ทหารพม่าไม่มีทางล้มง่ายๆ ยังไม่ได้งัดความโหดมาใช้ โค่นกันง่ายๆ ไม่มีทาง-รอโอกาสที่จะโต้คืน
ตอนที่ 1 ของบทความวิเคราะห์แนวโน้มของการสู้รบในเมียนมา กองทัพจะปราชัย ชนกลุ่มน้อยจะเป็นใหญ่ จีนจะแทรกแซง หรือว่ารัฐบาลพลเรือนจะคืนชีพ? ที่นี่มีคำตอบ
พูดถึงกันมากว่าตอนนี้กองทัพเมียนมาคงจะถึงกาลอวสานเป็นแน่แท้ เพราะแพ้แล้วแพ้อีกในการรบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ รวมถึงฝ่ายกองกำลังรัฐบาลพลัดถิ่น (ที่กองทัพเมียนปล้นอำนาจไปจากการรัฐประหาร) ที่กรูกันเข้ามารบพร้อมๆ กัน จนกองทัพเผด็จการเสียที่มั่นอย่างต่อเนื่อง
การรบใกล้เข้ามาในดินแดนส่วนกลางของประเทศมาขึ้นเรื่อยๆ เช่น ภาคบาโก (หรือพะโค ที่เมืองหงสาวดี) รวมถึงที่ภาคซะไกง์ (หรือสะกาย) พื้นที่ที่เรียกว่า "ภาค" (Region/Division) เป็นดินแดนของคน "บะหม่า" หรือคนพม่าอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นพื้นที่ส่วนกลางอันเป้นหัวใจของประเทศ เป็นที่ตั้งของรัญบาลกลาง กองทัพ และทุกสิ่งที่ทุกอย่างที่เป็น "สหภาพเมียนมา"
ต่างจาก "รัฐ" (State) ซึ่งปกครองโดยชนกลุ่มน้อย และมักเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังต่อต้านกองทัพเมียนมา กองกำลังเหล่านี้ไม่ต้องการเป็น "สหภาพ" แต่ต้องการให้เป็น "สหพันธรัฐ" เพราะการเป็นสหภาพหมายถึงการเป็นรัฐรวมศูนย์ ที่คนชาติพันธุ์อื่นๆ ปกครองตนเองไม่ได้ กำหนดอนาคตตัวเองไม่ได้ ขาดความเป็นประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยชนชาติที่หลากหลาย และชนชาติอื่นๆ ยังต้องเป็นเบี้ยล่างของคนบะหม่า ที่สำคัญคือ เมื่อทุกอย่างถูกรวบเข้าสู่ส่วนกลาง เช่น กองทัพเดียว มันจะเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยได้ง่าย
กองทัพเมียนมา หรือ "ตั๊ดมะด่อ" เป็นแบบนั้น กองทัพเมียนมาคือศัตรูของระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด เพราะการเป็นประชาธิปไตยหมายถึงการต้องเลิกเป็นสหภาพที่รวมศูนย์อำนาจไว้ในมือคนไม่กี่กลุ่ม และต้องเปลี่ยนประเทศเป็นสหพันธรัฐ การเป็นสหพันธรัฐทำให้ชนกลุ่มน้อยมีอำนาจปกครองตนเองได้ และอาจมีเงื่อนไขให้มีกองทัพเป็นของตัวเองด้วย เรื่องพวกนี้ทหารส่วนกลางยอมไม่ได้
ดังนั้นเมื่อเมียนมาเป็นประชาธิปไตยอยู่พักหนึ่ง และเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปไตยมอบสถานะรัฐปกครองตนเองให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆ พวกทหารจึงยอมไม่ได้ และปล้นอำนาจประชาชนในที่สุด โดยอ้างว่าเพื่อเอกภาพของชาติ
ทหารเมียนมามักจะอ้างว่ารักชาติจนตัวสั่นแบบนี้ทุกครั้งที่ยึดอำนาจ แต่สมัยนี้มันต่างจากสมัยเมื่อทศวรรษที่ 50, 60, 70, 80 และ 90 ซึ่งประชาชนยังไม่รู้ประสีประสาเรื่องการปกครองตนเอง และทหารปิดหูปิดตาและปิดปากประชาชนได้ง่าย เพียงแค่ปิดประเทศแล้วดองเมียนมาเอาไว้ใน " time capsule" จนเมียนมาเหมือนหลงยุคอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะตามโลกภายนอกไม่ทัน
ทหารเมียนมาแต่ก่อนยังเหี้ยมโหดผิดมนุษย์มนา ไม่เพียงฆ่าประชาชนง่ายๆ แต่บางครั้งยังฆ่าพระสงฆ์องค์เจ้าเอาด้วย หากเห็นว่าศาสนจักรล้ำเส้น แม้ว่าตามปกติทหารเมียนมาจะเกรงใจพระสงฆ์ก็ตาม เพราะกลัวว่าจะไม่มีใครให้คอยตักบาตร
กับชนกลุ่มน้อย ทหารเมียนมาแต่ก่อนอำมหิตเหลือเกิน นอกจากจะฆ่าจะแกงกันง่ายๆ แล้ว ยังทารุณกรรมอย่างจินตนาการไม่ออก เช่น เกณฑ์ชนกลุ่มน้อยมาเป็นกุลีแบกหามในสงคราม วันดีคืนดีก็จะเกณฑ์มาเดินนำหน้าเพื่อเคลียร์กับระเบิด ส่วนผู้หญิงน่ะหรือ? ตกเป็นเหยื่อถูกขืนใจมีบ่อยครั้ง
นั่นเป็นเรื่องเมื่อตอนที่เผด็จการทหารไม่แคร์ชาวโลก ปิดประเทศตีชนกลุ่มน้อยหนักๆ กะว่าต้องเอาให้ตายกันข้างหนึ่ง ช่วงนั้นกองทัพชนกลุ่มน้อยอ่อนแออย่างยิ่ง เพราะทหารเมียนมาโหดเกินไป และทรัพยากรไม่มีขีดจำกัด
พอทหารคิดว่าถึงเวลาจะต้องคบกับชาวโลกบ้าง ก็ทำเป็นมอบประชาธิปไตยให้ประชาชน ยอมให้เลือกตั้งหาผู้นำประเทศ แต่รัฐบาลจะแตะต้องกองทัพไม่ได้ ทหารจะทำอะไรก็เรื่องของทหาร เมียนมาจึง "มีโลกสองใบ" ที่พลเรือนเป็นรัฐบาลฉากหน้า แต่ทหารยังควบคุมส่วนใหญ่ของประเทศเอาไว้
ดังนั้น เราจึงเห็นว่าตอนที่เกิดกรณีโรฮิงจา ทหารเมียนมาจึงกำจัดคนโรฮีนจาอย่างเลือดเย็นทั้งที่รัฐบาลพลเรือนเต็มไปด้วยนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและนักสิทธิมนุษยชนดังๆ ระดับโลก แต่กลับปล่อยให้คนโรฮีนจาถูกกวาดล้างอย่างบ้าคลั่ง นั่นก็เพราะหน้าที่นั้นคืออำนาจของทหาร
จนกระทั่งวันหนึ่งทหารเห็นว่ารัฐบาลพลเรือนชักจะโอ๋พวกชนกลุ่มน้อยเกินไปแล้ว เสี่ยงที่ "สหภาพ" (ซึ่งเป็นการปกครองที่เอื้อต่อการผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์ของทหาร) จะถูกสั่นคลอน ทหารจึงก่อรัฐประหารซะ
เช่นเดียวกับคราวก่อนๆ ประชาชนเมียนมาไม่ว่าชนชาติใดก็ตาม ไม่ยอมทหารง่ายๆ จึงเข้าป่าจับอาวุธขึ้นสู้ เหมือนกับกรณี 8888 (การลุกฮือต่อต้านเผด็จการทหารเมื่อวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988) ที่คนหนุ่มสาวเข้าป่าร่วมกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยเพื่อรบกับเผด็จการ บางคนก็หนีเข้ามาเป็นมันสมองของการเคลื่อนไหวในไทยหรือประเทศที่สาม
แต่ครั้งนี้ ทหารเมียนมามาแนวซอฟต์ๆ แทนที่จะไล่ตามเพื่อเข่นฆ่าไม่เลือกเหมือนกรณี 8888 กลับไม่ไล่บดขยี้แต่ปล่อยประชาชนให้ใช้ชีวิตเกือบจะปกติ ไม่ปิดประเทศและหันมาพีอาร์ประชาสัมพันธ์มากขึ้น เหมือนจะเลียนแบบสูตรการยึดอำนาจของทหารบางประเทศ
ฝ่ายรัฐบาลพลเรือนก็หนีเข้าป่าไปจัดตั้งกองกำลังป้องกันประชาชน (People's Defence Force/PDF) พร้อมกับจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพ (National Unity Government of Myanmar) ซึ่งมุ่งเน้นที่จะสร้างสหพันธรัฐขึ้นมา นัยหนึ่งก็เพื่อซื้อใจกองกำลังชนกลุ่มน้อยให้มาช่วยสู้กับกองทัพเมียนมานั่นเอง
แต่ PDF ไม่ได้แข็งแกร่งอะไรนัก และกองกำลังชนกลุ่มน้อยก็ได้แต่รบไปตามเรื่องตามราว ไม่มีวี่แววว่าจะพลิกฟ้าคว่ำดินอะไรได้เหมือนกัน บ้านเมืองเมียนมาก็อยู่กันราบรื่นดีเพราะแท็กติกใหม่ในการยึดอำนาจ ทำให้กระแสต่อต้านที่เคยรุนแรงตอนแรก ค่อยๆ ซาไปเหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้น
อันที่จริงแล้วตั้งแต่ก่อน "คืนอำนาจให้ประชาชน" ทหารเมียนมาได้วางกลศึกสำคัญเอาไว้ คือการเจรจากับชนกลุ่มน่อยที่ทรงพลังตามแนวชายแดนจีน คือ กลุ่มโกกั้ง กลุ่มว้า กลุ่มในรัฐฉาน แน่นอนว่าการเจรจานี้มีส่วนได้เสียอะไรกันบางอย่าง เช่น ทหารเมียนมาสนับสนุนบางกลุ่มในศึกการชิงอำนาจในโกกั้ง พวกที่ได้รับการสนับสนุนก็ตอบแทนทหารเมียนมาด้วยการยอมเป็น "กองกำลังตระเวนชายแดน" (Border Guard Forces/BGF) เป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เป็นเอกเทศ แต่ภักดีกับทหารเมียนมา
ถามว่าทำไมต้องเป็นกองกำลังแถวชายแดนกับจีน? เพราะจุดนี้เป็นแหล่งทำงเงินมหาศาลมหาแต่ไหนแต่ไร ทั้งยาเสพติด การพนัน จนกระทั่งธุรกิจฉ้อโกงออนไลน์ แถมยังเป็นจุดเปราะบางทางภูมิรัฐศาสตร์และจีนใส่ใจเป็นพิเศษด้วย
กลุ่ม BGF ทำเงินทำทองกันไม่หวาดไม่ไหว โดยมีทหารเมียนมาได้ส่วนแบ่งด้วย เงินเหล่านี้ทำให้ BGF และทหารเมียนมาแข็งแกร่งขึ้น จนกองกำลังต่อต้านอื่นๆ เทียบไม่ได้
แต่มันนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะธุรกิจที่หล่อเลี้ยงเผด็จการเมียนมาตามชายแดนเหล่านี้ มันไปสร้างความขุ่นเคืองให้กับจีนเข้า
ความขุ่นเคืองนี้นำไปสู้การที่บางฝ่ายในกองกำลังโกกั้งที่เคยถูกยึดอำนาจ จู่ๆ ก็กลับมามีศักยภาพในการรบที่แข็งแกร่งขึ้น แล้วจับมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านทหารเมียนมากลุ่มอื่นๆ สร้าง "พันธมิตรภราดรภาพ" ขึ้นมา โดยชูธงกำจัด "จีนเทา" ที่ทำให้จีนไม่พอใจ และเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กองทัพเมียนมา
แต่ฉากหลัง นี่คือการยึดอำนาจคือจากพวกโกกั้ง BGF ที่สวามิภักดิ์กับกองทัพเมียนมา และเพื่อ "เอาใจจีน" จึงชูธงปราบธุรกิจจีนเทาไปด้วย ทำให้ได้รับเสียงเชียร์จากคนจีนอย่างมากมาย มาถึงตอนนี้คนเริ่มสงสัยกันว่า "พันธมิตรภราดรภาพ" ได้รับการหนุนหลังจากจากจีนหรือไม่?
และเริ่มถามกันเองว่า ตกลงนี่คือ "สงครามสั่งสอน" ทหารเมียนมาหรือไม่? เพราะจีนเคยบอกให้ทหารเมียนมาจัดการพวกจีนเทาให้เรียบร้อย แต่ทหารเมียนมาทำเป็นทองไม่รู้ร้อน เมื่อทำเป็นหูทวนลม จีนจึงอาจหนุนกองกำลังฝ่ายตรงข้ามให้ก่อกวนทหารเมียนมาเสียเลย
อีกสัญญาณคือ ฝ่ายต่อต้านแข็งแกร่งจนผิดสังเกต หลังจากเริ่มปฏิบัติการในเดือนตุลาคม ฝ่ายต่อต้านมีแต่ชนะและยึดที่มั่นได้ไม่หยุด ส่วนทหารเมียนมามีแต่ถูกตีแตก และยังแสดงอาการลุกลี้ลุกลน จนต้องระดมพลมารักษาเมืองใหญ่ๆ ในเขตส่วนกลาง ซึ่งตามปกติ "ปลอดภัย" เพราะห่างไกลจากการรบกับพวกกองกำลังต่างๆ
ความพ่ายแพ้ของทหารเมียนมาให้หลายคนเริ่มพูดกันว่านี่คือเป็นจุดจบแล้ว?
แต่คนพูดว่าทหารเมียนมากำลังจะปิดฉาก ไม่รู้จักทหารเมียนมาดีพอ พวกเขาคงรู้จักแต่ทหารเผด็จการนุ่มๆ นิ่มๆ ที่พยายามจะไม่รบกวนชีวิตประชาชน และพยายามเข้าหาโลกภายนอกให้ปกติที่สุด
แต่พวกเขาไม่รู้จักตัวตนทหารเมียนมาแท้ๆ ที่พร้อมจะทำตรงกันข้ามถ้าพวกเขาถูกคุกคามมากเกินไป อันที่จริงนี่ก็ถือว่าเป็นภาวะที่ถูกคุกคามมากแล้ว เพียงแต่รอเวลว่าทหารเมียนมาจึงสวมบทยักษ์เมื่อไรเท่านั้น
บทยักษ์ของทหารเมียนมา คือความเหี้ยมแบบไร้ความปราณี ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นกันมานานแล้ว แต่ไม่ใช่ว่ามันหยุดลง มันยังเกิดกับชนกลุ่มน้อยบางพื้นที การรบล่าสุดก็เช่นกัน เริ่มมีสัญญาณของการฆ่าที่อำมหิตมากขึ้น
มันคือยุทธวิธีที่เรียกว่า "สี่ตัด" (Four cuts) นั่นคือ ตัดการเข้าถึงอาหาร, ตัดการเข้าถึงกองทุน, ตัดการเข้าถึงข่าวกรอง, ตัดการเข้าถึงการสนับสนุนของมวลชน
ทหารจะกราดยิงไม่เลือกหน้าว่าเป็นกองกำลังติดอายุวธหรือพลเรือน ทำลายอาหารและสิ่งของที่อาจเป็นคุณกับฝ่ายต่อต้าน จับตัวผู้ต้องสงสัยว่าคอยส่งอาหารความช่วยเหลือให้ฝ่ายต่อต้านและยังจะจับสมาชิกครอบครัวของคนๆ นั้นไปด้วย และยังข่มขืนผู้หญิงและสั่งอพยพประชาชนจากพื้นที่ตามใจชอบ
โดยรวบรัดก็คือ ฆ่าทิ้งทั้งหมด เผาทิ้งทั้งหมด ทำลายทิ้งทั้งหมด ปิดช่องทางทั้งหมด
ครั้งล่าสุด ที่ทหารเมียนมาใช้ "สี่ตัด" ก็คือตอนที่กองกำลังโรฮีนจาโจมตีกองทัพ กองทัพจึงใช้ "สี่ตัด" กวาดล้างชาวโรฮีนจาอย่างไร้ปราณี และนั่นคือจุดเริ่มของการหนีตายของชาวโรฮีนจาจนถึงทุกวันนี้ และหลังการรัฐประหารก็มีรายงานว่าใช้ "สี่ตัด" เช่นกัน แต่ไม่รุนแรงเท่าครั้งก่อนๆ
ตอนนี้ดูเหมือนว่ากองทัพเมียนมายังไม่ได้ใช้ "สี่ตัด" ในพื้นที่รบกับพันธมิตรภราดรภาพ แต่อีกไม่นานมันก็ไม่แน่
เพราะพลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย เปรยขึ้นมาแล้วว่า “หากกลุ่มติดอาวุธยืนหยัดต่อความผิดพลาด มีแต่คนในท้องถิ่นเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ [ของการสู้รบ]”
บางคนมองว่า การที่รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาไป "หารือ" กับ หวางอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเรื่องสงครามใน "เมี่ยนเป่ย" (เมียนมาภาคเหนือ) คือการไปอ้อนวอนให้จีนเลิกหนุนหลังฝ่ายต่อต้าน
แต่เราอาจมองในมุมกลับได้เช่นกันว่า เมียนมาอาจจะไปบอกกล่าวอะไรบางอย่างกับจีนเรื่องการกวาดล้างที่หนักมือขึ้น
เรื่องนี้คนภายนอกไม่มีทางรู้ชัด เพราะแม้แต่ท่าทีบางอย่างของจีนยังถูกตีความไปคนละทางสองทาง
เช่น การซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของจีนที่ชายแดนยูนนาน-รัฐฉาน ในช่วงที่พันธมิตรภราดรภาพกำลังไล่ต้อนกองทัพเมียนมา ถูก (ฝ่ายต่อต้านกองทัพ) มองว่านี่คือการส่งสัญญาณว่าจีนสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน
แต่มันยังอาจมองได้เช่นกันว่า จีนกำลังเตือนฝ่ายต่อต้านไม่ให้ล้ำเส้น และยังมีอีกสัญญาณก็คือ จีนส่งเรือรบ 3 ลำมาร่วมซ้อมรบกับกองทัพเมียนมา
ใครที่มองว่าจีนสั่งสอนเมียนมา จึงควรมองเสียใหม่ เพราะกองทัพเมียนมาไม่อยู่ในฐานะต้องรับการสั่งสอนจากใคร พวกเขามีความหยิ่งทรนงสูงมาก และความจำเป็นของกองทัพเมียนมาต่อจีนนั้นมีสูง และจีนน่าจะตระหนักเรื่องนี้ดี
ฝ่ายที่ต้องรับการสั่งสอน (และคุ้มครอง) จากจีนควรเป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างหาก รวมถึงพวกพันธมิตรภราดรภาพด้วย
จีนอาจจะแสดงท่าที "ไม่เอา" ทหารเมียนมาในบางครั้ง เพราะไม่สบอารมณ์อะไรบางอย่าง แต่ถ้าจะบอกว่าจะ "ไม่สังฆกรรม" ร่วมกันเลยนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะความวุ่นวายในเมียนมาเป็นผลร้ายกับจีน
หากฝ่ายต่อต้าน "ได้รับการคุ้มครอง" ต่อไปแบบนี้ กองทัพเมียนมาคงจะไม่มีทางเลือก คงต้องเปิดหน้ายักษ์ ปิดประตูตีแมว ใช้ "สี่ตัด" แล้วทุกฝ่ายจะอยู่กันไม่เป็นสุข
และมันมีเหตุผลที่จีนต้องสนับสนุนกองทัพเมียนมามากกว่าใคร
โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by AFP