เพราะต่างชาติพิพากษาแล้วผ่านค่าเงินบาท แต่นักลงทุนต่างชาติกังวลอะไร เงินบาทถึงได้ร่วงไม่หยุด
เมื่อปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปีนี้ เงินบาทเคยเป็นเงินที่แข็งแกร่งที่สุดสกุลหนึ่งของเอเชีย ถึงขนาดที่ตอนนั้น สื่อต่างประเทศบางแห่งงงกันใหญ่จนต้องตั้งคำถามว่า "ทำไมเงินบาทของไทยถึงเป็นสกุลเงินที่ดีที่สุดในเอเชีย"
และย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน เงินบาทแข็งค่าขนาดที่รัฐบาลตอนนั้นต้องกังวลกันว่าจะกระทบต่อการส่งออก มาตอนนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
เงินบาทตอนนี้แย่ที่สุดในเอเชียไปเรียบร้อยแล้ว อ่อนค่าลงมาไม่หยุดจากหนักสุดในรอบ 7 เดือน รอบ 9 เดือน รอบ 10 เดือน ต่อมาอ่อนค่าหนักสุดในรอบ 11 เดือน แต่หลังจากนั้นก็ยังลูกผีลูกคน ไม่กระเตื้อง แต่ก็ไม่ร่วงหนักกว่านี้ แต่เชื่อว่ารอสักพักคงจะอ่อนสุดในรอบ 1 ปี
มันคงไม่เหนือความเป็นไปได้ เพราะนักวิเคราะห์ต่างชาติมองว่าบาทจะอ่อนหนักกว่านี้แน่ เช่น ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ เงินบาทที่ลูกผีลูกคนมาสักพักก็กลายมาเป็น "ลูกผี" อีกครั้ง เพราะอ่อนลงต่ำกว่า 36 บาทอีกครั้ง
เหตุผลมี 2 ข้อที่ "บาทร่วง"
ข้อแรก ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขึ้นไม่หยุด และก่อนหน้านี้ไม่กี่วันก่อนที่เขียนบทความนี้เฟดก็ยังยืนยันว่าจะไม่ยอมให้มันลงมาง่ายๆ แถมยังอาจจะขึ้นได้อีกด้วยซ้ำ การทำแบบนี้ทำให้เงินไหลเข้าไปที่พันธบัตรสหรัฐและดอลลาร์สหรัฐ เรื่องนี้เกิดขึ้นกับเงินเอเชียเกือบทุกสกุล
แต่เหตุผลข้อที่สอง เป็นเรื่องของไทยเองล้วนๆ คือ นักวิเคราะห์ต่างประเทศไม่เชื่อมั่นนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลเศรษฐา
ถามต่อว่าทำไมไม่มั่นใจ? นักวิเคราะห์มีเหตุผลคล้ายๆ กันคือ ความไม่ชัดเจนของนโยบาย
ก่อนหน้านี้เคยกังวลว่า "จะเอาเงินที่ไหนมากแจก?" ซึ่งทำให้นักลงทุนวุ่นวายใจมากพักหนึ่ง ตอนนี้ชัดแล้วก็ยังไม่หายว้าวุ่น เพราะมันมีอะไรที่หนักกว่านั้น
อะไรที่ไม่ชัดเจน?
ตอนนี้ชัดแล้วว่าเงินที่จะนำมาแจก จะมาจากการกู้เงิน สมมติว่าการกู้เงินทำผ่านการออกพันธบัตร แม้ว่าจะมีเงินมาแจก แต่มันจะทำให้เกิดผลเลวร้ายตามมา
นี่คือ "ความไม่ชัดเจน" ที่นักลงทุนต่างชาติกังวล ความไม่ชัดเจนนี่ก็คือ ไม่ชัดว่าการกู้เงินมาแจกจะส่งผลดีหรือร้ายต่อเศรษฐกิจไทยกันแน่
ไม่ใช่กังวลเพราะเงินที่จะแจกมาจากไหน ไม่ใช่กังวลว่าจะแจกแบบไหน หรือจะแจกเมื่อไร เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องขี้ประติ๋ว แต่ที่เขาที่กังวลน่ะเรื่อง "มันไม่ชัดเลยว่าการแจกเงินจะดีต่อเศรษฐกิจไทยตรงไหน?"
แน่นอนว่า เราไปคาดหวังกับนโยบายรัฐบาลแบบร้อยเปอร์เซนต์ไม่ได้ มันอาจจะแป๊กก็ได้ หรือออาจปังก็ได้ แต่เรื่องเศรษฐศาสตร์มันเป็นอะไรที่เป็นเหตุเป็นผล ทุกอย่างคาดเดาได้ง่ายกว่าเพราะส่วนใหญ่มี "สูตรสำเร็จ" ที่คำนวณไว้กันท่าแล้ว
ทำไมแจกเงินถึงทำให้บาทร่วง?
นี่คือสถานการณ์ที่อาจจะทำให้เงินบาททรุดลงไปอีก และหมายความว่านักลงทุนจะหวั่นใจกันเข้าไปอีก สมมติว่ารัฐบาลเศรษฐาออกพันธบัตรกู้เงินเพื่อเอามาแจกประชาชน ต่อไปนี้คือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น
สมมติว่ากู้แล้ว เอาเงินมาแจก
รัฐบาลอาจจะต้องออกพันธบัตร หรือกู้ธนาคาร แต่ไม่ว่าจะกู้ด้วยวิธีไหนก็ตามจะต้องแปลงเป็นพันธบัตรอยู่ดี จากนั้นรัฐบาลนำเงินมากแจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
สมมติว่าแจกผิดเวลา เกิดเงินเฟ้อ
แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยไม่เลวร้ายถึงขนาดต้องกระตุ้น เมื่อเงินในระบบยังมีมาก ทำให้เงินไหลเข้าระบบเศรษฐกิจมากเกินไป เมื่อมีเงินในระบบมากเกินไป เมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ สิ่งนี้จะเกิดขึ้น
สมมติว่าเงินล้น ค่าของมันก็จะเฟ้อ
สิ่งที่จะเกิดคือ มูลค่าต่อหน่วยของสกุลเงินก็จะลดลง กำลังซื้อลดลงและราคาก็สูงขึ้น พูดภาษาชาวบ้านก็คือ เงินที่ถือในมือค่าเท่าเดิม แต่ของแพงขึ้น มีเงินหมื่นได้มาจากรัฐบาล แทนที่จะซื้อของได้มาก ก็ซื้อได้แค่นิดหน่อย
สมมติว่าเงินเฟ้อ ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ย
กำลังซื้อลดลงและราคาข้าวของแพงขึ้นก็คือภาวะเงินเฟ้อ นอกจากจะแก้ปัญหาเดิมไม่ได้ ยังมีปัญหาใหม่เข้ามาอีก เมื่อภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น วิธีการแก้ไขอย่างหนึ่งก็คือ ธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย
สมมติว่าขึ้นดอกเบี้ย พันธบัตรก็จะตก
แต่การขึ้นดอกเบี้ยมีต้นทุนที่ต้องเสียไปเหมือนกัน เพราะถ้าดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาของพันธบัตรก็จะลดลง แต่การลดลงของมูลค่าพันธบัตรเกี่ยวกับเงินเฟ้อมากกว่า
ผลรวมทั้งหมด: รัฐบาลยิ่งไม่มีเงินจ่าย
เมื่อพันธบัตรที่เป็นการระดมเงินกู้มีมูลค่าลดลงเพราะเงินเฟ้อและยังต้องจ่ายผลตอบแทนสูงให้นักลงทุนเพราะดอกเบี้ยสูงขึ้น รัฐบาลที่ออกพันธบัตรก็อาจจะไม่มีเงินจ่ายหนี้
ไม่เรียกว่า "หลุมดำ" ก็แปลกไปหน่อยแล้ว!
มาถึงจุดนี้มาถึงทางแยกสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเสี่ยงดวงเอาว่าจะหลุดพ้นจากกับดักของการก่อหนี้ เงินเฟ้อ และการขึ้นดอกเบี้ยได้หรือไม่ เส้นทางการวัดดวงที่ว่าก็คือ
1. ถ้าการแจกเงินสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จ พร้อมด้วยปัจจัยบวกจากภายนอกเข้ามาช่วย นั่นคือท่องเที่ยวเติบโต ส่งออกแข็งแกร่ง สมมติว่าถ้าเป็นแบบนี้ รัฐบาลก็สามารถหลุดพ้นจากกับดักได้
2. แต่การแจกเงินเป็นแค่การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมีพลังไม่มากนักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต่อให้กระตุ้นการบริโภคได้ มันก็อาจเป็นแค่การพายเรือในอ่าง เพราะไทยยังต้องพึ่งการท่องเที่ยวและส่งออกด้วย
สมมติว่าหมดทางแล้วต้องพึ่งขาเดิม
แผนการหาเงินของรัฐบาลเศรษฐาอย่างหนึ่งที่ทำเป็นเรื่องแรกคือ การชักชวนนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง เพราะหากขาดนักท่องเที่ยวจีน อุตสาหกรรมเที่ยวไทยก็จะฟื้นได้ยาก
แต่นักท่องเที่ยวจีนระแวงเรื่องความปลอดภัยในไทย หลังจากมีข่าวลือเรื่องคนจีนถูกลักพาตัวในไทยแล้วจับไปส่งยังค่ายแรงงานทาสของธุรกิจจีนเทาที่ตอนเหนือของเมียนมา เรื่องนี้ รัฐบาลไทยก็แก้ข่าวลือไม่สำเร็จด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่คนจีนต้องการให้ไทยทำให้พวกเขาอุ่นใจสักหน่อย
เรื่องนี้ยังแก้ไม่สำเร็จ ก็เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นเสียก่อน คือเหตุกราดยิงที่ห้างสยามพารากอน จนมีคนจีนเสียชีวิต เรื่องนี้เท่ากับตอกฝาโลงทัวร์จีนที่จะมาไทยไปเรียบร้อย
แล้วรัฐบาลก็แก้ปัญหาแบบให้ชาวบ้านกุมขมับอีกครั้ง ด้วยการจะไปชวนให้ตำรวจจีนมาช่วยลาดตระเวนในไทย ให้ทัวริสต์จีนได้อุ่นใจ แต่ปรากฏว่าคนไทยใจหายวาบ เพราะเรื่องนี้หมิ่นเหม่กับอำนาจการปกครองบ้านเมืองของเราในฐานประเทศเอกราช
สงสัยว่าแผนนี้จะต้องพับไปอีกแน่นอน เพราะคนไทยค้านหัวชนฝา และคนจีนเองก็ไม่ใช่คำจำพวกที่เห็นตำรวจจีนด้วยกันแล้วอุ่นใจ
พอทัวร์ซบเซา ครั้นจะไปพึ่งภาคส่งออก เพราะหวังกันว่าพอเงินบาทอ่อนค่าการส่งออกจะดี (เพราะราคาสินค้าไทยจะถูกลง ทำให้เป็นที่ต้องการมากขึ้น) แต่ตรรกะแบบนี้ใช้ไม่ได้ในช่วงที่เศรษฐจีนไม่ดีเอามากๆ และจีนเป็นผู้ซื้อสินค้ารายใหญ่ของไทย
ต่อให้เงินของเราอ่อน แล้วได้เปรียบกว่าคนอื่น แต่ถ้าคนซื้อไม่อยากจะซื้อ (หรือไม่มีกำลังซื้อ) มันก็เปล่าประโยชน์
นี่คือความไม่ชัดทั้งหมด เมื่อนักวิเคราะห์ต่างประเทศมองว่านโยบายแจกเงินของรัฐบาลไทย "ยังไม่ชัดเจน" มันไม่ใช่ไม่ใช่เรื่องแนวทางหรือกำหนดการณ์ แต่ "ไม่ชัดว่ามันจะเวิร์ก"
นี่คือสถานการณ์สมมติเท่านั้น แต่การตั้งสมมติฐานแบบนี้จะทำให้เราจะตระหนักได้ในทันทีว่าทำไมนักลงทุนต่างชาติถึงไม่เชื่อมั่นกับนโยบายแจกเงินของรัฐบาลเศรษฐา จนทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง
แต่ก็สมมติอีกนั่นแหละ ถ้าเกิดมันมี "อุบัติเหตุทางการเมือง" ขึ้นมา จนการแจกเงินดิจิทัลกลายเป็นหมัน วันนั้นเงินบาทก็อาจจะแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by TIMOTHY A. CLARY / AFP