'ฝ่ายโปรอเมริกัน'กำลังไล่เชือด'ฝ่ายโปรจีน'และดูเตอร์เตกับลูกสาวคือเป้าหมาย

'ฝ่ายโปรอเมริกัน'กำลังไล่เชือด'ฝ่ายโปรจีน'และดูเตอร์เตกับลูกสาวคือเป้าหมาย

ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลงอะไรอีก ผมฟันธงไว้ ณ บรรทัดนี้เลยว่า การจับกุมตัวโรดริโก ดูเตอร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เพื่อนำตัวเขาขึ้นศาลอาญาโลก "คือการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่เอียงไปทางจีน" 

และมันคือ "เอนด์เกม" ของฝ่าย "โปรอเมริกัน" เพื่อเร่งกำจัดฝ่าย "โปรจีน" หรือ ฝ่ายเป็นกลางให้หมดสิ้น เพื่อปักหมุดให้ฟิลิปปินส์เป็น "ฐานที่มั่น" ของสหรัฐฯ อย่างถาวรมากขึ้นในทะเลจีนใต้

แม้ว่าการจับตัวดูเตอร์เตจะมีข้อหาพ่วงเรื่องที่เขาสั่งการให้สังหารผู้คนไปมากมายในช่วงทำ "สงครามต่อต้านยาเสพติด" จนถูกยัดข้อหา "ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ"

มันไม่ใช่เรื่อง "ฆ่าตัดตอน" เหมือนคนในไทยพยายามเชื่อมโยงไปถึงอดีตนายกฯ ที่เคยทำอะไรคล้ายๆ กันมาก่อน 

แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการกวาดล้างฐานกำลังทางการเมืองของเขา โดยทำการเก็บ "ตัวขุน" ไปก่อน จากนั้นค่อยเก็บหมากที่สำคัญรองๆ ลงไป

หลายคนที่ตามการเมืองฟิลิปปินส์คงจะทราบว่า ไม่ใช่แค่พ่อที่ "ถูกเก็บ" แต่ลุกสาวของดูเตอร์เตโดนก่อนพ่อเสียอีก นั่นคือ ซารา ดูเตอร์เต รองประธานาธิบดีแห่งประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังถูก

แม้ว่าเธอจะเป็นรองของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ แต่มาจากคนละสายการเมือง  (ไม่เหมือนระบบอเมริกันแท้ๆ ที่ประธานาธิบดีและรองฯ จะต้องมาจากพรรคเดียวกัน) ในระยะหลัง ซารา ดูเตอร์เต ขัดแย้งกับ มาร์กอส จูเนียร์ อย่างรุนแรง ถึงขนาดกล่าวหาว่าเธอพยายามลอบสังหารเขา

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2025 ซารา ดูเตอร์เตก็ถูกสภาผู้แทนราษฎรถอดถอนออกจากตำแหน่ง ทำให้เธอกลายเป็นรองประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง สาเหตุก็มาจากการที่เธอใช้งบประมาณแผ่นดินโดยมิชอบ, มีส่วนเกี่ยวข้องกับทีมสังหารในสงครามต่อต้านยาเสพติดที่โรดริโก ดูเตอร์เต ผู้เป็นพ่อเป็นผู้ดำเนินการนั่นเอง และข้อกล่าวหาว่าเธอว่าจ้างมือสังหารเพื่อเก็บมาร์กอส จูเนียร์

พักเรื่องในประเทศเอาไว้ก่อน เพราะการเมืองเรื่องตระกูลใหญ่ของฟิลิปปินส์มีความซับซ้อน และโกลาหลเหมือนแดน Wild West แต่เมื่อเรามองไปที่ความขัดแย้งภาพใหญ่มากขึ้น เราจะเห็นการมองผลประโยชน์ของชาติที่ต่างกันสุดขั้ว

ตระกูลดูเตอร์เตนั้น ตั้งแต่ผู้พ่อก็เอียงไปทางจีนอย่างมาก และด่าทอสหรัฐฯ อย่างหนัก ซึ่งไม่ใช่ท่าทีปกติของผู้นำฟิลิปปินส์ที่รู้กันว่าเป็น "ลูกรัก" ของสหรัฐฯ 

โปรดทราบว่าฟิลิปปินส์เคยเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ มีระบบการเมืองแบบอเมริกัน และผู้คนมีความอเมริกันนิยมมากกว่าแห่งใดในอาเซียน นั่นเพราะฟิลิปปินส์เคยเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา

ที่ไม่ปกติเอามากๆ ก็คือ ไม่นานหลังจากเข้ารับตำแหน่งในช่วงกลางปี ​​2016 โรดริโก ดูเตอร์เตได้ไปเยือนกรุงปักกิ่ง และที่ ณ มหาศาลาประชาชน เขาประกาศแยกตัวจากการอยู่ภายใต้อิทธิพลสหรัฐฯ หลังจากนั้นในสมัยของเขาฟิลิปปินส์ก็คบค้ากับจีนอย่างแนบแน่น ส่วนสหรัฐฯ ถูกทอดทิ้งอย่างไม่ใยดี

แม้ว่าฟิลิปินส์กับจีนจะมีเรี่องพิพาทกันเกี่ยวกับน่านน้ำทะเลใจีนใต้ แต่ในสมัยของดูเตอร์เต เรื่องนี้ "แทบไม่ใช่ปัญหา"

มาถึงสมัยของ ซารา ดูเตอร์เต เองแม้จะมีฐานะเป็นรองประธานาธิบดี แต่กลับไม่แสดงท่าทีต่อกรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะและน่านน้ำในทะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน ซึ่งรุนแรงขึ้นในสมัยของ มาร์กอส จูเนียร์ ทำให้นัการเมืองในค่ายมาร์กอสไม่พอใจกัน

และไม่ใช่เรื่องปกปิดอะไรกับการที่ มาร์กอส จูเนียร์ นั้นชิงชังจีนและรักสหรัฐฯ เพราะการที่เขามีชีวิตรอดมาจนถุึงทุกวันนี้ได้ เพราะสหรัฐฯ คอยช่วยเหลือบิดาของเขาและครอบครัวของเขาเอาไว้หลังจากลี้ภัยหนีพลังประชนโค่นล้มระบอบเผด็จการมาร์กอสในทศวรรษที่ 80

บุญคุณข้าวแดงแกงร้อนของอเมริกันต่อตระกูลมาร์กอสนั้นตอบแทนเท่าไรก็ไม่หมด เช่นเดียวกับที่บุญคุณจากเงินของชาติที่หายไปพร้อมกับการลี้ภัยของตระกูลมาร์กอสในครั้งนั้น 

ใครจะไปเชื่อว่าตระกูลมาร์กอสจะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง แต่พร้อมกับข้อครหาว่ามีพวกตะวันตกคอยหนุนหลังทำ "สงครามไอโอ" เพื่อล้างภาพความชั่วร้ายของตระกูลมาร์กอสแล้วทำให้เขาและพ่อเป็นฮีโร่ (มีรายงานระบุว่าเจ้าหน้าที่จากบริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง Cambridge Analytica อันอื้อฉาวเปิดเผยว่า มาร์กอส จูเนียร์ ได้ติดต่อขอให้ลบข้อมูลที่ไม่พึงปรารถนาเกี่ยวกับระบอบการปกครองของพ่อเขาออกจากโซเชียลมีเดีย จากนั้นก็ทำการสร้างภาพว่าระบอบมาร์กอสรุ่นพ่อนั้นประเสริฐเพียงใด)

ปฏิบัติการไอโอของพวกตะวันตกนั้นพลิกดำเป็นขาวได้น่ากลัวขนาดนี้ พวกบูมเมอร์และเจนเอ็กซ์ฟิลิปปินส์ไม่กล้าเลือกมาร์กอสเพราะ "เกิดทัน" แต่พวกเด็กๆ เจนใหม่ที่ "เกิดไม่ทัน" ก็หลงเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อเข้าจังๆ 

พอตระกูลมาร์กอสได้เป็นใหญ่อีกครั้ง ก็หวนกลับมาโปรสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ถึงขนาดชวนกลับมาตั้งฐานทัพที่ฟิลิปปินส์อีก พร้อมๆ กันนั้นก็มีเรื่องกับจีนไม่เว้นแต่ละวันเรื่องทะเลจีนใต้กับเรื่องจับคนจีนแล้วตั้งข้อหาว่าเป็นสายลับ 

โปรดทราบอีกครั้งว่า ในบรรดาชาติอาเซียนตอนนี้ มีแต่ฟิลิปปินส์ที่แสดงความเป็นศัตรูต่อจีนอย่างที่สุด แม้แต่เวียดนามที่พิพาทกับจีนเรื่องน่านน้ำและเกาะต่างๆ เหมือนกันอีกทั้งยังมองจีนเป็นศัตรูตามธรรมชาติมาตลอด แต่มาบัดนี้เวียดนามคบหากับจีนอย่างสนิทสนม ราวกับไม่เคยเป็นปฏิปักษ์กันมาก่อน

ขณะที่อาเซียนอาศัยใบบุญตลาดจีน แต่ฟิลิปปินส์นั้นเศรษฐกิจภายในก็ย่ำแย่ ค้าขายภายนอกก็ซบเซาเพราะเข้าตลาดจีนไม่ได้ กระนั้นก็ตาม ตระกูลมาร์กอสก็ปลุกระดมให้คนในชาติเกลียดกลัวจีนได้สำเร็จ เพื่อดึงอเมริกันกลับเข้ามา "ควบคุม" ฟิลิปปินส์อีกครั้ง

มาร์กอส จูเนียร์ ไปไกลกว่านั้นด้วยการไปสนิทสนมกับไต้หวัน แล้วคบหน้ากับญี่ปุ่นเพื่อวางกรอบเรื่องความมั่นคง ท่าทีนี้ก็คือการนำฟิลิปปินส์เป็น "ตาข่าย" ล้อมรอบจีนอีกครั้งโดยมีสหรัฐฯ เป็นคนวางข่าย จุดสำคัญคือฐานทัพของสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ใกล้กับไต้หวันและใกล้กัลทะเลจีนใต้ ซึ่งมาร์กอสเป็นคนเชื้อเชิญให้เข้ามา

ดังนั้น จีนจึงไม่พอใจ มาร์กอส จูเนียร์ เอามากๆ แต่สหรัฐฯ ต้องสนับสนุนเขาอย่างมาก เพราะเป็น "หมาก" ตัวเดียวที่เหลืออยู่ในอาเซียน

จากนั้นความขัดแย้งระหว่างสองตระกูลที่เอียงไปที่มหาอำนาจคนละประเทศ คือ มาร์กอส (โปรอเมริกัน) กับดูเตอร์เต (โปรจีน) ก็มาถึงจุดพีค เพื่อฝ่ายมาร์กอสกำจัด ซารา จากตำแหน่งรองประธานาธิบดี จากนั้นก็ทำการจับตัว ดูเตอร์เต ผู้เป็นพ่อ

ท่าทีของจีนที่ออกมาแทบจะทันทีก็คือ การเตือนศาลอาญาระหว่างประเทศว่าอย่า "เล่นการเมือง" ด้วยการจับกุมดูเตอร์เต และปรามว่าอย่า "ใช้สองมาตรฐาน"ในกรณีนี้ 

นั่นหมายความว่าจีนดูออกว่านี่คือเกมกวาดล้างกลุ่มอำนาจที่โปรจีนในฟิลิปปินส์ แต่ก็ยังไม่เอ่ยถึงสหรัฐฯ ว่าอยู่เบื้องหลังนี้หรือไม่? บางทีจีนคงจะทราบว่านี่เป็นเรื่องการเมืองภายในครึ่งหนึ่ง และการเมืองภายนอกครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม พวกอิฟลูเอนเซอร์สายโปรจีนในโซเชียลมีเดีย มักจะเตือนฟิลิปปินส์ว่า "อย่าชักศึกเข้าอาเซียน" เพราะเป็นประเทศเดียวแล้วที่แสดงความเป็นศัตรูกับจีนอย่างออกนอกหน้า และอาจเป็นตัวที่นำ "สงคราม" ระหว่างมหาอำนาจเข้ามาในภูมิภาค

เรื่องของฟิลิปปินส์จึงเกี่ยวกับคนไทยในแง่มุมนี้ และเราควรจะจับตาเอาไว้ให้ดี 

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - TOPSHOT - หุ่นจำลองของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (ซ้าย) และรองประธานาธิบดีซารา ดูเตอร์เต ของผู้ชุมนุมที่เดินขบวนไปยังรัฐสภาในระหว่างการประท้วงซึ่งตรงกับการแถลงนโยบายประจำปีของมาร์กอสในกรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2024 (ภาพถ่ายโดย Ted ALJIBE / AFP)

TAGS: #ฟิลิปปินส์ #ดูเตอร์เต #มาร์กอส