เปิดศึกแย่งชิงอาเซียน พันธมิตรสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี ประกาศจุดยืนท้าจีน

เปิดศึกแย่งชิงอาเซียน พันธมิตรสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี ประกาศจุดยืนท้าจีน
เปิดแถลงการณ์พันธมิตรสามชาติแห่งแปซิฟิกที่ไม่เอ่ยถึงจีน แต่พูดถึงหมากสำคัญในเกมชิงอำนาจกับนั่นคือ อาเซียน

ช่วงกลางเดือนสิงหาคม เรา ผู้นำของญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐอเมริกา ประชุมกันที่แคมป์เดวิด (Camp David) ที่พักของประธานาธิบดีสหรัฐ "เพื่อเปิดตัวยุคใหม่ของความร่วมมือไตรภาคี"

การหารือครั้งนี้ไม่ไกลตัวคนไทยเลย ตรงกันข้ามมันจะกระทบต่อชีวิตคนไทยเอาง่ายๆ เพราะในแถลงการณ์มีการเอ่ยถึงอาเซียนบ่อยครั้งจนผิดสังเกต ทั้งๆ ที่เป็นการประชุมของชาติที่ไม่ได้อยู่ในอาเซียนเลยสักชาติเดียว

ที่น่าตกใจก็คือ สื่อในประเทศไทยกลับไปชูประเด็นว่าการประชุมครั้งนี้เน้นที่การรับมือเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นการมองประเด็นที่พลาดมหันต์ เพราะในแถลงการณ์มีเรื่องเกาหลีเหนือก็จริง แต่มันเป็นประเด็นที่เอามาอำพรางเจตนาที่แท้จริงต่างหาก

เจตนาที่แท้จริงคือเกมชิงอำนาจในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ยึดอาเซียนให้ได้ เพราะหาไม่แล้วอาเซียนจะกลายเป็นฐานที่มั่นของจีน 

และจะต้องก่อกวนไม่ให้จีนควบคุมทะเลจีนใต้ให้จงได้ หาไม่แล้วพันธมิตรสหรัฐจะถูกแยกออกเป็น 2 เสี่ยง 

ในแถลงการณ์การประชุมร่วมที่ตั้งชื่ออย่างสวยหรูว่า "จิตวิญญาณแห่งแคมป์เดวิด" (The Spirit of Camp David) ช่วงที่เอ่ยถึงอาเซียน พวกผู้นำเหล่านี้ประกาศว่า 

"เรายืนยันอย่างสุดใจในความเป็นศูนย์กลางและความสามัคคีของอาเซียนและการสนับสนุนของเราต่อการสร้างสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาคที่นำโดยอาเซียน"

แค่ประโยคแรกของแถลงการ์เรื่องอาเซียนก็เล่นเอามึนกันไปหมด เพราะใช้คำว่า "สถาปัตยกรรมระดับภูมิภาค" (regional architecture) หากไม่ตั้งใจคิดตามให้ดี คงจะเข้าใจว่าสามผู้นำคงคิดจะให้อาเซียนสร้างตึกแล้วกระมัง?

แต่มันไม่ใช่แบบนั้น สถาปัตยกรรมที่ว่านี้เป็นการเล่นคำให้สวยเก๋ แปลเป็นภาษามนุษย์ทั่วไปก็คือ ต้องการให้อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแนวร่วมสกัดกั้นจีนนั่นเอง อย่างที่แถลงการณ์บอกเป็นนัยๆ ในบรรทัดต่อมาว่า 

"เรามุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนในอาเซียน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการอย่างเข้มแข็งและกระแสหลักในภาพรวมของอาเซียนเกี่ยวกับอินโดแปซิฟิก .... และการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มแม่น้ำโขง" 

เอาแค่เรื่องความมั่นคงด้านน้ำในแม่น้ำโขงก่อน ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่านี่เป็นจุดอ่อนหนึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน

อาเซียนนั้นแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรกคือภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ (ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม) และภาคพื้นหมู่เกาะกับคาบสมุทร (มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน)

อาเซียนที่เป็นประเทศหมู่เกาะทะเลาะกับจีนเรื่องน่านน้ำทะเลจีนใต้ 

อาเซียนที่เป็นแผ่นดินใหญ่บาดหมางกับจีนเรื่องแม่น้ำโขง เรื่องแม่น้ำโขงนี้ทำให้ทัศนะคติของคนไทยต่อจีนเลวร้ายลงเรื่อยๆ เพราะต้องมาระแวงว่าเมื่อไรจีนจะระบายน้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขงตามใจชอบ ทำให้ระดับน้ำไม่เป็นธรรมชาติ จนกระทบต่อวิถีชีวิตคนไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามอย่างรุนแรง 

สหรัฐรู้ถึงจุดอ่อนนี้ จึงตั้งศูนย์เฝ้าระวังเขื่อนแม่น้ำโขง หรือ Mekong Dam Monitor ขึ้นมา ในแง่หนึ่งก็เพื่อช่วยอาเซียนระวังตัวเองจากเขื่อนจีน แต่ในแง่หนึ่งมันคือเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเร่งให้อาเซียนตีห่างจากจีน

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจ ถ้าสหรัฐ เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับลุ่มน้ำโขงเลยจะมากังวลอะไรกับแม่น้ำโขงจนต้องมีแถลงการณ์อะไรแบบนี้ นั่นก็เพราะมันมีปัญหาทางการเมืองแบบนี้นั่นเอง

ส่วนอาเซียนในภาคหมู่เกาะก็ไม่รอด เพราะเป็นอาหารอันโอชะให้มหาอำนาจที่ต้องการฉวยโอกาสที่อาเซียนกับจีนทะเลบาะกันมาหลายสิบปีเรื่องทะเลจีนใต้

แถลงการณ์ของแคมป์เดวิดยังร่ายยาวด้วยคำหรูๆ ที่ฟังไม่ค่อยเข้าใจไปเรื่อยๆ (เพราะนี่คือการซ่อนเจตนาด้วยภาษาทางการทูต) ไปหยุดตรงที่บอกว่า "เราวางแผนที่จะประสานความพยายามในการเสริมสร้างศักยภาพในระดับภูมิภาคกับอาเซียนและประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขากำลังส่งเสริมซึ่งกันและกันและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อพันธมิตรที่ทรงคุณค่าของเรา ... และกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลไตรภาคีใหม่ของเรา"

เจ้าอาวุธใหม่ที่เรียกว่า Trilateral Maritime Security Cooperation Framework (กรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลไตรภาคี) นี่แหละที่ต้องระวังไว้ให้ดี มันมีหลักการตามที่แถลงการณ์ร่วมสรุปไว้อย่างนี้ว่า

"สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลีกำลังจัดตั้งกลไกการเดินเรือไตรภาคีเพื่อประสานการเสริมสร้างขีดความสามารถของพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก โดยมุ่งเน้นที่หน่วยยามฝั่งและการเสริมสร้างศักยภาพการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล และความตระหนักในพื้นที่ทางทะเล"

นี่คือการที่ทั้ง 3 ประเทศจะชนกับจีนเรื่องการชิงน่านน้ำจากจีนนั่นเอง แต่ยังอุตส่าห์ลากอาเซียนเข้ามายุ่งด้วย เพราะรู้ว่าอาเซียนภาคหมู่เกาะมีปัญหากับจีนเหมือนกัน 

หลังจากชวนอาเซียนมาชนกับจีนแล้ว สามชาตินี้ก็แถลงต่อกันติดๆ ว่าจะไม่ทนกับจีน และประณามว่า "พฤติกรรมที่เป็นอันตรายและก้าวร้าวที่สนับสนุนการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเราเพิ่งพบเห็น โดย (การกระทำของ) สาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้" 

และว่า "เราคัดค้านความพยายามฝ่ายเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ในน่านน้ำของอินโดแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราต่อต้านการเสริมกำลังทางทหารของพื้นที่ที่ถูกถมทะเลแล้วอ้างกรรมสิทธิ์ เช่น การใช้หน่วยยามฝั่งและเรือทหารรักษาการณ์ทางทะเลที่เป็นอันตราย"

การที่สามชาติ (ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับแถวนี้) จะไม่พอใจจีนก็ทำไป แต่ไม่ควรจะเข้ามายุ่งด้วย เพราะนี่คือเรื่องที่จีนกับอาเซียนจะต้องเคลียร์กันเอง 

การที่มือที่สาม ที่สี่ ที่ห้า เข้ามาร่วมวง เป็นสิ่งทีเกินความจำเป็น และจะทำให้บานปลายเปล่าๆ 

จีนเตือนแล้วเตือนอีกเรื่องที่สหรัฐกับชาติตะวันตกมักนำเรือและเครื่องบินโฉบไปโฉบมาในน่านน้ำที่จีนอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ วันไหนจีนไม่อดทนแล้วสอยเรือกับเครื่องบินประเทศห้าวๆ พวกนี้ วันนั้นอาเซียนเราจะทำอย่างไร? ตอบว่าคงไม่แคล้วต้องรบกับเขาไปด้วยล่ะมั้ง

สิ่งที่ชาติอื่นๆ นอกอาเซียนควรทำไม่ใช่ยุให้อาเซียนชนกับจีนแล้วดึงอาเซียนมาเป็นพวกชน (หรือใช้อาเซียนมารบแทนตน) แต่ควรจะเตือนจีนว่าทะเลจีนใต้ควรจะแบ่งที่ทางให้เป็นน่านน้ำสากลในส่วนที่ตกลงหาเจ้าของกันไม่ได้ ไม่ใช่ของชาติใดชาติหนึ่งไปทั้งหมด

นี่เป็นประเด็นปัญหาที่ต้องหาทางออกกันไปยาวๆ แต่พันธมิตรล้อมจีนพวกนี้ไม่อยากจะลากยาว ถึงได้ยั่วยุอยู่ตลอด การมีแถลงการณ์ที่แคมป์เดวิดก็เช่นกัน 

แถลงการณ์นี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Camp David Principles (หลักการแคมป์เดวิด) ตามมาด้วย ซึ่งหากใครศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะทราบว่าสหรัฐชอบกำหนดหลักการอะไรพวกนี้ เพื่อเป็นแนวทางดำเนินนโยบายต่างประเทศ แต่มักจะทำในช่วงที่โลกเกิดสถานการณืหน้าสิ่วหน้าขวาน เหมือนจะเกิดสงครามขึ้น

การกำหนดหลักการแคมป์เดวิดก็เหมือนกัน มันออกมาในช่วงที่สถานการณ์ในเอเชียไม่ค่อยจะราบรื่นนัก เนื้อหาของสันก็คือการสรุปแถลงการณ์ข้างต้นนั่นเอง แต่สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ การทำให้มันเป็น Principles หมายความว่า 

"สหรัฐเอาจริงกับอาเซียนแล้วนะ"
 

TAGS: #อาเซียน #ทะเลจีนใต้ #แม่น้ำโขง