัยรุ่นชาวอียิปต์ ซึ่งมันถูกฝังไว้เป็นเวลา 16 ปีและเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แพทย์ในเมืองรันจี รัฐฌารขัณฑ์ ของอินเดีย ได้นำตัวอ่อน 8 ตัวออกจากท้องของทารกหญิงวัย 21 วัน แพทย์กล่าวว่าขนาดของทารกในครรภ์มีตั้งแต่ 3 ซม. ถึง 5 ซม. และเข้าไปอยู่ในถุงน้ำในช่องท้อง

TAGS: #จีน #แฝด #แฝดปรสิต