นี่คือสิ่งที่คนจีน สื่อจีน ขาวเน็ตจีนพูดถึงกันหลังจากการประกาศสงครามภาษีของทรัมป์
ตัวอย่างเช่น เค่อจีพลัส (科技plus) ก็ใช้คำว่า "น้ำตาตก" กับนักลงทุนจีนที่ย้ายฐานการผลิตมาไทยและเวียดนาม อันเป็นประเทศที่เจอขึ้นภาษีหนักกว่าจีนเสียอีก
แต่มันอาจยังไม่ถึงขั้นน้ำตาเช็ดหัวเข่า เพราะเค่อจีพลัสอ้างว่า "แหล่งข่าวในห่วงโซ่อุปทานเผยว่าผู้ผลิตต้นน้ำหลักของพวกเขาส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา เช่น Apple, DELL และ HP ขณะนี้พวกเขากำลังรอข่าวว่าบริษัทอเมริกันเหล่านี้จะได้รับการยกเว้นหรือไม่ นอกจากนี้ นโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคตเพื่อดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือไม่"
แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ นักลงทุนจีนก็ต้องหาทางอื่น และบอกว่า "อย่างน้อยโรงงานในเวียดนามก็ไม่สามารถผลิตหรือขยายกิจการได้"
แม้จะเอ่ยถึงแค่เวียดนาม แต่มันย่อมหมายถึงการลงทุนและโรงงานในไทยด้วย
ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่ห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งย้ายออกจากเอเชียได้ยากแล้ว อย่างที่แหล่งข่าวเผยกับเค่อจีพลัสว่า "เพราะส่วนประกอบส่วนใหญ่ผลิตในเอเชีย และส่วนอื่นๆ ก็ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียเช่นกัน การย้ายห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดเป็นเรื่องยากมาก และไม่มีทางที่จะย้ายทั้งหมดได้"
เรื่องนี้เป็นปัญหาของผู้ผลิตที่จะต้องหาทางแก้เฉพาะหน้ากันไปก่อน แต่ในระดับรัฐบาลน่าจะทราบแล้วว่านี่ไม่ใช่การบีบให้ย้ายห่วงโซ่อุปทานหรือย้ายฐานผลิตไปสหรัฐฯ เพราะ "มันเป็นไปไม่ได้"
ประการแรก คือ มันไม่ใช่ว่าจะทำได้ในปีสองปี อาจจะใช้เวลานานกว่าสมัยประธานาธิบหนึ่งๆ พูดง่ายๆ ทรัมป์หมดวาระแล้วก็ยังย้ายไม่สำเร็จ
ประการที่สอง การผลิตไม่ว่าจะในสหรัฐฯ หรือที่อื่นๆ มีแนวโน้มที่จะใช้ระบบออโตเมต (เช่น หุ่นยนต์) มากขึ้น ดังนั้น ถึงแม้จะย้ายฐานการผลิตสหรัฐฯ มันก็ไม่ช่วยให้มีการจ้างงานมากขึ้น อันที่จริงตอนนี้อัตราว่างงานในสหรัฐฯ ก็ไม่ได้สูงมาก
ดังนั้น สิ่งที่ทรัมป์ต้องการไม่ใช่การแก้ปัญหาขาดดุลหรือแย่งชิงภาคการผลิต แต่เป็นการทำลายการผลิตและการค้าของจีน โดยทำลายประเทศที่เป็นฐานการผลิตและส่งออกแทนให้จีนก่อน เพราะพวกนี้คือ "ตัวช่วยพยุง" ที่ล้มได้ง่ายกว่า
ส่วนจีนได้แปลงสภาพเป็นเศรษฐกิจที่มุ่งภายในและการพึ่งพาตนเองสูงกว่าเดิมแล้วตั้งแต่สงครามการค้าครั้งแรก ดังนั้น การทำลายจีนยากกว่า และทรัมป์จึงไม่ลังเลที่จะขึ้นภาษีกับจีนไม่หยุด เพราะรู้ว่าทำอะไรจีนไม่ได้ แต่ "สามารถทำลายอิทธิพลจีน" ในประเทศโดยรอบได้
แม้ว่านักลงทุนจีนอาจจะยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไป แต่มันมีทางเลือกสองทางก็คือ หนึ่ง หากเกี่ยวข้องการเป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทอเมริกัน โอกาสรอดก็ยังพอมี สอง หากไม่มีโอกาสรอดจากเงื่อนไขแรก การตั้งโรงงานในไทยต่อไปจะไม่คุ้ม และต้องย้ายกลับ
งานนี้ทรัมป์หวังจะให้มีบริษัทล้มตายแน่นอน เพราะเขาเล็งเป้าหมายใหญ่เอาไว้
บริษัทจีนที่มาลงทุนในไทยกับเวียดนามก็ต้องหาวิธีเอาตัวรอดกันเอง เพราะตอนนี้ไทยเจอหนักกว่าจีนเสียอีก เอาเข้าจริงเรามีปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์การส่งออกโดยบริษัทต่างชาติด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ในระดับประเทศ แต่ละประเทศที่ตกเป็นเหยื่อทรัมป์เหมือนกันจะทอดทิ้งกันไม่ได้ และการที่บริษัทล้มตายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่า ไทย จีน และชาติอื่นๆ พร้อมร่วมมือกับ "ล้มยักษ์" หรือไม่
ตัวอย่างเช่น วันนี้ อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่าสหภาพยุโรปกำลังแสวงหาช่องทางทำธุรกิจในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมากขึ้น เนื่องจากมาตรการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ และเผยว่า "เราจะมุ่งเน้นเจาะจงเหมือนลำแสงเลเซอร์ที่พุ่งไปที่การค้าโลก 83% ที่เกิดขึ้นนอกสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่"
หนึ่งในดินแดนนอกสหรัฐฯ นั้น ฟ็อน แดร์ ไลเอิน กล่าวถึงไทยด้วย นั่นคือ “เรากำลังดำเนินกับประเทศอินเดีย ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ”
นี่แสดงว่าการฟอร์ม "พันธมิตรการค้าใหม่" ได้เริ่มขึ้นแล้ว
มารอดูกันว่าจีนจะทำแบบเดียวกันหรือไม่? เพราะดูเหมือนว่าจีนจะทำสงครามโดยตรงกับทรัมป์มากกว่า พูดง่ายๆ คือ "ยุ่งเสียจนมาช่วยคนอื่นไม่ไหว"
สำหรับบริษัทจีนนั้นนอกจากจะ "อาจจะ" ถอนทุนจากไทยแล้วกลับบ้านตัวเองแล้ว ยังเห็นสื่อจีนประโคมเรื่องความเหมาะสมมากกว่าของมาเลเซียในการลงทุน
เช่นผู้เขียนที่ชื่อ เคอผู่จวิน (科普军) แสดงทัศนะว่า "อัตราภาษีส่งออกที่มาเลเซียถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บอยู่ที่เพียง 24% ซึ่งต่ำกว่าเวียดนาม (46%) ไทย (36%) และอินโดนีเซีย (32%) มาก และยังมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านการส่งออกที่ชัดเจน สำหรับบริษัทจีน การเลือกลงทุนและตั้งโรงงานในมาเลเซียจะช่วยลดต้นทุนภาษีส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้อย่างมาก ขณะเดียวกันก็เพลิดเพลินไปกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มั่นคงของมาเลเซียและข้อได้เปรียบด้านการค้าปลอดภาษีของอาเซียน"
บทความยังชี้ว่า "มาเลเซียให้ชาวต่างชาติถือหุ้นร้อยละ 100 ในบริษัทที่เป็นของต่างชาติได้และไม่จำเป็นต้องมีการร่วมทุนแบบบังคับ ซึ่งแตกต่างจากเวียดนามและอินโดนีเซียที่ต้องมีหุ้นส่วนในประเทศ"
และยังมีข้อดีอื่นๆ อีกมาย ซึ่งบทความนี้อีกก็เช่นกันที่เน้นเปรียบเทียบกับเวียดนาม ไม่ได้เน้นไทยมากนัก นั่นหมายความว่าการลงทุนจีนในเวียดนามสูงมาก "เกินไป" เมื่อเกิดภาวะช็อคจึงแสวงหาตัวแทนกันจ้าละหวั่นแบบนี้
สำหรับประเทศไทย ต้องยอมรับว่าช่วงนี้เป็น "ปีชง" ของการลงทุนจากจีน ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดไม่ได้มาจากภาษีทรัมป์ แต่มาจาก "แผ่นดินไหว" ซึ่งทำให้บริษัทจีนที่เกี่ยวข้องต้องเสียภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในหมู่คนไทย
แต่นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ ทุนจีน บริษัทจีนถ้าหากมีเหตุผลอันควรก็ย่อมต้องอยู่ในไทยต่อไป
ผมไม่รู้ว่าเหตุผลเหล่านั้นมีอะไรบ้าง เพราะเป็นเรื่องของแต่ละทุนแต่ละบริษัท
แมีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้คือ แม้จะคิดย้ายจากไทยไปที่อื่น หรือลังเลที่จะอยู่ไทยต่อไป ในท่ามกลางความเห็นของคนจีนกลับรู้สึกว่าการตอบสนองของไทยต่อภาษีทรัมป์เป็นสิ่งที่เหมาะสม แม้แต่การตอบสนองของตลาดหลักทรัพย์ของไทยที่ปกป้องตลาดจากการขายชอร์ตในช่วงวิกฤตก็ได้รับเสียงชื่นชมว่า "เห็นแก่ประชาชน"
ผิดกับเวียดนามที่ถูกคนจีนมองว่าอ่อนแอและยอมแพ้ง่ายเกินไป
ในขณะที่จีนมองว่าไทยใช้การเจรจา และ "ต่อสู้ฟันฝ่า" เพื่อให้ได้การยกเว้นการขึ้นภาษี ขณะที่เวียดนามใช้คำว่า "วอนขอ" เพื่อให้สหรัฐฯ มีเมตตา
ภาพลักษณ์ของไทยที่มั่นคงกว่า ช่ำชองในการเจรจาและการทูตมากกว่าเพื่อถนอมน้ำใจประเทศใหญ่ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ไม่มีในเพื่อนบ้านอื่นๆ
นี่อาจจะเป็นจุดแข็งที่เข้าตาทั้งจีนและสหรัฐฯ ก็เป็นได้ หากเราแสดงพลังของมันออกมาอย่างเต็มศักยภาพ
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by AFP / CHINA OUT