ทำไมต้องกีดกันเงินไทย? และลาวจะล่มสลายหรือไม่ถ้าเลิกใช้เงินบาท

ทำไมต้องกีดกันเงินไทย? และลาวจะล่มสลายหรือไม่ถ้าเลิกใช้เงินบาท

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาล สปป. ลาวต้องการให้ประชาชนเลิกใช้ 'เงินต่างชาติ' (ซึ่งก็คือเงินบาทนั่นเอง) และหันมาใช้เงินกีบ - นี่เป็นความพยายามครั้งที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้ และก็ไม่น่าจะสำเร็จอีกนั่นแหละ

แต่ก่อนมันเป็นปัญหา 'มหภาค' ที่รัฐบาลกังวลอยู่ฝ่ายเดียวเพราะพูดไปประชาชนก็ไม่ค่อยจะทำตาม แต่ล่าสุด สถานการณ์เปลี่ยนไป เพราะมีกลับมีคนลาวจำนวนหนึ่งรณรงค์ไม่รับเงินบาท ถึงขนาดทำคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียเพื่อประกาศว่า "ไม่เอาเงินบาท"

เรื่องจึงบานปลายกลายเป็นปัญหา 'จุลภาค' ระหว่างคนไทยและลาว เพราะคนไทยจำนวนหนึ่งไม่พอใจ เพราะคิดว่าลาวพยายามโยนความผิดมาให้เงินบาทว่าเป็นตัวการทำให้เศรษฐกิจลาวย่อยยับ (เงินเฟ้อรุนแรง หนี้ประเทศท่วมหัว ค่าเงิน่ออนลงทุกที) 

แล้วมันจริงหรือไม่? เรื่องนี้ตอบแบบฟังธงได้ยาก เพราะสมมติฐานทางเศรษฐศาสตร์มองได้หลายมุม 

มาที่เรื่องคนลาวนิยมใช้เงินบาทกันก่อน 

เรื่องนี้ต้องโทษรัฐบาลลาวที่บริหารเศรษฐกิจไม่ดี จึงทำให้ความน่าเชื่อของเงินกีบ 'สาละวันเตี้ยลง' ไม่หยุด เมื่อเงินอ่อนค่าเรื่อยๆ แถมรัฐบาลยังบริหารไม่เอาไหนทำให้ปัญหายิ่งสาหัส ผลก็คือไม่มีใครอยากจะเก็บเงินที่ไม่มีค่า ทุกคนก็ย่อมต้องการเงินที่ค่าสูงเพื่อรักษามูลค่าอาไว้ นั่นคือ เงินบาทและดอลลาร์

ยกตัวอย่างเช่น นาย A ได้รับเงินเดือน 3 ล้านกีบ ในสถานการณ์ที่ประเทศหมดหวังเรื่องเศรษฐกิจ (เงินเฟ้อรุนแรง หนี้ประเทศท่วมหัว ค่าเงินอ่อนลงทุกที) ถ้าเขายังตะบี้ตะบันเก็บเงินกีบเอาไว้ มูลค่าเงินของเขาจะระเหยไปกับอากาศในบัดดล เพราะในเวลาไม่นาน เงินเดือน 3 ล้านกีบของเขาอาจจะเหลือมูลค่าไม่ถึง 2 ล้านด้วยซ้ำ

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? เพราะเงินเฟ้อนั่นเอง ปัญหาส่วนนี้ยิ่งหนักเพราะลาวนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นหลัก ดังนั้นเพื่อรักษากำลังซื้อ ผู้บริโภคจึงต้องถูกบังคับกลายๆ ให้ใช้เงินบาทซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้ามา (ส่วนพวกกุ้งหอยปูปลาผักต่างๆ นั้น ซื้อเงินกีบคุ้มกว่า) บวกกับค่าเงินอ่อนเข้าไปอีกนับตั้งแต่กลางปี 2021 มาแล้วที่เงินกีบต่อเงินบาทร่วงมาตลอด ถ้านาย A ยังมั่นใจในเงินกีบต่อไปไม่ยอมแลกเงินเดือนเก็บเป็นเงินบาท นาย A จะต้องเสียกำลังซื้อไปมากมาย พูดง่ายๆ คือมีโอกาสหมดตูดสูงมาก 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาชนที่ทำมาหากินแท้ๆ ไม่ใช่พวกทำคอนเทนต์ จะยังใช้เงินบาทต่อไปเพราะหาไม่แล้วหากถือเงินกีบต่อไปพวกเขาจะซื้อของแทบไม่ได้ ยกเว้นว่า คนที่รักชาติลาวและต้องการยกระดับเงินกีบลาวจริงๆ จะยอม "สละชีพเพื่อชาติ" นั่นคือไม่ซื้อสินค้าต่างชาติ และใช้สินค้าในลาวเป็นหลัก หากทำแบบนี้จะพอใช้เงินกีบได้บ้าง แต่จะนานสักแค่ไหนก็ยังน่าสงสัย

ความจริงคนไทยไม่ควรไม่พอใจที่ลาวรณรงค์ไม่ให้ใช้เงินบาท เพราะเป็นอธิปไตยทางการเงินของเขา และที่จริงหากลาวต้องการมีอิสรภาพทางการเงินการคลังก็ควรใช้สกุลเงินของตนเป็นหลัก โปรดทราบว่า การใช้เงินบาทหรือดอลลาร์มากเกินไปนั้นทำให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งชาติของลาวจะทำงานได้ยากขึ้นในการกำหนดนโยบาย

แต่สิ่งที่คนไทยไม่พอใจไม่ใช่เรื่องที่ลาวจะไม่ใช่บาท แต่เพราะคนลาวบางคน (ย้ำว่าบางคน) ไปโพนทะนาว่า "เพราะใช้เงินบาทไงเล่า ลาวถึงหายนะแบบนี้" ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด โปรดเข้าใจว่าปัญหาเศรษฐกิจที่ลาวประสบนั้นเป็นฝีมือของรัฐบาลลาวล้วนๆ และจุดสูงสุดของปัญหาคือ "ไม่มีใครไว้ใจเงินกีบ" ในเมื่อไม่มีใครเชื่อใจมูลค่าของมัน ต่อให้รณรงค์จนปากเปียกปากแฉะแค่ไหน คนก็ไม่ทำตาม 

อย่างที่ผมบอกไปข้างต้นว่า สมมติฐานทางเศรษฐศาสตร์มักจะฟันธงได้ยาก ส่วนหนึ่งเพราะกลไกเศรษฐกิจมักจะลักลั่นขัดแย้งกันเอง ตัวอย่างเช่น รัฐบาลลาวต้องการเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลลาวเชื่อว่าปัญหาเงินเฟ้อเกิดขึ้นเพราะประชาชนใช้เงินบาท (และดอลลาร์) มากเกินไป ซึ่งความจริงก็มีส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะหากคุณซื้อสินค้าที่มีทุนการผลิตในลาว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินบาทแถมยังสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ด้วย แต่ถ้าต้นทุนทั้งหมดอยู่ในไทยยังไงก็ต้องใช้เงินบาท ยิ่งไม่ใช้เงินบาท ราคาสินค้าจะยิ่งเฟ้อ เนื่องจากถ้าซื้อด้วยเงินกีบที่อ่อนค่าไม่หยุด มันจะยิ่งทำให้สินค้าตัวนั้นแพงไม่หยุดเหมือนกัน

กรณีตัวอย่างคือ เมื่อปีที่แล้ว ทางการลาวใช้เหตุผลเดียวกันนี้ปิดร้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโดยสื่อต่งประเทศคาดว่าทำแบบนี้ก็เพื่อหวังจะแก้เงินเฟ้อ แต่ปรากฏว่าเงินเฟ้อก็ไม่ลงเสียที เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่คือการแก้ปัญหาผิด? ผมคิดว่ามันแก้ไม่ผิด แต่แก้ไม่ถูกจังหวะมากกว่า ซึ่งผมจะอธิบายต่อไป

การปิดร้านแลกเงินก็เพื่อบีบให้ประชาชนไปแลกกับธนาคารของรัฐ ซึ่งควบคุมโดยธนาคารแห่งชาติลาว ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนโดยรัฐ (ร้านแลกเงินและตลาดมืดจะมีอัตราแลกเงินบาทที่สูงกกว่า กลายเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เงินกีบอ่อนค่าลงไป) และอีกสาเหตุก็เพื่อดึงเงินตราต่างประเทศคือเงินบาทเข้าสู่คลังโดยตรง

ลาวต้องการเงินตราต่างประเทศจำนวนมากและไม่ขาดสาย เพราะต้องนำใช้หนี้รัฐบาลมหาศาลในสัดส่วนถึง 115.5% ของ GDP (ตัวเลขจาก IMF) และส่วนหนึ่งเพราะทุนสำรองต่ำเตี้ยมากจนไม่ถึงมาตรฐานโลก (ประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำแสนต่ำ) หากทุนสำรองมีแค่นี้ โอกาสที่จะเกิดวิกฤตแล้วประเทศล้มละลายมีสูงมาก ดังนั้น จึงต้องรีบหาเงินตราต่างประเทศเข้ามา วิธีการหนึ่งคือกระตุ้นการท่องเที่ยวและการลงทุน ดังนั้น ลาวจึงคิดแคมเปญ Visit Laos Year 2024 นั่นเอง

แต่รัฐบาลลาวและคนลาวไม่เก่งในเรื่องหาเงิน แต่เก่งในเรื่อง 'ไล่เงิน'  เช่น การโยนบาปว่าเงินบาทคือตัวการเงินเฟ้อบ้าง การรีดไถเงินจากนักท่องเที่ยวไทยบ้าง คนลาวในโซเชียลมักจะเก่งในเรื่องด่าคนไทยบ้าง พวกนี้คือตัวการทำให้คนไทยเลิกไปเที่ยวลาว ผลก็คือลาว 'ฆ่าตัวตายโดยไม่รู้ตัว' เพราะคนไทยคือนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในลาว (ตัวเลขจากกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว จำนวนผู้เข้ามาเที่ยวลาวมากที่สุดมาจากประเทศไทย 430,979 คน รองลงมาคือเวียดนาม 224,461 คน และจีน 223,350 คน)

ครั้นพอจะไปพึ่งจีนโดยออกฟรีวีซ่าให้จีน ลาวก็ไม่ตระหนักหรอกว่าจีนกำลังเศรษฐกิจห่อเหี่ยวแค่ไหน หากต้องการจะเที่ยวให้คุ้ม (คือมาลงทะเล มาสนุก กินอาหาร) คนจีนจะมาไทยมากกว่า ส่วนทางรถไฟจีน-ลาวนั้นนั่นต้องเสียเวลานั่งนานเกินไปไม่คุ้มกับการมาเที่ยวดินแดนที่หน้าตาเหมือนสิบสองปันนาในสายตาคนจีน (นั่นคือเที่ยวสิบสองปันนาดีกว่า จะเข้าไปลาวให้ลำบากทำไม)

ความย้อนแย้งอีกอย่างของการปิดร้านแลกเงินและกระตุ้นให้ประชาชนไม่เอาเงินบาทโดยหวังที่จะแก้เงินเฟ้อ แต่ผลของมันก็คือจะทำให้ต้นทุนการสั่งสินค้าจากไทยสูงขึ้น เพราะประชาชนที่ต้องซื้อสินค้าจากไทยจะหาเงินบาทไปซื้อสินค้าได้ยากขึ้น เนื่องจากฝั่งไทยก็ไม่ยอมรับเงินกีบ (ไม่รับแลกด้วยซ้ำ) ครั้นจะไปแลกกับหน่วยงานรัฐ รัฐก็ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ไม่สนองต่อการทำธุรกิจแบบเรียลไทม์

ที่ยอกย้อนอีกเรื่อง คือ รัฐบาลลาวต้องการเงินตราต่างประเทศ (คือเงินบาท) จากคนไทยแต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ต้องการให้เงินบาทไหลออกไปเพราะต้องการเก็บเงินตราต่างประเทศในทุนสำรอง ดังนั้น จึงบังคับให้ประชาชนต้องใช้เงินกีบทั้งหมด นอกจากปิดร้านแลกเงินแล้ว ล่าสุด ยังกวดขันไม่ให้ปิดป้ายราคาสินค้าและบริการด้วยเงินบาทอีก 

แต่ผลของการทำแบบนี้ก็จะที่เอ่ยไปข้างต้น คือ เมื่อไม่ให้ประชาชนใช้เงินบาท ถ้าประชาชนจำเป็นต้องใช้เงินซื้อสินค้าที่มีต้นทุนสูงจากต่างประเทศ กำลังซื้อของพวกเขาจะลดลงทันที ในแง่หนึ่งมันดีที่ลดการซื้อสินค้าจากต่างประเทศลงได้ แต่ประเทศลาวไม่มีอุตสาหกรรมเป็นของตัวเอง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งก็ต้องซื้อของนอกอยู่ดี เว้นแต่รัฐบาลลาวจะเร่งพัฒนาการพึ่งพาตนเอง แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นวี่แววมีแผนทำแบบนั้น 

อีกอย่างที่รัฐบาลลาวทำ คือเมื่อต้นปีนี้เพิ่งจะบังคับให้ธุรกิจต่างชาติที่มาลงทุนในลาวจะต้องเปิดบัญชีธนาคารในลาว หมายความว่าจะต้องทำธุรกิจด้วยเงินกีบเท่านั้น เรื่องนี้ก็เพื่อลดการพึ่งพาเงินต่างชาติ และเพิ่มอำนาจเงินกีบ ลดการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ แต่ทำแบบนี้ธุรกิจที่ไหนเขาจะยอมบ้าง? เพราะค่าเงินกีบมันแย่ขนาดนี้ ในกรณีแบบนี้จะมีก็ต้องอนุญาตให้ทำ Bahtization (ทำธุรกรรมด้วยเงินบาทเป็นหลัก) หรือ Dollarization (ทำธุรกรรมด้วยดอลลาร์เป็นหลัก) ด้วยซ้ำ เพื่อดึงดูดการลงทุน

โปรดทราบว่าการทำ Dollarization (หรือ Bahtization) นั่นคือใช้เงินสกุลที่ค่าแข็งกว่าหลายเท่า จะช่วยลดปัญหาเงินเฟ้อได้ แต่ลาวทำตรงกันข้าม

มาถึงจุดนี้ ผมเห็นแล้วว่ารัฐบาลกำลังเลือกที่จะแก้ปัญหาทุนสำรองและการชำระหนี้มากกว่าแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เพราะจากมาตราการต่างๆ นั้นจำเพาะเจาะจงไปที่การดึงเงินตราต่างประเทศไม่ให้ไหลออก ส่วนที่บอกว่าจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อนั้นเป็นเรื่องรอง เพราะทำแบบนี้จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ยาก พูดสั้นๆ คือต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง และรัฐบาลลาวเลือกที่จะแก้ปัญหาการคลังก่อน 

อย่างที่บอกไป เรื่องเศรษฐศาสตร์นั้นมีความยอกย้อนซ่อนกล บางทีรัฐบาลลาวอาจจะคิดถี่ถ้วนแล้วว่าการหยุดการพึ่งพาเงินบาท (โดยประชาชน) จะช่วยสร้างเสถียรภาพทางการคลัง แม้ว่าเรื่องนี้จะแลกมาด้วยการทำร้ายกระเป๋าเงินของประชาชนก็ต้องยอมทำ 

สรุป - คนไทยไม่ต้องกังวลว่าการที่ สปป.ลาวแบนการใช้เงินบาทมันจะทำให้ไทยเสียหน้า หรือว่าจะทำให้ลาวต้องล่มจม ผมมองว่านี่คือการเลือกของรัฐบาลลาวที่มีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์ เพียงแต่ว่าลาวไม่สามารถแบนเงินบาทได้เต็มที่ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการหาเงินเข้าประเทศ และไม่มีอุตสาหกรรมภาคการผลิตที่สำคัญๆ เป็นของตัวเอง แถมการบริหารทรัพยากรที่เป็นตัวทำเงินเข้าประเทศ ยังทำกันอย่างไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพด้วย 

ได้แต่เอาใจช่วยคนลาวและรัฐบาลลาวว่า สักวันคงหาทางแก้ที่ชะงัดได้เจอ 

ป.ล. - ขอปิดท้ายด้วยเสียงของคนลาวจากรายงานของ Radio Free Asia ภาคภาษาลาว ที่ทำรายงานเรื่อง "รัฐเรียกร้องให้ประชาชนใช้เงินกีบ แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ยังปฏิบัติไม่ได้" ตอนหนึ่งได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจจขนาดใหญ่ในเวียงจันทน์ ที่บอกว่าการไม่ให้ใช้เงินบาทนั้น "ไม่ได้หรอก รัฐบาลทำไม่ได้ ตอนนี้เราซื้อเงินไทย เราต้องจ่ายเป็นเงินไทย เราไม่ใช้กีบ เราต้องใช้เรต (อัตราแลกเปลี่ยน) สูง ถ้าเราได้แลกเป็นเงินบาท คือคนอื่นก็ทำ ขอทำไม่ได้หรอก เราทำคนเดียว คนอื่นไม่ได้ทำด้วย เราก็เหมือนเดิม" 

ส่วนผู้ประกอบการอีกคนที่สะหวันนะเขตบอกว่า  “คนลาวส่วนใหญ่ยังลักลอบใช้เงินบาทเหมือนเดิม รัฐบาลพวกเขารณรงค์ให้ใช้กีบ การใช้กีบมันก็ไม่เหมือนเดิม (กับการใช้เงินบาท) นั่นแหละ ในตลาดก็ยังใช้ (เงินบาท) เหมือนเดิม ซื้อของ ซื้อเสื้อผ้าก็ใช้ ยังคงใช้เงินบาทเหมือนเดิม ไม่มีใครใช้เงินกีบหรอก เงินกีบก็แทบจะไม่อยากขายอีกแล้ว สินค้าราคาแพงและรถยนต์ยังคงขายในราคาดอลลาร์และบาทกันหมด ขนาดศูนย์ใหญ่เลยนะ"

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better 

Photo by Jack TAYLOR / AFP

TAGS: #เงินกีบ #ลาว