จับตาการเลือกตั้งไต้หวัน สู้กันเรื่องอะไรและใครคือตัวเต็ง?

จับตาการเลือกตั้งไต้หวัน สู้กันเรื่องอะไรและใครคือตัวเต็ง?
เลือกที่ไต้หวันแต่สะเทือนถึงจีน จับตาการเลือกตั้งไต้หวัน  สู้กันเรื่องอะไรและใครคือตัวเต็ง?

การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งที่ 8 ในไต้หวันมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 13 มกราคม 2024 (พ.ศ. 2567) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งทั่วไป 2024  ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ไช่อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ไม่มีสิทธิ์ได้รับเลือกใหม่เนื่องจากถูกจำกัดวาระไม่ให้ดำรงตำแหน่งมากไปกว่านี้ได้อีก 

พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) เป็นพรรคแนวร่วมสีเขียว (Pan-Green Coalition) ซึ่งเป็นแนวร่วมที่สนับสนุนให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราชจากจีน พรรคนี้จึงถูกจีนหมายหัวเป็นศัตรูตัวฉกาจ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้นำที่กำลังจะหมดวาระไป คือ ไช่อิงเหวิน หรือคนที่กำลังจะมาแทน หากมาจากพรรคนี้ จะทำให้จีนกดดันไต้หวันมาก  

เนื่องจากไช่อิเหวินลงสมัครไม่ได้อีก พรรค DPP จึงเสนอชื่อรองประธานาธิบดี ไล่ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) เป็นตัวแทนพรรคในเดือนมีนาคม 2023 เขาได้รับตำแหน่งประธานพรรคด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น และเขาเลือก เซียวเหม่ยฉิน หรือเซียวบี้ขิม (Hsiao Bi-khim)  มาเป็นผู้สมัครชิงรองประธานาธิบดี  เซียวเหม่ยฉิน ดำรงตำแหน่งผู้แทนประจำสหรัฐฯ มาก่อน โดยเป็นลูกครึ่งไต้หวัน (พ่อ) และอเมริกัน (แม่) เกิดที่ญี่ปุ่น

  • มาดูแนวคิดของ ไล่ชิงเต๋อ เขาเคยกล่าวในปี 2019 ว่าจุดยืนของพรรค DPP คือ “ต่อต้านคอมมิวนิสต์แต่ไม่ต่อต้านจีน” และการต่อต้านการผนวกไต้หวันโดยจีน โดยวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่แสวงหาการขยายตัวและเปลี่ยนแปลงระเบียบระหว่างประเทศ
  • ไล่ชิงเต๋อ เชื่อว่าการปราบปรามชาวจีนโดยรัฐบาลจีน รุนแรงกว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ไต้หวันจะต้องยืนหยัดอย่างมั่นคงในค่ายประชาธิปไตย มีบทบาทเชิงรุกในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก ป้องกันการขยายตัวของกองกำลังคอมมิวนิสต์ และช่วยส่งเสริมคุณค่าของประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่
  • เขาเชื่อว่ามีเพียงการช่วยเหลือจีนให้เป็นประชาธิปไตยภายในระบบคุณค่าสากลเท่านั้นที่เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นองเลือกที่เทียนอันเหมินเกิดขึ้นอีกและบรรลุสันติภาพในระยะยาวทั่วช่องแคบไต้หวัน 
  • ไล่ชิงเต๋อสนับสนุนเอกราชของไต้หวัน แต่ต่อต้านการเผชิญหน้าทางทหารกับจีนแผ่นดินใหญ่ 

ส่วนพรรคฝ่าย คือพรรคค้านก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งมีท่าทีประนีประนอมกับจีนมากกว่า และทำให้จีนมีท่าทีต่อไต้หวันอ่อนลงถ้าผู้นำมาจากพรรคนี้ ได้เสนอชื่อตัวแทนพรรค คือ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนิวไทเป โหวโหย่วอี๋ (Hou Yu-ih) เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2023 ในเดือนพฤศจิกายน โหวโหย่วอี๋ เลือก จ้าวเส่าคัง  (Jaw Shaw-kong) อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี 

  • โหวโหย่วอี๋ เคยเขียนบทความในนิตยสาร Foreign Affairs โดยระบุถึงนโยบายของเขาต่อจีนเอาไว้ คือ นโยบาย "Three Ds" อันได้แค้ deterrence (ลดความเคลือบแคลงต่อกัน), dialogue (เจรจาหารือกัน), และ de-escalation (ลดความรุนแรงและเผชิญหน้ากัน) 
  • เขาเชื่อว่า dialogue  เป็น“วิธีสำคัญในการคลี่คลายวิกฤติและประกันสันติภาพและเสถียรภาพ” และบอกว่าในฐานะที่เคยเป็นตำรวจมาก่อน เขาเชื่อว่า “การเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ในสถานการณ์ตัวประกันจะสอนคุณว่าไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายรุกหรือฝ่ายรับ คุณจะต้องมีส่วนร่วมในการพูดคุยและการเจรจาด้วย”
  • โดยส่วนตัวแล้ว เขายังพยายามเชื่อมโยงตัวเองกับจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อครั้งที่ โหวโหย่วอี๋ ไปเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ เขาบอกว่าเขาเป็น "ลูกเขยคนเซี่ยงไฮ้" อย่างแท้จริง และยังเล่าว่าเขาได้รับ "อิทธิพล" มากมายจากพ่อตาที่เกิดในเซี่ยงไฮ้
  • อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตตั้งคำถามว่าพ่อตาของ โหวโหย่วอี๋ เสียชีวิตและถูกฝังตั้งแต่เมื่อปี 1980 โหวเหย่วอี๋ และภรรยาของเขาแต่งงานกันในปี 1982 พวกเขาเพิ่งพบกัน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพบกับพ่อตาของเขา ต่อมาโหวโหย่วยอี๋เปลี่ยนคำพูดแล้วพูดว่า “ผมเคยเจอเขาครั้งหนึ่ง แต่ผมไม่รู้จักพ่อตาของผมเลย”

นอกจากสองพรรคใหญ่ที่กำหนดชะตากรรมของไต้หวันได้ชัดเจนกว่าพรรคอื่นๆ แล้ว ยังมีพรรครองๆ ที่น่าจับตาคือ พรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) เสนอชื่อ เคอเหวินเจ๋อ (Ko Wen-je) ผู้นำพรรค ซึ่งเป็นอดีตนายกเทศมนตรีกรุงไทเป เคอเหวินเจ๋อ เลือก อู๋ซินอิ๋ง หรือ ซินเธีย อู๋ (Cynthia Wu) สมาชิกสภานิติบัญญัติ ติ เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี  แนวทางของ เคอเหวินเจ๋อ ถูกมองว่าเป็นกลางระหว่างสองพรรคใหญ่ข้างต้น และถูกมองว่าเป็น "ทางเลือกที่สาม" ระหว่างพรรคฝ่ายเอกราชจากจีนและพรรคฝ่ายประนีประนอมกับจีน

  • ในบรรดาผู้สมัครชั้นนำ เคอเหวินเจ๋อ มีแนวคิดเกี่ยวกับจีนที่คลุมเคลือที่สุด แต่เขาเคยแสดงความเห็นต่อนโยบาย "หนึ่งประเทศสองระบบ" ของจีนแผ่นดินใหญ่ โดยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Foreign Policy ว่า แนวคิด  "หนึ่งประเทศสองระบบ" ไม่เหมาะ แต่ควรเป็น "สองประเทศหนึ่งระบบ"
  • เขาบอกว่า สองฝั่งช่องแคบไต้หวันควรกระชับการแลกเปลี่ยนและลดความแตกต่างทางวัฒนธรรม ดังนั้นระบบหนึ่งจึงมีความสำคัญที่สุด และสองระบบที่ถูกบังคับเข้าด้วยกันนั้นจะเป็นการรวมกันโดยเพียงผิวเผินและไม่สอดคล้องกัน 
  • เขาเคยบอกว่า  "จะเป็นการดีกว่าสำหรับทั้งสองฝั่งช่องแคบไต้หวันที่จะเป็นเพื่อนกัน ดีกว่าเป็นศัตรูกัน" และยังมีแนวคิดเรื่อง "ผู้คนสองฝั่งช่องแคบไต้หวันต่างก็เป็นครับครัวเดียวกัน" แต่โดยนับนี้ ไม่ได้หมายถึงครอบครัวในทางการเมือง หรือการเป็นประเทศเดียวกัน

ตลอดการหาเสียงเลือกตั้ง ผลสำรวจเกือบทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ไล่ชิงเต๋อ ได้คะแนนนิยมมากกว่าคนอื่นและมีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมาก (~32%) โดยคะแนนเสียงที่เหลือจะถูกแบ่งระหว่าง KMT และ TPP คะแนนของ ไล่ชิงเต๋อ ยิ่งเพิ่มขึ้นมา ขึ้นในเดือนกันยายน 2023 เมื่อ กัวไท่หมิง หรือ แทร์รี่  กัว (Terry Gou) ผู้บริหารของบริษัท Foxconn ถอนตัวจากการสนับสนุน  โหวโหย่วอี๋ แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง แล้วประกาศลงสมัครเองในนามตัวแทนอิสระ 

ในปลายเดือนตุลาคม จีนเปิดการสอบสวนบริษัท Foxconn ซึ่งลงทุนอน่างมากในจีน หลังจากที่หน่วยงานด้านภาษีของจีนดำเนินการตรวจสอบบริษัทสาขาของบริษัทในมณฑลกวางตุ้งและมณฑลเจียงซู ในเดือนพฤศจิกายน กัวไท่หมิง หรือ แทร์รี่  กัว ที่เคยประกาศลงสมัครเองในนามตัวแทนอิสระ ก็ประกาศถอนตัวออกไป

ผลสำรวจล่าสุดจากสื่อในไต้หวัน โดย ETtoday ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2566–1 มกราคม 2567 ให้ ไล่ชิงเต๋อ มีคะแนนนิยม 38.9% ส่วน โหวโหย่วอี๋ มีคะแนนนิยม 35.8% เคอเหวินเจ๋อ ได้ไป 22.4%

Photo - โหวโหย่วอี๋ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT)  ทักทายผู้สนับสนุนระหว่างการรณรงค์หาเสียงในขบวนรถที่ไทเป เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2024 (ภาพโดย I-Hwa CHENG / AFP)

TAGS: #ไต้หวัน #จีน #เลือกตั้งไต้หวัน