ไทยจงระวังความทะเยอทะยานของเมียนมาที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์

ไทยจงระวังความทะเยอทะยานของเมียนมาที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์

นี่ก็ 25 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ที่มีข่าวว่าเมียนมาจะซื้อเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กสำหรับโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ในเมียนมา

ข่าว/โครงการนี้ประกาศเมื่อปี 2000 โดยตั้งเป้าจะซื้อเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก 10 MW รัสเซียจะช่วยฝึกเจ้าหน้าที่เมียนมา 200 - 250 คนเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพลังงานนิวเคลียร์ ตั้งเป้าว่าจะสำเร็จใน 5 ปี 

แต่โครงการไม่เดินหน้าเอาเลย พอถึงปี 2010 โครงการก็ถูกพับไป โดยบอกเหตุผลว่าตัวเลขงบประมาณแพงเกินไป สูงถึง 200 - 400 ล้านยูโร ซึ่งเมียนมาเงินไม่พอจึงขอระงับไว้ก่อน แต่การฝึกเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของเมียนมาที่รัสเซียก็ยังดำเนินต่อไป
ตั้งแต่ปี 2000 ถึงปี 2025 เมียนมามีข่าวเรื่องนิวเคลียร์หลายครั้ง

เช่นหลังกรณี 9/11 ปี 2001 นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ปากีสถาน 2 คนลี้ภัยการตามล่าของสหรัฐฯ มาอยู่ที่เมียนมา เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากการที่เมียนมาตกลงจะซื้อเครื่องปฏิกรณ์จากรัสเซีย หรือหมายความว่า เมื่อมีอุปกรณืแล้ว เมียนมาอาจจะใช้นักวิทยาศาสตร์จากปากีสถานมาช่วยพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ในปี 2003 มีรายงานว่าเรือของเกาหลีเหนือไปจอดเทียบมทรี่เมียนมา นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่เริ่มสงสัยกันว่าเกาหลีเหนือกำลังร่วมมืออะไรกับเมียนมาหรือไม่?

ครั้งที่แรงที่สุดคือปี 2009 มีข่าวว่าเมียนมาติดต่อกับเกาหลีเหนือเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ ในเวลานั้นสื่อตะวันตกประโคมข่าวกันใหญ่ว่าเรื่องนี้จะทำลายดุลอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางแห่งถึงกับประเมินว่าเมียนมาจะลผิตอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จภายในปี 2014 และจะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ปีละลูกด้วยซ้ำ 

แต่ข่าวนี้ก็ถูกปัดตกไป เพราะมีการประเมินกันว่าศักยภาพด้านการเงินของเมียนมาในตอนนั้นไม่พอที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ (ซึ่งก็เหมือนกับกรณีการซื้อเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของรัสเซียที่ต้องพับไปเพราะไม่มีเงิน) 

แต่ในระยะหลัง รายได้ของเมียนมาเริ่มมากขึ้นจากการค้าขายทรัพยากรกับไทยและสมาชิกอาเซียนอื่นๆ (เช่นมาเลเซียและสิงคโปร์) รวมถึงการลงทุนจากจีน ทำให้เมียนมามีเงินมากขึ้นเรื่อยๆ (ในการทำเรื่องจำพวกนี้และการซื้ออาวุธ) รายได้ที่มากขึ้นอาจเป็นส่วนสำคัญที่เมียนมาหันมาสนใจพลังงานนิวคเลียร์อีกครั้ง

ล่าสุด คือ มิน อ่อง หล่าย ไปพบปูตินและไปดีลเรื่องซื้อโครงการเครื่องปฏิกรณ์โมดูลาร์ขนาดเล็ก 110 MW และอาจขยายได้ถึง 330 MW

เรื่องอาวุธนิวเคลียร์อาจถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นอีกโดยเฉพาะจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร เพราะคราวก่อน (ปี 2009) ก็เป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารนี่เองที่มีส่วนปล่อยข่าวเรื่องเกาหลีเหนืออาจจะช่วยเมียนมาผลิตอาวุธนิวเคลียร์

แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ แม้เมียนมาจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้ง International Atomic Energy Agency แต่ก็ไม่มีพลังงานนิวเคลียร์ใช้  และยังลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 1992 กระนั้นก็ตาม สถานะพวกนี้ใช้การอะไรไม่ได้ ถ้าเมียนมาตั้งใจจะเป็น Rogue state (รัฐอันธพาล) ซะอย่าง 

เช่น แม้จะเป็นสมาชิกก่อตั้ง IAEA แต่เมียนมาก็กลับไม่รับเงื่อนไขในการตรวจสอบอย่างละเอียดจากองค์กรนี้ในกรณีที่เมียนมามีโครงสร้างนิวเคลียร์ของตนเอง และแม้จะลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน

ดังนั้น เราจึงไม่อาจไว้ใจเมียนมาได้ง่ายๆ และแม้เมียนมาจะยังไม่แสดงท่าที่อยากจะมีอาวุธนิวเคลียร์ชัดเจน แต่ข้อมูลแวดล้อมทำให้อดคิดไม่ได้ว่าทหารเมียนมาซ่อนเจตนาอะไรบางอย่างเอาไว้

แอนดรูว เซลธ์ (Andrew Selth) รองศาสตราจารย์พิเศษประจำมหาวิทยาลัยกริฟฟิธและมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งศึกษาประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศและกิจการเอเชียและเมียนมามาหลายสิบปี กล่าวไว้ในหนังสือ Myanmar/Burma: Inside Challenges, Outside Interests ว่า "อาจกล่าวได้ว่าเมียนมาร์เป็นประเทศที่มียุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่งที่สุดในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์" และ "นายพลเมียนมาบางคนรู้สึกดึงดูดใจอย่างชัดเจนต่อแนวคิดในการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ โดยเชื่อว่าการครอบครองอาวุธทำลายล้างสูงจะทำให้เมียนมามีสถานะและอำนาจในการต่อรองเช่นเดียวกับที่พวกเขาเชื่อว่าเกาหลีเหนือมีอยู่ในขณะนี้ คำถามสำคัญคือ นี่เป็นเพียงความคิดปรารถนาหรือบ่งชี้ถึงความพยายามอย่างจริงจังของรัฐบาลในการดำเนินโครงการอาวุธนิวเคลียร์" (หน้า 187) 

เซลธ์ แสดงความเห็นว่าถ้าเมียนมามีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ก็ย่อมต้องถูกขับออกจากอาเซียน แต่เท่ากับทำให้เมียนมาตกอยู่ในสภาวะเป็นรัฐอันธพาล หรือ Rogue state เหมือนในช่วงทศวรรษที่ 80 อีกครั้ง

แต่ต่อให้เป็น Rogue state อินเดีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจนิวคเลียร์ที่อยู่ข้างๆ เมียมาคงไม่ยอมให้เมียนมามีอาวุธนิวเคลียร์ง่ายๆ เหมือนกัน อินเดียนั้นมองว่าการที่เมียนมามีข่าวเรื่องนิวเคลียร์พัวพันกับปากีสถานและเกาหลีเหนือ เกรงว่าจะเป็นภัยต่ออินเดียที่กังวลกับแนวพันธมิตรจีน-ปากีสถาน-เกาหลีเหนือ

ในรายงาน India's National Security: Annual Review 2010 ซึ่งออกมาในช่วงที่มีข่าวความพยายามถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวคเลียร์ของเกาหลีเหนือให้กับเมียนมาพอดี ได้อ้างทัศนของ เซลธ์ ที่ว่า "ได้โต้แย้งว่าเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์ที่ผู้นำกองทัพเมียนมาใช้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ก็เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองเพื่อปกป้องตนเองจากการแทรกแซงทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ เช่นในอิรักและอัฟกานิสถาน" และอ้างถึง เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ นักข่าวที่เชี่ยวชาญเรื่องเมียนมาที่กล่าวว่า "แม้ว่าเมียนมาอาจไม่มีระเบิดหรือแม้แต่ศักยภาพด้านนิวเคลียร์...แต่พวกเขาก็สนใจที่จะครอบครองอย่างแน่นอน"

อินเดียเลือกที่จะเชื่อตามข้อสรุปของ เซลธ์ ว่ายังไม่ชัดเจนเรื่องที่เมียนมากำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ “ควันจำนวนมากปกคลุมความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของพม่ามาโดยตลอด ตั้งแต่เดือนมิถุนายน (2009) เป็นต้นมา ปริมาณควันก็เพิ่มมากขึ้น แต่ดูเหมือนไม่มีใครรู้ว่าควันเหล่านี้ซ่อนไฟจริงหรือไม่ เมื่อเวลาผ่านไป ความจำเป็นในการหาคำตอบสำหรับคำถามสำคัญนี้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น”

แต่ถึงจะยังคลุมเครือ แค่อินเดียก็ยังอุตส่าห์เสนอแนะแนวทางรับมือ โดยชี้ว่า "อินเดียจำเป็นต้องเตรียมพร้อมทั้งในแง่ของการปกป้องผลประโยชน์ในเมียนมาร์และในเวลาเดียวกันก็ต้องใช้ประโยชน์จากพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของความสัมพันธ์ของอำนาจภายนอก" และ "เนื่องด้วยสถานการณ์ด้านความมั่นคงและการเมืองที่ไม่แน่นอน ความคิดริเริ่มล่าสุดของรัฐบาลนิวเดลีในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับเมียนมาจึงเป็นสิ่งที่ทันท่วงทีและจำเป็นอย่างยิ่ง"

นี่เป็นแนวทางการรับมือของประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาระยะนับพันกิโลเมตร ซึ่งมีอยู่เพียง 3 ประเทศ คือ อินเดีย ไทย และจีน โดยที่ไทยก็ควรจะขยับทำอะไรที่ชัดเจนบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้

คำถามสำคัญก็คือ จีนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่? เมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนที่มีข่าวการเมียนมากับอาวุธนิวเคลียร์ ในตอนนั้นจีนไม่แสดงท่าทีในเรื่องนี้ เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ แสดงทัศนะว่าว่าจีนตระหนักดีถึงความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของเมียนมา โดยชี้ว่าการเยือนเกาหลีเหนือผ่านจีนของ ชเว มาน เสนาธิการกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ และผู้ประสานงานปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจเป็นอันดับสามของรัฐบาลเมียนมาในขณะนั้น (เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2008) แสดงให้เห็นว่าจีน "ไม่เพียงแต่รับรู้ถึงการเดินทางครั้งนี้... แต่ยังเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดด้วย... [และ] เห็นได้ชัดว่าจีนมีส่วนรู้เห็นในความร่วมมือครั้งใหม่ระหว่างเกาหลีเหนือและพม่า"

จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าเมียนมาร่วมมือกับเกาหลีเหนือเพื่อหวังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ หากเชื่อตาม เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ ก็ต้องเชื่อไว้ก่อนว่าเมียนมากำลังซุ่มทำอะไรบางอย่างอยู่ แต่หากเชื่อตาม เซลธ์ เรื่องนี้ยังคลุมเครืออยู่มาก

ในขณะที่ฝ่ายรัฐที่เป็นปฏิปักษ์กับเมียนมา คือ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีรายงานปี 2010 ที่ส่งถึงรัฐสภาเกี่ยวกับสถานะของการปฏิบัติตามสนธิสัญญาและข้อตกลงควบคุมอาวุธ มีการระบุว่าเมียนมามีสถานะ "น่ากังวล" เกี่ยวกับ "ความสนใจในการดำเนินโครงการนิวเคลีย ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับเกาหลีเหนือ" รายงานดังกล่าวเน้นย้ำถึงความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ แต่ระบุว่าสหรัฐฯ "ไม่มีหลักฐานที่จะสนับสนุนข้อสรุปที่ว่าเมียนมาร์ละเมิดพันธกรณี NPT หรือมาตรการป้องกันของ IAEA" 

จนกระทั่งในปีนี้ ความทะเยอทะยานเรื่องพลังงานนิวคเลียร์ของเมียนมากลายเป็นข่าวอีกครั้ง แม้ว่ามันจะเป็นการซื้อเครื่องปฏิกรณ์เพื่อการผลิตพลังงงานในเชิงสันติก็ตาม แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า การได้มาซึ่งเครื่องปฏิกรณ์จากรัสเซียอาจจะเป็นตัวเสริมปฏิบัติการลับที่เมียนมาซ่อนเอาไว้ในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาหรือไม่?

สรุป - แม้จะมีทรัพยากรให้ผลิตไฟฟ้าได้มากมายแต่ก็ขายให้ไทยเสียเยอะ อีกทั้งเมียนมามีปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้อย่างหนัก ไฟดับติดๆ กระทั่งในเมืองใหญ่และเมืองหลวง ดังนั้น มันก็มีเหตุผลให้เข้าใจได้ว่าเมียนมาต้องการสิ่งนี้เพราะความจำเป็น

แต่การเมืองโลกมันก็เอาแน่เอานอนไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นโปรดจับตาดูให้ดี อย่างกรณีมิน อ่อง หล่าย ไปรัสเซียครั้งนี้แม้จะมีกำหนดการณ์ชัดเจน แต่ก็คล้ายกับเป็นการดึงรัสเซียมาถ่วงดุลจีนที่เริ่มมีอิทธิพลต่อกองทัพเมียนมาและชนกลุ่มน้อยมากขึ้น

แม้ว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อน ลินท์เนอร์ จะเชื่อว่าจีนรู้เห็นเป็นใจกับการติดต่อระหว่างเมียนมากับเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันในเชิงประจักษ์ ตรงกันข้าม หลักฐานเชิงประจักณ์เรื่องความเกี่ยวพันกับเกาหลีเหนือและรัสเซียในเรื่องนิวเคลียร์มีอยู่มากมาย แต่จีนกลับไม่มีอยู่เลย ดังนั้น เราก็อาจจะอนุมานย่อนกลับได้เช่นกันว่า จีนไม่สนับสนุนโครงการนิวเคลียร์ของเมียนมา (เช่นเดียวกับอินเดีย) 

จีนสามารถแผ่อิทธิพลต่อกองทัพเมียนมาได้โดยอาศัยสงครามกลางเมืองกับชนกลุ่มน้อย ไม่จำเป็นต้องติดอาวุธนิวเคลียร์ให้เมียนมา ตรงกันข้าม การทำแบบนั้นจะเป็นภัยต่อจีนเองและเป็นภัยต่ออาเซียน ซึ่งจีนเริ่มจะมีแต้มต่อในการแผ่อิทธิพลเข้ามา

ในขณะที่รัสเซียมีเหตุผลมากมายที่จะใช้เมียนมาเป็นฐานที่มั่นในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก และการที่เมียนมาจะตั้งโรงงานนิวเคลียรร์ที่ทวายพร้อมๆ กับเชิญรัสเซียเข้ามาลงทุนที่ท่าเรือทวาย ก็ย่อมทำให้หลายคนรู้สึกว่า นี่คือการเชื้อเชิญที่มีนัยด้านความมั่นคงมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ

ในเวลานี้จีนสามารถยึดหัวหาดได้ที่ท่าเรือเจ้าก์ผิ่ว ในรัฐยะไข่เอาไว้ได้ ส่วนท่าเรือทวายยังไม่มีใครกล้าที่จะเข้าไปลงทุกอีกหลังจากเจ็บหนักไปหลายรายประเทศแล้ว ในแง่การลงทุนมันย่อมไม่คุ้มสำหรับประเทศที่มุ่งทางเศรษฐกิจ (เช่น ไทยหรือประเทศอื่นๆ ในอาเซียน) แต่ถ้าในแง่ความมั่นคง สำหรับรัสเซียแล้วคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

ในแง่นี้ ความสัมพันธ์รัสเซีย-จีนในเวทีเมียนมา ณ เวลาที่สายลมการเมืองโลกกำลังเปลี่ยนทิศ มันน่าสนใจกว่าอีก

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo by Pavel Bednyakov / POOL / AFP

TAGS: #เมียนมา #นิวเคลียร์