'สีจิ้นผิง'คือศูนย์กลางของทุกสิ่ง จับตาการประชุม'เหลียงฮุ่ย'ยุคท่านผู้นำอำนาจเบ็ดเสร็จ

'สีจิ้นผิง'คือศูนย์กลางของทุกสิ่ง จับตาการประชุม'เหลียงฮุ่ย'ยุคท่านผู้นำอำนาจเบ็ดเสร็จ

ข้อมูลเบื้องต้น 'เหลียงฮุ่ย' คือ?

  • การประชุมสองสมัย หรือ 'เหลียงฮุ่ย' (两会 แปลว่าการประชุมคู่) เป็นคำเรียกรวมสำหรับการประชุมเต็มคณะประจำปีของ "สภาประชาชนแห่งชาติ" (NPC) และ "การประชุมปรึกษาหารือทางการเมืองของประชาชนจีน" (CPPCC) ซึ่งโดยปกติจะจัดขึ้นทุกเดือนมีนาคมที่มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่งในช่วงวันเดียวกัน 
  • 'เหลียงฮุ่ย' ใช้เวลาประมาณสิบวัน ระหว่างนั้นที่ประชุม NPC และ CPPCC จะรับฟังรายงานและทำการปรึกษาหารือจากนายกรัฐมนตรี หัวหน้าอัยการ และประธานและหัวหน้าผู้พิพากษาของศาลประชาชนสูงสุด หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐได้จัดงานแถลงข่าวของจีนและต่างประเทศภายหลังปิดการประชุมและตอบคำถามจากนักข่าวชาวจีนและต่างประเทศ ณ การประชุม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการประชุมทั้งสองสมัย
  • ดังนั้น 'เหลียงฮุ่ย' จึงมีความสำคัญในแง่เป็นการกำหนดทิศทางของประเทศผ่านการประชุม และเมื่อประชุมเสร็จแล้ว สาธารณชนจะทราบได้ว่าประเทศจะมุ่งหน้าไป ทางไหน โดยผ่านการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ทำมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ชาวโลกจะทราบว่าจีนมีเป้าหมายอะไร อย่างไรก็ตาม 'เหลียงฮุ่ย' คราวนี้มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญใน'เหลียงฮุ่ย'
1.
การประชุม 'เหลียงฮุ่ย' เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ จะไม่มีการจัดแถลงข่าวโดยนายกรัฐมนตรีในปีนี้และในอนาคตก็จะไม่มี (แต่ไม่มีการระบุว่าจะจัดขึ้นอีกเมื่อไร) ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 33 ปี ตามธรรมเนียมแล้ว นับตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมา นายกรัฐมนตรีของสภาแห่งรัฐได้จัดงานแถลงข่าวของจีนและต่างประเทศหลังจากการปิดการประชุมเหลียงฮุ่ย และตอบคำถามจากนักข่าวชาวจีนและต่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็น หลี่เผิง, จูหรงจี, เวินเจียเป่า และหลี่เค่อเฉียง ต่างก็จัดงานแถลงข่าวตามปกติระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ หลี่เฉียง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เขาจะไม่จัดงานแถลงข่าวอีกต่อไป เรื่องนี้ทำให้เกิดเสียงโจษจันเป็นอันมากทั้งในจีนและในต่างประเทศ ว่าเป็นการบั่นทอนอำนาจของนายกรัฐมนตรี เพื่อเสริมการกุมอำนาจของ สีจิ้นผิง ในฐานะศูนย์กลางอำนาจเบ็ดเสร็จหรือไม่

2. จากการรายงานของสำนักข่าว RFI นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า หลี่เฉียง เองอาจเป็นเจ้าของความคิดที่จะยกเลิกการแถลงข่าว เพื่อไม่ให้กระทบต่อบารมีของ สีจิ้นผิง เนื่องจาก หลี่เฉียง รับตำแหน่งในยุคของ สีจิ้นผิง ดังนั้น หลี่เฉียง จึงน่าจะยอมถอยเอง อย่างไรก็ตาม RFI กล่าวว่า "เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่ามีเพียง สีจิ้นผิง เท่านั้นที่สามารถตัดสินใจเช่นนั้นได้" ดังนั้น มันจึงสะท้อนให้เห็นว่า สีจิ้นผิง ได้กุมอำนาจในทุกระดับการบริหารประเทศภายใต้กำมือของเขา และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการประชุมใหญ่ในสมัยของเขา เช่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2561 การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติครั้งที่ 13 ได้มีการผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกเลิกวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้ สีจิ้นผิง ดำรงตำแหน่งได้ไม่จำกัด 

3. เรื่องนี้ยังสะท้อนว่า อำนาจของนายกรัฐมนตรีจีนได้ถูกจำกัดลงแล้ว จากที่แต่เดิมนายกรัฐมนตรีจีนอำนาจเฉพาะที่ต่างจากเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ หรือตำแหน่งประธานาธิบดีจีน นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการ ใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและรายละเอียดทางเทคนิคในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ในขณะที่เลขาธิการใหญ่รวบรวมการสนับสนุนทางการเมืองที่จำเป็นสำหรับนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ภายใต้การนำของ สีจิ้นผิง ซึ่งเป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคฯ เขาได้รวบอำนาจศูนย์กลางไว้ที่ตัวเขา และดึงเอาความรับผิดชอบในพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีมาอยู่ที่เขา ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจด้วย

4. สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมอีกเรื่องก็คือ แต่เดิมนายกรัฐมนตรีจะได้รับเลือกผ่านการพิจารณาของสมาชิกกรมการเมืองของพรรคฯ (CCP Politburo) และผู้ดำรงตำแหน่งและสมาชิกกรมการเมืองของพรรคฯ ที่เกษียณอายุแล้ว นายกรัฐมนตรีในอนาคตในที่สุดจะถูกเลือกเป็นรองนายกรัฐมนตรีก่อนจะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้นำรอบต่อๆ ไป และมักจะมาจาก "กลุ่มอำนาจ" ที่อยู่คนละสายกับผู้ที่เป็นเลขาธิการพรรคฯ หรือประธานาธิบดี แต่กระบวนการนี้เปลี่ยนไปภายใต้ยุคสมัยของสีจิ้นผิง โดยคนที่ได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ หลี่เฉียง เป็นพันธมิตรของ สีจิ้นผิง และไม่เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเลย

5. สื่อนอกจีนรายหนึ่งซึ่งขอสวนนามได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการประชุมเหลียงฮุ่ยครั้งนี้เอาไว้ว่า การยุติการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีไม่เพียงแต่หมายความว่าสถานะของนายกรัฐมนตรีลดลงเท่านั้น แต่ "ความโปร่งใสของกระบวนการประชุมทั้งสองก็ลดลง นอกจากนี้ยังหมายความว่าในการประชุมเหลียงฮุ่ยในอนาคต ทุกสิ่งที่จะให้โลกภายนอกได้รับรู้ ... จะได้รับการตรวจสอบและอนุมัติโดยเลขาธิการใหญ่" ซึ่งหมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องได้รับการอนุมัติโดย สีจิ้นผิง ในขณะที่อำนาจของสภาลดลง เพราะมันอยู่ภายใต้อำนาจของเลขาธิการใหญ่ของพรรคฯ หรือประธานาธิบดี ต่างจากยุคก่อนที่พรรคฯ และสภาฯ ร่วมกันกำหนดตำแหน่งผู้นำและทิศทางของประเทศโดยผู้อาวุโสในพรรคที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกกรมการเมือง 

รายงานพิเศษโดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better

Photo by GREG BAKER / AFP

TAGS: #สีจิ้นผิง #จีน #เหลียงฮุ่ย