เวียดนามคุกเข่าให้กับทรัมป์เร็วเกินไป และเป็นตัวอย่างไม่ดีให้อาเซียน

เวียดนามคุกเข่าให้กับทรัมป์เร็วเกินไป และเป็นตัวอย่างไม่ดีให้อาเซียน
เวียดนามเป็นประเทศที่ "คุกเข่าเร็วเหลือเกิน" ให้กับทรัมป์

นี่เป็นทัศนะของสำนักข่าว Pheonix และบอกว่า "การคุกเข่าอย่างรวดเร็วของเวียดนามได้สร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาษีศุลกากรของทรัมป์เดิมทีเป็นภาษีสากล โดยอัตราภาษีสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใกล้เคียงกับจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อให้เอเชียสามารถรวมตัวเป็นพันธมิตรที่เผชิญหน้าและ "สามัคคีกัน" เพื่อแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับยุโรป"

และ "การสื่อสารของเวียดนามกับสหรัฐอเมริกาในลักษณะนี้และการตอบสนองความต้องการทั้งหมดของทรัมป์โดยไม่มีการต่อต้านใดๆ เปรียบเสมือนการเปิดโอกาสในการเจรจากับสหรัฐอเมริกาเพียงลำพังเพื่อขอการอภัยโทษและรักษาข้อได้เปรียบด้านการค้าที่ต่ำกับสหรัฐอเมริกา"

ทัศนะนี้ผมเห็นด้วย นายกรัฐมนตรี โต เลิมของเวียดนามก้มหัวให้ทรัมป์เร็วไป แน่ล่ะ ประเทศไหนๆ ก็ต้องการเอาตัวรอด แต่แบบนี้มัน "ยอมจำนน" เกินไปเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านประเทศอื่นๆ ที่ยังหาทางตอบโต้แบบไม่เสียศักดิ์ศรีและไม่เสียผลประโยชน์ของชาติ

เอาเข้าจริง เวียดนามยอมจำนนก่อนที่ทรัมป์จะประกาศวัน Liberation day สักประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนเห็นจะได้ที่เวียดนามประกาศจะลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ จากนั้นก็ส่งสัญญาณเป็นระยะๆ 

ยังไม่นับการที่ก่อนหน้านี้ ที่เวียดนามพยายามเอาใจทรัมป์ด้วยการเสนอโอกาสให้ Trump Organization พัฒนาสนามกอล์ฟมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ในจังหวัดหุ่งเอียน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม จากการรายงานของ The Diplomat

รายงานยังเผยว่า "ทันทีหลังจากการเลือกตั้งของสหรัฐฯ นักธุรกิจหญิงที่ร่ำรวยที่สุดของเวียดนามและเจ้าของสายการบิน Vietjet ได้เดินทางไปที่เมืองมาร์อาลาโก และตกลงที่จะซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 100 ลำตามคำแนะนำของทรัมป์" และ "กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่อื่นๆ ของเวียดนาม เช่น Vingroup ก็ได้ให้คำมั่นเช่นเดียวกันว่าจะขยายการลงทุนในอเมริกา"

ผมคาดว่าเวียดนามคงจะคิดว่าทำแบบนี้แล้วทรัมป์คงจะมีเมตตา

แต่เปล่าเลย เวียดนามถูกขึ้นพิกัดอัตราภาษีสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากกัมพูชา (ที่จริงผมคาดการณ์มาระยะหนึ่งแล้วว่าเวียดนามจะต้องโดนหนักกว่าเพื่อน แต่คาดการณ์พลาดไปนิดนึง) 

นั่นหมายความว่าท่าทียอมจำนนของเวียดนามใช้ไม่ได้ผล และพอทรัมป์ประกาศเล่นงานเวียดนาม เวียดนามก็สนองด้วยการลดภาษีสินค้าอเมริกันมันซะเลยให้เหลือ 0% เพื่อเอาใจทรัมป์ เพราะหวังว่าทรัมป์จะมีเมตตา

ขนาดมหามิตรอย่างแคนาดากับสหภาพยุโรปทรัมป์ยังไม่มีเมตตา แล้วเวียดนามจะได้รับความเวทนาหรือ? แล้วที่เวียดนามขอให้ทรัมป์ละเว้นมาตรการนี้ไปสัก 3 - 4 เดือน เวียดนามจะมีเวลาพอแก้ไขสถานการณ์หรือ? หากทำอะไรไม่คิดหน้าคิดหลังระวัง FDI จะไหลออกไม่รู้ตัว 

ยังไม่นับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างๆ ที่อาจจะเห็นว่าเวียดนามต่อรองอะไรไม่เป็น และเรื่องนี้ไม่ควรจะยอมท่าเดียวด้วยซ้ำในทัศนะของนักลงทุนรายใหญ่ๆ ของเวียดนาม เช่น จีน และสหภาพยุโรปที่กำลังมีคิวมาคุยเรื่องลงทุนกับเวียดนาม 

แคนาดากับประเทศในยุโรปไม่ยอมก้มหัวให้ ประกาศตอบโต้แทบจะทันที เช่นเดียวกับจีน สหภาพยุโรปนั้นเตรียมจะสวนกลับหากต่อรองกันไม่สำเร็จด้วยซ้ำ แม้พวกนี้จะเป็นประเทศใหญ่ก็จริง แต่ประเทศเล็กก็สามารถรวมกลุ่มต่อรองก็ได้ไม่ใช่หรือ? ยังไม่นับการรวมกลุ่มที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ ที่น่าจะเกิดขึ้นมาอีก

ผมคิดว่าเวียดนามเจริญเติบโต้เร็วก็จริง แต่อาจจะยังขาดประสบการณ์ในโลกทุนนิยมที่ประเทศนายทุนใหญ่มักจะมีเล่ห์เหลี่ยมสูงกว่า แม้แต่ญี่ปุ่นเองในทศวรรษที่ 80  ก็เคยโตเร็วจนกระทั่่งกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหรัฐฯ และพวก (ซึ่งก็พวกเดียวกับญี่ปุ่นนั่นเอง) จึงบีบให้ญี่ปุ่นรับข้อเสนอ Plaza Accord ซึ่งเป็นจุดจบของการผงาดของญี่ปุ่น

ทุกวันนี้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ยังง่อยเพราะต้องยอมจำนนให้ "ลูกพี่" คราวนี้นายกฯ ญี่ปุ่นก็แสดงท่าทีอ่อนข้อให้เช่นกัน แต่ "แม้ว่านายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะของญี่ปุ่นจะแสดง "ความผิดหวังอย่างยิ่ง" ต่อภาษีของทรัมป์และเรียกภาษี 24% ที่สหรัฐฯ กำหนดกับญี่ปุ่นว่าเป็น "วิกฤตระดับชาติ" แต่เขาก็ยังชี้แจงอย่างชัดเจนว่าญี่ปุ่นจะจัดการกับสถานการณ์นี้ด้วยความสงบและจะทำทุกวิถีทางที่จะให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อลดผลกระทบของภาษี คำกล่าวนี้หมายความว่าจะไม่มีการใช้มาตรการตอบโต้ใดๆ"

แม้จะไม่ตอบโต้ แต่ก็ยังไม่ยอมขนาดเวียดนาม เวียดนามนั้นเป็นแบบที่เขาว่าจริงๆ คือ เป็นตัวอย่างไม่ดีให้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ได้ยินมาว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยที่สรรเสริญความว่างไวของเวียดนาม แต่คนไทยมีนิสัยไม่ดีอย่างหนึงก็คือ เวลาไม่ถูกใจรัฐบาลก็มักจะตีวัวกระทบคราดแบบนี้ โดไม่ได้ดูว่า "วัว" มันกำลังจะเข้าตาจน และคราดนั้นอาจจะทนทานกว่าวัว

อีกเรื่องก็คือ เวียดนามมักจะปล่อยแต่ข่าวด้านที่ "เป็นคุณ" กับตน โดยเฉพาะสื่อเอกชน (ภายใต้การกำกับของรัฐ) และสื่อทางการ ดังนั้นเรื่องไม่ดีไม่มีพูด โดยเฉพาะความไวที่เป็นแค่มายา แต่หายนะสิเป็นของจริง

เป็นการตอบสนองที่เร็วจริงๆ แต่สะท้อนว่าเวียดนามไม่ได้เจนจัดเรื่องการค้าโลกสักเท่าไร และเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะพังพินาศเหมือนที่ญี่ปุ่นเคยเจอ ยังไม่นับการเร่งรีบเอาตัวรอดจนเป็นการ "เซ็ต" มาตรฐานให้กับสหรัฐฯ ไปโดยปริยาย หลังจากนี้ประเทศอื่นๆ อาจจะเจรจากับสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น เพราะเวียดนามเริ่มต้นที่ 0 ไปแล้ว 

แต่ไทยและประเทศอื่นๆ มีความช่ำชองมากกว่าในการเจรจาการค้าโลก และไทยนั้นผ่านวิกฤตมาครั้งไม่ถ้วนจึงควรที่จะไต่ตรองให้ดีก่อนที่จะผลีผลามแบบเวียดนาม 

ในทัศนะของผม แม้เราจะช้าไม่ได้กับการต่อรองกับทรัมป์ แต่ต้องตระหนักว่าเรื่องนี้จะเป็นจุดเริ่มของการจัดระเบียบโลกใหม่ เป็นการสลายและรวมกลุ่มอำนาจใหม่เพื่อตอบสนองกับภาวะ "การล่มสลายของจักรวรรดิ" ของสหรัฐฯ ดังนั้น จะช้าก็ไมได้ แต่จะรีบก็ไม่ดี

กับท่าทีต่อไปของจีนต่อการทำแบบนี้ของเวียดนามนั้น แม้เวียดนามจะรับจีนเข้ามาลงทุนมากจนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ (และเป็นตัวการให้ถูกเก็ยภาษีสูงมากจากทรัมป์) ผมคิดตามทัศนะของ Pheonix  ที่ว่า "หากเวียดนามทำเช่นนี้ ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ก็อาจทำตามเช่นกัน ระวังอย่าให้ประเทศเหล่านี้สร้างกำแพงภาษีศุลกากรต่อจีนและจำกัดการนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อแสดงความภักดีต่อทรัมป์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่จีนต้องป้องกันเมื่อโจมตีสหรัฐฯ โดยตรง"

นั่นหมายความว่า หากประเทศอย่างเวียดนามก้มหัวให้สหรัฐฯ เร็วๆ แบบนี้ ก็มีโอกาสสูงที่จะ "หักหลัง" จีนในเร็ววันเพื่อเอาตัวรอด ถึงตอนนั้น จีนยังจะลงทุนในเวียดนามหรือไม่? ที่จริงเวียดนามแสดงท่าทีออกมาแล้วโดยสัญญากับสหรัฐฯ ว่าจะปราบปราม "การค้าส่งออกซ้ำ" ซึ่งหมายถึงการเป็นช่องทางส่งออกให้จีนนั่นเอง

โปรดทราบว่า จีนเป็นตลาดนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และอาจเป็นเงื่อนไขที่อันตรายในภาวะสงครามการค้า อย่าง The Diplomat ชี้ว่า "โดยจัดหาวัตถุดิบประมาณครึ่งหนึ่งให้กับผู้ผลิตในเวียดนาม กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือภาคการผลิตของเวียดนามต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์จีนเป็นอย่างมาก ทำให้การแยกตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปไม่ได้เลย"

และ "เนื่องจากการผลิตย้ายข้ามพรมแดนมายังเวียดนาม การขาดดุลการค้ากับจีนจึงขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด ความไม่สมดุลที่เพิ่มมากขึ้นนี้ เมื่อเทียบกับการเกินดุลการค้าของเวียดนามกับสหรัฐฯ จำนวนมาก ทำให้ต้องมีการตรวจสอบ – โดยเฉพาะในวอชิงตัน – ว่าสินค้าจีนอาจหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรผ่านการขนส่งสินค้าของเวียดนาม"

เวียดนามตอนนี้พาตัวเองเข้าไปสู่กับดักทั้งจากสหรัฐฯ และจากจีน

แต่ผมไม่คิดว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทำตามเวียดนามทั้งหมด เพราะต้องมีสักประเทศที่สบช่องจากความใจเร็วด่วนได้ของเวียดนามแน่ๆ แล้วสามารถสร้างดุลยภาพกับสหรัฐฯ และจีนได้อย่างลงตัว

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better (บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกและขยายความเพิ่มเติมจากที่โพสต์ใน Facebook / Kornkit Disthan)

Photo - ภาพชุดที่ถ่ายเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2025 จากซ้ายไปขวา โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ถ่ายในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2025 และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ หลังจากลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารว่าด้วยภาษีศุลกากรซึ่งกันและกัน ณ ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 ทรัมป์กล่าวว่าผู้นำระดับสูงของเวียดนามบอกกับเขาในการสนทนาที่ "สร้างสรรค์มาก" เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2025 ว่าเขาต้องการทำข้อตกลงเรื่องภาษีศุลกากร หลังจากที่เวียดนามได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรจำนวนมหาศาล เวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตขนาดใหญ่ที่ถือว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดเมื่อปีที่แล้ว ถูกโจมตีด้วยภาษีศุลกากรที่สูงถึง 46%
(ภาพโดย BAY ISMOYO และ SAUL LOEB / AFP)

TAGS: #เวียดนาม #ทรัมป์ #ภาษี