มีข้อมูลที่น่าสนใจ 2 เรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่อินดียกับปากีสถานจะหยุดยิง
เรื่องแรก จากการรายงานของสำนักข่าว CNN ระบุว่า "แหล่งข่าวระบุว่านิวเดลี (รัฐบาลอินเดีย) ช็อคกับระดับการตอบโต้ของปากีสถาน และทั้งสองฝ่าย "เริ่มซีเรียส" กับการพัวพันกับกรเจาจาสันติภาพในช่วงค่ำของวันเสาร์"
และจากการเปิดเผยของ CNN เช่นกัน ระบุว่าอินเดียเป็นฝ่ายเข้าหาสหรัฐฯ ให้สหรัฐฯ แทรกแซงสงครามครั้งนี้ ซึ่งนำไปสู่การเจาจาหยุดยิงในที่สุด
เรื่องที่สอง ก่อนที่สหรัฐฯ จะรับหน้าที่เป็นคนกลางเจรจา ดูเหมือนสหรัฐฯ จะไม่ค่อยจริงจังกับการเข้ามายุ่งเรื่องนี้มากนัก
ก่อนอื่นเพื่อความเข้าใจเบื้องหลังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ อินเดีย และปากีสถาน ควรอ่านบทความก่อนหน้านี้ของผมเรื่อง "ใครหนุนใครใน'สงครามย่อยๆ'ระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน จะลุกลามหรือไม่และจะมีผู้ใดหยุดมัน?" ซึ่งจะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเรื่องแง่มุมการทูตของสงครามครั้งนี้
กลับมาที่ท่าทีของสหรัฐฯ ซึ่งไม่แยแสสักเท่าไร ได้แต่บอกให้สองฝ่ายเพลาๆ มือ คนที่ต้องสนใจโดยตรง คือ บาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระรทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็พูดไปตามหน้าที่ ส่วนทรัมป์บอกแค่ว่า "เสียดาย" ที่สองประเทศรบกัน
ในขณะที่ เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังรักษาความขวานผ่าซากของตนไว้อย่างซื่อสัตย์ โดยบอกว่าสงครามอินเดีย-ปากีสถานนั้น "โดยพื้นฐานแล้วมันไม่ใช่เรื่องของเรา"
และกล่าวว่า “สิ่งที่เราทำได้คือพยายามสนับสนุนให้คนเหล่านี้ลดระดับความรุนแรงลงบ้าง แต่เราจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามซึ่งโดยพื้นฐานแล้วไม่ใช่เรื่องของเราและไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถของอเมริกาในการควบคุมมัน”
แต่แล้ว เจดี แวนซ์ ต้องเปลี่ยนท่าที และโดย แวนซ์ สรุปสถานการกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทราบ จากนั้นจึงพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี นเรนทร โมดี จากการายนานของ CNN "โดยชี้แจงให้นายกรัฐมนตรีอินเดียทราบอย่างชัดเจนว่าทำเนียบขาวเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสุดสัปดาห์"
แหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวกับ CNN ว่าแวนซ์สนับสนุนให้โมดีและอินเดียสื่อสารกับปากีสถานโดยตรง และพิจารณาทางเลือกในการลดความรุนแรง
การเปลี่ยนท่าทีของ แวนซ์ จากหน้ามือเป็นหลังมือมาจากการที่เขาและทีมงานในรัฐบาลที่ติดตามเรื่องนี้ (รวมถึง รูบิโอ) "ได้รับข้อมูลข่าวกรองที่น่าตกใจ" แม้ว่าแหล่งข่าวจะไม่เปิดเผยว่าข้อมูลดังกล่าวมีเนื้อหาสาระอย่างไร แต่จากการรายงานของ CNN ระบุว่า "เจ้าหน้าที่ระบุว่าข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในการโน้มน้าวเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 คนให้เชื่อว่าสหรัฐฯ ควรเพิ่มการมีส่วนร่วม"
หลังจากนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ทำงานกันทั้งวันทั้งคืนเพื่อติดต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ลดความรุนแรง จนกระทั่งยอมหยุดยิงในที่สุด
โดยที่ CNN และฝ่ายปากีสถานชี้ว่า อินเดียติดต่อสหรัฐฯ ให้เข้ามาแทรกแซงก่อน หากเป้นความจริงก็เท่ากับว่า "อินเดียยอมก่อน" ซึ่งก็มีเหตุให้น่าเชื่อ เพราะกองทัพอากาศของอินเดียประสบกับความปราชัย (และความอัปยศ) ครั้งใหญ่หลวง หลังจากเครื่องบินรบ 5 ลำถูกปากีสถานสอยร่วงลงติดๆ กัน
แต่คำถามในตอนนี้ ไม่ใช่แค่ว่าใครระหว่างอินดียกับปากีสถานที่ยอมรามือก่อน
คำถามก็คือ สหรัฐฯ ได้รับข้อมูลประเภทไหนมาถึงเปลี่ยนท่าทีจากเฉยฉา มาเป็นตื่นตระหนก และจากที่ แวนซ์บอกว่า "ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถของอเมริกาในการควบคุมมัน" สหรัฐฯ ก็กลับมาใช้พลังอย่างเต็มที่ในการควบคุมมัน?
เรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับแผนการโจมตี 2 จุด
1. มีสมมติฐานว่าอินเดียทำการโจมตีฐานทัพของปากีสถาน ทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้ามาแทรกแซง เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯ ใช้ฐานะทัพเหล่านี้ในการทำสงครามในอัฟกานิสถานและยังมีความจำเป็นในการสร้างดุลอำนาจในอนุทวีปอินเดีย กับจีน และในเอเชียกลางเพื่อควบคุมอิหร่านและรัสเซีย ดังนั้น เมื่อฐานทัพของปากีสถานถูกโจมตีหนักจากอินเดีย สหรัฐฯ จึงต้องแทรกแซง
อย่างไรก็ตาม สมติฐานนี้เบาหวิวเกินไป เพราะหากสหรัฐฯ กังวลกับเรื่องนี้จริงก็คงไม่ "ปล่อยจอย" ตั้งแต่แรก และควรทราบว่าสงครามครั้งนี้ต้องการมีการโจมตีฐานทัพของปากีสถานอยู่แล้ว ดังนั้น สมติฐานนี้ควรมาจากฝ่ายอินเดียเพื่อจะ "กลบเกลื่อน" เรื่องที่มีรายงานข่าวว่ารัฐบาลตนเองติดต่อไปยังสหรัฐฯ ก่อน ตรงกันข้าม สมมติฐานจะเป็นการช่วยอ้างนี่คือเหตุผลว่าทำไมสหรัฐฯ เป็นฝ่ายติดต่อทั้งสองฝ่ายก่อน
2. แต่สมมติฐานที่ที่หนักแน่นว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ The New Yok Times ตั้งข้อสังเกตว่า "ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยข่าวกรองของอเมริกากำลังชี้ว่าความขัดแย้งอาจทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว และบางทีอาจเกิดจากอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่?" เรื่องนี้มีการพูดถึงในโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ เช่นกัน ว่าสาเหตุที่สหรัฐฯ เปลี่ยนท่าทีอยางตระหนัก เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์
เรื่องนี้มี "คำบอกใบ้" ที่น่าสนใจจากหลายๆ แหล่งข่าว คือ
2.1 จากรายงานของ Reuters นายกรัฐมนตรีชาห์บาซ ชารีฟของปากีสถานสั่งการประชุมด่วนของสำนักงานบัญชาการแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบคลังอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ อย่างไรก็ตาม จากรายงานของ France 24 รัฐมนตรีกลาโหมของปากีสถานกล่าวว่าไม่มีการกำหนดการประชุมระหว่างหน่วยงานระดับสูงของกองทัพและพลเรือนที่กำกับดูแลคลังอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ
2.2 ในหมู่ชาวอินเดียมีการแพร่ข่าวว่า หน่วยข่าวกรองอินดียจับคงามเคลื่อนไหวระบบเตือนภัยไปทั่วปากีสถาน ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าปากีสถานเตรียมตัวรับการโจมตีของอินเดียที่มุ่งเป้าไปที่ฐานนิวเคลียร์ของปากีสถาน และมีการยกระดับความมั่นคงด้านนิวเคลียร์ที่ป่ากีสถาน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ถูกปล่อยโดยชาวอินเดียบางกลุ่มออกมาเพื่ออ้างว่า "ปากีสถานกลัวอินเดียจะโจมตีระบบนิวเคลียร์ของตน" ปากีสถถานจึงติดต่อกับสหรัฐฯ ก่อน
2.3 กระนั้นก็ตาม ตามรายงานของ The New Yok Times สหรัฐฯ ดูเหมือนจะช่วยสรุปสมมติฐานทั้งหมดให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น โดยชี้ว่าสหรัฐฯ เริ่มนั่งไม่ติดหลังจากที่อินเดียย้ายเป้าหมายจากการโจมตีฐานทัพกลุ่มก่อการร้าย (ที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีในแคชเมียร์) ไปมุ่งโจมตีฐานทัพอากาศของปากีสถาน โดยที่สำคัญที่สุดคือฐานทัพนูร์ข่าน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากฐานด้านนิวเคลียร์ของปากีสถาน
จากข้อมูลของ The New Yok Times ทำให้สรุปได้ว่า บางทีอาจไม่ใช่ทั้งฝ่ายอินเดียและปากีสถานที่ติดต่อสหรัฐฯ ก่อน แต่เป็นสหรัฐฯ นั่นเองที่ต้องเปลี่ยนท่าทีเพราะการโ๗มตีของอินเดียเริ่มที่จะส่งผลกระทบต่อฐานนิวเคลียร์ของปากีสถาน ซึ่งอาจทำให้ปากีสถานทำแบบเดียวกันบ้างกับอินเดีย และอาจทำให้ความขัดแย้งบานปลายจนกระทั่งดุลอำนาจของสหรัฐฯ ในเอเชียใต้เสียไป
ทั้งหมดนี้ เกิดจากการประเมินผิดพลาดของรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งแต่แรก เพราะมุ่งสนใจภูมิภาคอื่นมากกว่าเอเชียใต้ และคิดว่ามันคงจะไม่บานปลายเหมือนครั้งก่อนๆ และอาจยังเป็นเพราะ "ระดับนำ" ของรัฐบาลสหรัฐฯ ขาดความรู้เรื่องเอเชียใต้อย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะผู้นำรัฐบาลมีความเย่อหยิ่งจองหองมากเกินไป (เช่น แวนซ์) และคิดจะเป็นทวงบุญคุณกับปากีสถานมากเกินไปจนปล่อยปละละเลยว่าปากีสถานสำคัญต่อสหรัฐอย่างมาก (เช่น ทรัมป์)
ดังนั้น เมื่อการปะทะกันกลายเป็นสงครามขึ้นมาจริงๆ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังคิดว่า "เดี๋ยวก็หยุดกันเอง" แต่มันไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้ โดยเฉพาะหลังจากอินเดียอดสูอย่างหนักจากการพ่ายแพ้ในสมรภูมิน่านฟ้า จึงหันมาโจมตีฐานทัพหลักของปากีสถานเพื่อกู้หน้า หลังจากนั้นสถานการณ์ไม่มีท่าจะเบาลงเลย กระนั้นส่อว่าจะเป็นสงครามยืดเยื้อด้วยซ้ำ
สงครามครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญให้รัฐบาลทรัมป์ตระหนักว่า "หมากการเมืองระหว่างประเทศ" ที่รัฐบาลก่อนๆ วางไว้นั้น หากไม่รักษาตำแหน่งมันให้ดี แล้วทิ้งไปแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง มันอาจจะกลายเป็นภัยต่อตนได้เหมือนกัน
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - ชาวปากีสถานชูป้ายแห่งชัยชนะขณะเฉลิมฉลองหลังการหยุดยิงระหว่างปากีสถานและอินเดียในเมืองมูลตาน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2025 ปากีสถานและอินเดียตกลงที่จะหยุดยิงโดยสมบูรณ์และทันทีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม หลังจากเกิดการโจมตีด้วยเครื่องบินขับไล่ ขีปนาวุธ โดรน และปืนใหญ่จนมีผู้เสียชีวิตหลายวัน ข่าวนี้ประกาศโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ซึ่งแสดงความยินดีกับทั้งสองประเทศที่ใช้ "สามัญสำนึก" (ภาพโดย Shahid Saeed MIRZA / AFP)