ยุงลายยังก่อเชื้อไวรัสซิกาในหญิงท้อง เสี่ยงลูกพิการหัวเล็ก หนำซ้ำยังพบข้อมูลบางรายงานเชื้ออยู่ในอสุจิกว่า 3 เดือน
จากรายงาน CIMjournal โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2490 ในลิงกัง (Sentinel rhesus macaque) ในป่าซิกา ประเทศอูกานด้า โดยรายงานมีการติดต่อในคนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 ในประเทศไนจีเรีย หลังจากนั้นประมาณ 57 ปี ไม่เคยมีรายงานการระบาด ครั้งใหญ่
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานล่าสุดในประเทศไทย ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2559 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ยืนยันทั้งหมด 441 ราย และในปัจจุบันยังมีการระบาดของการติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างต่อเนื่อง ในทวีปอเมริกา หมู่เกาะในแถบแคริบเบียน และแปซิฟิก ดังนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงประกาศให้การติดเชื้อไวรัสซิกา และภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับประเทศ
อาการ
ระยะฟักตัวของโรคไข้ซิกา ยังไม่ทราบแน่ชัดแต่คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 – 10 วัน อาการของโรคไข้ซิกา ใกล้เคียงกับโรคที่เกิดจากอาร์โบไวรัส (Arbovirus) ชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงเพียง 20 – 25% ของผู้ที่ได้รับการติดเชื้อ
อาการแสดงหลัก คือ ไข้ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ และปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ
- โดยอาการที่พบได้มากที่สุด ได้แก่ ผื่นตามร่างกาย (90%)
- อาการคัน ไข้ (65%)
- ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ (65%) โดยมักจะเป็นในข้อขนาดเล็ก
- เยื่อบุตาอักเสบ (55%)
- อาการอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ สามารถพบได้เช่นกัน
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาจำเพาะที่ได้ผลชัดเจน การรักษาหลัก คือ รักษาตามอาการ โดยการให้สารน้ำทดแทน และการรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการปวด หากอาการไม่ดีขึ้นผู้ป่วยควรปรึกษา และทำตามคำแนะนำของแพทย์
การป้องกัน
การป้องกันและการควบคุมโรค ขึ้นอยู่กับการลดจำนวนของยุงตามแหล่งต่าง ๆ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ รวมถึงการป้องกันตนเองไม่ให้โดนยุงกัด ซึ่งสิ่งนี้สามารถทำได้โดย
- ใช้ยากำจัดแมลง หรือยาทาป้องกันยุง
- ใช้ฉากกั้น การปิดประตู ปิดหน้าต่าง การใช้มุ้ง
- การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยการทำความสะอาด การเทน้ำทิ้ง และถ้าหากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อให้ปรึกษาแพทย์
ในแง่ของการติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น มีรายงานการศึกษาการตรวจไวรัสซิกาในสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของร่างกาย พบว่า ในน้ำอสุจินั้นสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสได้นานถึง 3 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม คำแนะนำของ CDC4 ในการเว้นการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ในปัจจุบันยังแนะนำให้เว้นในผู้หญิง 2 เดือน และผู้ชาย 6 เดือน หลังมีอาการแสดงของโรคตามลำดับ