ไม่มีมุมใดของโลกที่ไม่ถูกแตะต้องด้วยสารเคมีชนิดนี้ มันปรากฏอยู่ทั่วไปตั้งแต่ในทิเบตไปจนถึงแอนตาร์กติกา สารเคมีที่เรียกว่า "สารเคมีตลอดกาล" (forever chemicals") หรือสารเคมีที่กำจัดไม่ได้ได้ซึมซาบเข้าสู่กระแสเลือดของสิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิด
สารพิษเหล่านี้ปนเปื้อนอาหาร น้ำ และสัตว์ป่า ส่งผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่พิการแต่กำเนิดไปจนถึงมะเร็งที่หายาก
แต่หากไม่มีความพยายามของชาวเมืองในสองเมืองที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงของสหรัฐฯ โลกอาจยังคงมืดมนอยู่
ในหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ "They Poisoned the World: Life and Death in the Age of Chemicals" (โลกที่เปื้อนยาพิษ ชีวิตและความตานในยุคแห่งสารเคมี) นักข่าวสืบสวน มาไรอาห์ เบลค (Mariah Blake) เล่าถึงเรื่องราวที่ผู้คนในเมืองพาร์คเกอร์สเบิร์ก รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย และเมืองฮูซิกฟอลส์ รัฐนิวยอร์ก ที่เปิดเผยความลับของบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมที่วางยาพิษพวกเขา และในขณะเดียวกันก็ทำให้โลกต้องตระหนักถึงสารที่ชื่อ per- and polyfluoroalkyl หรือ PFAS
“เรากำลังพูดถึงกลุ่มสารเคมีที่ไม่สลายตัวในสิ่งแวดล้อม” เบลค บอกกับสำนักข่าว AFP โดยเรียกสารเคมีดังกล่าวว่า “วิกฤตการณ์การปนเปื้อนที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์”
PFAS พัฒนาขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษปี 1930 และได้รับความนิยมเนื่องจากมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทานต่อความร้อน และกันน้ำและไขมันได้ PFAS สร้างขึ้นจากพันธะคาร์บอน-ฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นพันธะที่แข็งแกร่งที่สุดในทางเคมี และคงอยู่ต่อไปเหมือนขยะกัมมันตภาพรังสีและสะสมอยู่ในร่างกายของเรา จึงเป็นที่มาของชื่อเล่นว่า “ตลอดกาล”
งานวิจัยของเบลคได้สืบย้อนประวัติศาสตร์ของสารนี้ตั้งแต่การค้นพบโดยบังเอิญโดยนักเคมีของดูปองต์ไปจนถึงการใช้งานในเครื่องครัว เสื้อผ้า และเครื่องสำอางในปัจจุบัน
สารนี้อาจยังไม่เป็นที่สนใจของผู้คน ถ้าหากนักวิทยาศาสตร์ของโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) อันเป็นโครงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ได้มองหาสารเคมีที่สามารถทนต่อสารเคมีระเบิดปรมาณู เพราะเรื่องนี้ที่หลังจากนั้นทำให้บริษัทต่างๆ สามารถผลิตสารเคลือบเหล่านี้ได้ในปริมาณมาก
การกระทำผิดในองค์กรธุรกิจ
ภาคอุตสาหกรรมทราบถึงความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่นๆ การทดสอบภายในแสดงให้เห็นว่าคนงานในโรงงานได้รับบาดแผลจากการถูกสารเคมีเผาไหม้และหายใจลำบาก พืชผลเหี่ยวเฉาและปศุสัตว์ตายใกล้กับสถานที่ผลิตสารนี้
แล้วพวกมันรอดมาได้อย่างไร? เบลคสืบย้อนต้นกำเนิดไปจนถึงช่วงทศวรรษปี 1920 เมื่อมีรายงานว่าน้ำมันเบนซินที่มีตะกั่วทำให้เกิดอาการจิตเภทและการเสียชีวิตในหมู่คนงานในโรงงาน แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากภาคอุตสาหกรรมหลับผลิตชุดความเชื่อที่ตรงกันข้าม โดยอ้างว่า "สารเคมีควรถือว่าปลอดภัยจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นอันตราย" ซึ่งถือเป็นหลักการอันฉาวโฉ่ในปัจจุบัน
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า "หลักการเคโฮ" (Kehoe principle) ซึ่งกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ปล่อยข้อมูลที่แสดงความกังขาเรื่องความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สารอันตรายถูกใช้มายาวนาน และทำให้สหรัฐฯ เพิ่งจะมาประกาศห้ามใช้แร่ใยหินเมื่อปีที่แล้วนี่เองเพราะติดอยู่กับหลักการที่ขัดขวางความสงสัยเรื่องปัญหาสุขภาพ
แต่แรกนั้น ผลการศึกษาวิจัยของบริษัทดูปองต์เตือนว่าเทฟลอนไม่ควรมีอยู่ในเครื่องครัว แต่หลังจากที่วิศวกรชาวฝรั่งเศสเคลือบถาดมัฟฟินของภรรยาด้วยสารดังกล่าว กระแสความนิยมในปารีสก็ปะทุขึ้น และผู้ประกอบการชาวอเมริกันก็ขายแนวคิดนี้กลับคืนให้กับบริษัทดูปองต์อีกครั้ง
ในไม่ช้า กระทะเคลือบสารกันติดก็ขายหมดเกลี้ยง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่องว่างด้านกฎระเบียบ สาร PFAS ร่วมกับสารเคมีอื่นๆ อีกหลายพันชนิดได้รับการ "ยกเว้น" ไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมสารพิษ 1976 และไม่จำเป็นต้องทดสอบเพิ่มเติมอีก
การฟ้องร้องครั้งใหญ่
การปกปิดผลกระทบต่อสุขภาพเริ่มถูกเปิดโปงในช่วงทศวรรษ 1990 ที่เมืองพาร์คเกอร์สเบิร์ก ซึ่งบริษัทดูปองต์ได้ทิ้งขยะเทฟลอนลงในหลุมและแม่น้ำโอไฮโอมาหลายทศวรรษแล้ว
เมืองนี้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ปราฏว่าบรรดาคนงานโรงงานหญิงมีลูกที่มีข้อบกพร่องทางการเกิด เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวที่อยู่ปลายน้ำกำลังสูญเสียฝูงสัตว์ที่ล้มตายลงไป และผู้อยู่อาศัยก็เกิดโรคมะเร็งประเภทที่เกิดขึ้นได้ยาก
เบลคเล่าเรื่องราวผ่าน "นักเคลื่อนไหวโดยบังเอิญ" คนหนึ่งคือไมเคิล ฮิกกี้ (Michael Hickey) ผู้รับประกันภัยชั้นสูงที่ไม่สนใจการเมืองหรือสิ่งแวดล้อม หลังจากที่พ่อและเพื่อนๆ ของเขาป่วยเป็นมะเร็ง เขาก็เริ่มทดสอบน้ำประปาในเมืองฮูซิกฟอลส์
อีกคนหนึ่งคือเอมิลี่ มาร์ป (Emily Marpe) “คุณแม่วัยรุ่นที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย” ที่เก็บเงินเพื่อซื้อบ้านในฝันของครอบครัวในตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก แต่กลับพบว่าน้ำที่ไหลจากก็อกน้ำปนเปื้อนสาร PFAS ซึ่งปัจจุบันแพร่กระจายไปในเลือดของครอบครัวของเธอในปริมาณมหาศาล
“เธอรู้ดีถึงวิทยาศาสตร์อย่างทะลุปรุโปร่ง” เบลคกล่าว “และกลายเป็นผู้สนับสนุนที่พูดจาชัดเจนมาก”
การฟ้องร้องเป็นเวลานานหลายปีทำให้ได้รับเงินชดเชยหลายร้อยล้านดอลลาร์ และบังคับให้ดูปองต์และบริษัท 3M ยุติการใช้สาร PFAS ที่มีชื่อเสียงสองชนิด แต่บริษัททั้งสองหันมาใช้สารทดแทน เช่น GenX ซึ่งต่อมาพบว่ามีพิษไม่แพ้กัน
ถึงกระนั้น เบลคก็ยังชี้ว่ากระแสกำลังเปลี่ยนแปลง ฝรั่งเศสได้ห้ามใช้สาร PFAS ในสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิด สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาห้ามใช้ และในสหรัฐฯ รัฐต่างๆ กำลังเคลื่อนไหวเพื่อจำกัดการใช้สาร PFAS ในปุ๋ยหมักและบรรจุภัณฑ์อาหาร
ความรับผิดที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีเหล่านี้ทำให้ผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ตั้งแต่ McDonald's ไปจนถึง REI ต่างพากันประกาศผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสาร PFAS
แต่แล้ว ความหวังของเธอถูกลดทอนลงด้วยปัจจัยทางการเมือง เมื่อสัปดาห์นี้เอง รัฐบาลทรัมป์ได้ประกาศยกเลิกมาตรฐานน้ำดื่มของรัฐบาลกลางเพื่อที่จะเอื้อต่อการใช้สารเคมี PFAS รุ่นถัดไปสี่ชนิด
แต่เธอเชื่อว่าโมเมนตัมนี้เป็นกระแสของจริง
"ประชาชนทั่วไปที่ตั้งใจปกป้องครอบครัวและชุมชนของตนเองได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ขึ้นมาจริงๆ" เธอกล่าว "มันเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มันดูเหมือนยากต่อการแก้ไข แต่นี่เป็นกรณีที่ผู้คนประสบความสำเร็จอย่างมาก"
Agence France-Presse
Photo by Robyn Beck / AFP (นักข่าวสืบสวน มาไรอาห์ เบลค)