"ย้าน" คืออะไร และทำไมต้อง "ย้าน"? เปิดที่มาคำฮิตมันมาจากไหนและคืออะไร

"ย้าน" คืออะไร ทำไม'สาว17'ต้องย้าน? เปิดที่มาในภาษาตระกูลไทและลาว

จากกรณีที่สมรักษ์ คำสิงห์ ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศกับผู้เยาว์วัย 17 ปี ในเวลาต่อมาเพจ "สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว" ได้มีการเปิดเผยข้อความที่หญิงสาววัย 17 ปี คุยกับเพื่อนให้ช่วยมารับตัวระหว่างอยู่กับสมรักษ์ คำสิงห์ พร้อมถ่ายภาพสมรักษ์ขณะกำลังหลับ 

ในข้อความที่เพจ "สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว" เปิดเผยนั้นหญิงสาวบอกกับเพื่อนว่า "เค้าย้าน" ซึ่งเป็นภาษาอีสานที่แปลว่า "เค้ากลัว"

อย่างไรก็ตาม คำว่า "เค้าย้าน" กลายเป็นคำล้อเลียน หรือมีม (meme) ในหมู่ชาวเน็ต ซึ่งไม่ค่อยจะปักใจเชื่อสถานการณ์ที่หญิงสาวกำลังประสบ (นั่นคือไม่เชื่อว่าเธอกำลัง "ย้าน" จริงๆ) จึงใช้คำว่า "ย้าน" โพสต์เล่นเป็นมีมกันอย่างมากมายในเพจข่าว "สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว" (คลิกที่ลิ้งก์เพื่อดูคอมเมนต์)

ย้านแปลว่าอะไร?
"ย้าน" แปลว่ากลัว ในภาษาอีสานซึ่งใช้ร่วมกับภาษาลาว ในภาษาลาวเขียนว่า ຢ້ານ (ย้าน) เหมือนกัน แต่ในการสะกดคำในภาษาไทยมักเขียนว่า "ย่าน" เหมือนคำว่าย่านที่แปลว่าเขตหรือถิ่นฐาน

"ย้าน" ไม่ว่าจะเขียนแบบไหนก็ตาม มีความหมายว่า "กลัว" เช่นภาษาลาวบอกว่า "ย้านหมากัด" ก็คือ "กลัวหมากัด"หรือ "ย้านตาย" ก็กลัวกลัวตาย 

บางครั้งในภาษาลาวใช้ทั้งคำว่าย้านและกลัว คือคำว่า ຢ້ານກົວ (ย้านกัว) ที่แปลว่ากลัว (อะไรสักอย่าง) นั่นเอง เช่น ມີ​ຄວາມ​ຢ້ານ​ກົວ ກ່ຽວ​ກັບ​ການ​ແຂ່ງ​ຂັນ​ອາ​ວຸດ​ນິວ​ເຄ​ລຍ (มีความย้านกลัว เกี่ยวกับการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์ - จากรายงานข่าวของ VOA ภาคภาษาลาว) 

ในภาษาคำเมืองที่พูดกันในภาคเหนือของประเทศไทยใช้เหมือนกันว่า "หย้าน" แปลว่า "กลัว"

ย้านกันไปทั่วเอเชีย
ต่อไปนี้คือสาระล้วนๆ ไม่ใช่มีม ความจริงแล้ว คำว่า "ย้าน" เป็นคำที่ถูกใช้ในกลุ่มคนที่พูดภาษาไทและลาวในวงกว้าง ครอบคลุมพื้นที่ตอนใต้ของประเทศจีน ตอนเหนือของเมียนมา ในประเทศลาว จนถึงภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทย "ย้าน" จึงเป็นคำที่สากลมากๆ คำหนึ่งในหมู่คนไทและลาวในประเทศต่างๆ

ตัวอย่างเช่น ภาษาไทใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฉานประเทศเมียนมา เขียนว่า "ย้าน", ในภาษาไทเขิน ซึ่งเป็นกลุ่มคนพูดภาษาไทกลุ่มหนึ่งในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เขียนว่า "หย้าน", ในภาษาไทลื้อ ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของจีนและในลาว เขียนว่า "หฺย้าน" 

ภาษาคนไทดำ ซึ่งอยู่ในประเทศเวียดนาม เขียนว่า "หฺย้าน" และในภาษาจ้วง ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในประเทศจีน ใช้คำว่า "ย้าน" เหมือนกัน โดยเขียนว่า "ย่าน" แน่นอนว่า ในภาษาจ้วงคำๆ นี้แปลว่ากลัวเหมือนกัน 

ในภาษาไทยภาคกลาง มีคำที่คล้ายๆ กันคือคำว่า "ยั่น" ที่แปลว่ากลัว ปัจจุบันนี้ไม่นิยมใช้กันแล้ว แต่ยังใช้กันอยู่ในภาษาวรรณกรรม เช่น "ไม่ยั่น" ที่แปลว่าไม่กลัวหรือกล้าหาญ เหมือนในภาษาอีสานและลาวที่ใช้คำว่า "บ่ย้าน" ในความหมายว่า "ไม่กลัว" 

แต่ในกรณีของสมรักษ์ คำสิงห์กับเยาวชนวัย 17 ปีรายนี้ น่าจะทำให้หลายคนต้อง "ย้าน" สถานบันเทิงกันไปอีกนาน

TAGS: #สมรักษ์คำสิงห์