มีคำถามมาถึงผมว่า "สงคราม" ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน" สหรัฐฯ เข้าข้างใคร?"
คำถามนี้ตอบแบบ A หรือ B ไม่ได้ เพราะมันมีมิติด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ซับซ้อนใน "การปะทะที่แคชเมียร์" ครั้งล่าสุด
ความซับซ้อนของเรื่องนี้เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างจีน สหรัฐ กับปากีสถาน และคลุมเครือเหมือนกับอินเดียคบหากับมหาอำนาจชาติต่างๆ
ระหว่างจีน สหรัฐ กับปากีสถานนั้น มันมีความอีรุงตุงนังในส่วนของปากีสถานกับสหรัฐฯ เพราะถือเป็น 'มหามิตร' แต่ระยะหลัง 'มหามิตรปากีสถาน' เอียงไปทางจีน 'มหามิตรสหรัฐฯ' จึงเกิดอาการหงุดหงิดขึ้นมา
ส่วนอินเดียในทางหลักการบอกกับโลกว่า "เราไม่ฝักฝ่ายใด" แต่ในทางปฏิบัติจะฝักใฝ่ฝ่ายไหนก็ได้แล้วแต่ผลประโยชน์จะลงตัว เช่น เมื่อตอนที่ชาติตะวันตกรุมคว่ำบาตรรัสเซีย ก็ได้อินเดียนี่แหละเป็นหัวหอกของพวกไม่ไม่ฝักฝ่ายใด ทำการซื้อน้ำมัน ธัญญาหารจากรัสเซีย ซึ่งสร้างความโกรธเกรี้ยวให้สหรัฐฯ พอสมควร
แต่แล้วพออินเดียรู้สึกว่าจะต้องอาศัยมหาอำนาจสักรายมาเป็นเพื่อนเพื่อรับมือกับจีน อินเดียก็พยายามญาติดีกับสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ เองก็พยายามจะกลบเกลื่อนความไม่พอใจต่ออินเดีย เพราะเห็นว่าหากขาดอินเดียไป 'ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก' จะพังทลาย จากที่ในตอนนี้ 'แปซิฟิก' ส่วนใหญ่เอียงมาทางจีน หากขาด 'อินโด' ไปแล้วคงสิ้นหวัง
ความพยายามเข้าหาสหรัฐฯ ในทางยุทธศาสตร์ของอินเดียชัดเจนมากหลังจากที่อินเดียโจมตีปากีสถานเมื่อคืนนี้ก็แจ้งไปยัง มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และก่อนหน้านี้สื่ออินเดียก็คุยโวว่า "สหรัฐฯ เข้าข้างเรา"
เรื่องนี้สะท้อนถึงการที่สหรัฐฯ และอินเดียเข้าหากันมากขึ้นในช่วงหลัง ส่วนหนึ่งเพราะอินเดียมีจีนเป็นภัยคุกคามด้วย แม้จะถือว่าเป็น "สหาย BRICS" ด้วยกันก็ตาม
แม้ว่าอินเดียกับจีนจะตกลงกันได้ในเรื่องพรมแดนเมื่อเดือนตุลาคม แต่มันเป็นข้อตกลง "ชั่วคราว" เพาะปัญหาระดับรากฐานไม่ได้แก้ และโปรดทราบว่าปัญหานี้เป็น "สามเส้า" เพราะแย่งพรมแดนแคชเมียร์กันด้วยระหว่างจีนกับอินเดีย รวมถึงปากีสถาน
ปากีสถานนั้นซับซ้อนกว่า เดิมทีเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในสมัยสงครามเย็น สหรัฐฯ ช่วยปากีสถานยันอินเดียไว้ และตอนสงครามก่อการร้ายสหรัฐฯ ก็ใช้งานปากีสถานเต็มที่ในการรุกรานอัฟกานิสถาน
แต่ปากีสถานก็ยังเป็นมิตรกับจีนด้วย โดยก่อนที่จีนจะรวยนั้นคอยช่วยเหลือปากีสถานในเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ก็เพื่อให้ปากีสถานมีนิวเคลียร์กับเขาบ้างเอาไว้ยันอินเดีย
ในเวลานั้น จีนยังไม่ทรงอำนาจและไม่ใช่ภัยคุกคามเฉพาะหน้าของสหรัฐฯ
พอจีนรวยขึ้นและทรงพลัง สหรัฐฯ เริ่มอ่อนแอลงเพราะเสียท่าไปกับการรุกรานอัฟกานิสถานแถมยังกำจัดการก่อการร้ายในปากีสถานไม่ได้ สหรัฐฯ ก็เริ่มมองจีนเป็นภัยคุกคามและเพ่งเล็งปากีสถาน
รัฐบาลทรัมป์ 1.0 นั้นโผงผางกว่าคนอื่นอยู่แล้ว ก็เลยตัดความช่วยเหลือปากีสถานเสียเลย โดยหากว่าไม่แก้ปัญหาก่อการร้าย ให้เงินไปก็เปล่าประโยชน์ แถมปากีสถานยังเป็นสหายทางเศรษฐกิจกับจีนด้วย
รัฐบาลทรัมป์โหดร้ายกับปากีสถานถึงกับบอกว่า การตัดเงินช่วยเหลือนั้นจะทำให้ “เศรษฐกิจของปากีสถานจะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องเริ่มชำระเงินจำนวนมากในอีกสี่ถึงหกปีข้างหน้า” และยังจะไม่อนุญาตให้นำเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มาให้ปากีสถานใช้ในการชำระหนี้ของจีนด้วย
กะจะตัดตอนให้เป็นบอนไซ เพื่อบีบไม่ให้ร่วมมือกับจีนในทางเศรษฐกิจนั่นเอง
หลังจากนั้นความสัมพันธ์ปากีสถาน-สหรัฐฯ ก็แย่ลง จนถึงรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ก็ไม่ดีขึ้น แต่สหรัฐฯ ยังไม่กล้าตัดขาด เพราะถือเป็น "เพื่อนเก่าในทางยุทธศาสตร์"
ในกรณีนี้ สหรัฐฯกับปากีสถานจึงเหมือนกับ "ไทยกับสหรัฐฯ" พอสมควร เพราะเป็นมหามิตรในทางยุทธศาสตร์ แต่ระยะหลังไทยคบหากับจีนมากว่าในทางเศรษฐศาสตร์
ดังนั้น แม้อินเดียที่เริ่มสนิทกับสหรัฐฯ จะโร่ไปแจ้งรัฐบาลทรัมป์เรื่องโจมตีปากีสถาน แต่ทรัมป์ได้แต่บอกว่า "เสียดาย" และเปรยว่า "สองประเทศนี้มีเรื่องกันมานานแล้ว"
อีกสาเหตุก็คงเพราะจีนไม่ได้เข้ามายุ่งกับปากีสถานด้วย เพราะไม่จำเป็น ทั้งยังขอให้สองฝ่ายเพลาๆ มือด้วยซ้ำ
แต่ก็นั่นแหละ แม้จีนจะไม่ยุ่งด้วยและระยะหลังจีนกับอินเดียพยายามลดความขัดแย้งกัน แต่อินเดียก็ไม่มีทางไว้ใจจีน
โปรดทราบว่า มากกว่า 80% ของการนำเข้าอาวุธของปากีสถานมาจากจีนในช่วงปี 2020 ถึง 2024
และมากกว่า 70% ของการนำเข้าอาวุธของบังคลาเทศมาจากจีนในช่วงปี 2019 ถึง 2023
ดังนั้น "อาวุธจีน" จึงล้อมซ้ายล้อมขวาอินเดีย
ยังไม่นับแนวทางที่อินเดียเรียกว่า "สร้อยไข่มุก" (String of Pearls) ของจีนที่อินเดียอ้างว่าเป็นการวาง "ที่มั่น" ที่ศรีลังกาและมัลดีฟเอาไว้ที่ทางใต้ของอินดียเพื่อล้อมอินเดีย
แต่ใน "สงคราม" ครั้งนี้จีนไม่ใช่ตัวละครหลัก (แม้ว่าอาวุธของจีนจะเป็นส่วนสำคัญของปากีสถานก็ตาม)
ตัวละครสำคัญคือสหรัฐอเมริกาต่างหาก
โมอีด ยูซุฟ นักวิจัยอาวุโสที่ศูนย์ Belfer Center และอดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของปากีสถานเขียนให้กับ HARVARD Kennedy School - Belfer Center ดังนี้ว่า
"ในทางกลับกัน ตามที่ผมได้อธิบายไว้ในหนังสือของผมเรื่อง Brokering Peace in Nuclear Environments: U.S. Crisis Management in South Asia รัฐบาลนิวเดลีและรัฐบาลอิสลามาบัดได้อาศัยผู้มีบทบาทภายนอกเป็นวิธีการหลักในการลดระดับวิกฤต สหรัฐฯ เป็นผู้เล่นรายเดียวที่มีความสำคัญมากที่สุด โดยมีส่วนร่วมเชิงรุกในการไกล่เกลี่ยวิกฤตในภูมิภาคที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมากเสมอมา"
อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า ปากีสถานเองก็เป็นมหามิตรของสหรัฐฯ ส่วนอินเดียก็เป็นสหายใหม่ของสหรัฐฯ ในทางยุทธศาสตร์ ดังนั้น มีแต่สหรัฐฯ เท่านั้นที่ทั้งสองประเทศจะฟังมากที่สุด
แต่เราไม่รู้ว่าทั้งสองประเทศจะรอให้สหรัฐฯ แทรกแซงหรือไม่ หากเป็นแบบนั้นก็คงต้องรบกันไปเรื่อยๆ เพราะในยุคทรัมป์ 2.0 ดูจะเอ้อละเหยลอยชายกับเรื่องสงครามในพื้นที่ไม่ใช่เป้าหมายของตน นั่นคือยูเครนและกาซา
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - นักเรียนเข้าร่วมการฝึกซ้อมจำลองสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมจำลองการป้องกันพลเรือนระดับประเทศที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในนิวเดลี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2025 ขณะที่ความตึงเครียดบริเวณชายแดนพุ่งสูงขึ้น (ภาพโดย Arun SANKAR / AFP)