'ซ่งเหวินชง''บิดา'ผู้ทุ่มเทชีวิตกับการให้กำเนิดเครื่องบินรบ J-10 ของจีน

'ซ่งเหวินชง''บิดา'ผู้ทุ่มเทชีวิตกับการให้กำเนิดเครื่องบินรบ J-10 ของจีน

เครื่องบินรบ 歼-10  หรือ J-10 ของจีนกลายเป็นดาวเด่นแห่งสมรภูมิฟากฟ้าในทันทีหลังจากที่กองทัพอากาศปากีสถานใช้มันต่อสู้กับทัพฟ้าของอินเดียจนสามารถยิงเครื่องบินรบของอินเดียร่วงลงถึง 5 ลำ

บุคคลที่อยู่เบื้องหลังการถือกำเนิดของ J-10 คือ 'ซ่งเหวินชง'(宋文骢) ผู้ใช้เวลาครึ่งค่อนชีวิตในการสร้างเครื่องบินรบรุ่นนี้ขึ้นมา

ซ่งเหวินชง เกิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1930 ที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เป็นบุตรชายคนโตของครอบครัว มีน้องชายสี่คนและน้องสาวสองคน เขาเริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุได้ 5 ขวบ ในปี 1941 เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเครื่องบินญี่ปุ่นโจมตีที่คุนหมิง เขาจึงย้ายกลับไปที่ถิ่นฐานของครอบครัวที่เมืองต้าหลี่กับครอบครัว จึงได้เรียนและเติบโตที่ต้าหลี่

แต่สิ่งที่อยู่ในใจของเขาเสมอมาคือ "เครื่องบิน"

หลายสิบปีต่อมา เมื่อซ่งเหวินชงได้ให้สัมภาษณ์จากนักข่าว เขาย้อนอดีตไปถึงช่วงเวลานั้นว่า “ในความทรงจำในวัยเด็กของผม ถนนหนทางเต็มไปด้วยผู้ลี้ภัยและทหารที่ได้รับบาดเจ็บ มีพื้นดินที่ถูกเผาไหม้และหลุมระเบิดอยู่ทุกหนทุกแห่ง เครื่องบินญี่ปุ่นบินวนอยู่เหนือศีรษะทุกวัน เมื่อเสียงสัญญาณเตือนดังขึ้น ทั้งเมืองก็วุ่นวาย ผู้ใหญ่พาพวกเราไปหลบซ่อนจากเครื่องบินของศัตรูอย่างเร่งรีบ วันเวลาเหล่านั้นแทบจะอยู่เคียงข้างวัยเด็กของผม” 

นี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้เขา "อยากเป็นนักบิน"

ชีวิตคนหนุ่มในฐานะทหารแดง
เมื่อเป็นหนุ่มเข้าร่วมขบวนการนักศึกษา "ต่อต้านสงครามกลางเมือง ต่อต้านการกดขี่ข่มเหง และต่อต้านความหิวโหย" ในโรงเรียน และทำหน้าที่เป็นกัปตันทีมนักเรียนที่เดินขบวนประท้วง เมื่อสิ้นสุดปี 1948 เขาเข้าร่วมองค์กรรอบนอกของพรรคคอมมิวนิสต์ "สันนิบาตเยาวชนประชาธิปไตยยูนนาน" และหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในเดือนมิถุนายน 1949 เขาสมัครเข้าร่วมกองกำลังชายแดนยูนนาน-กุ้ยโจว-เฉียนหนานของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน 

เขาได้รับการจัดตั้งโดยกลุ่มใต้ดินให้เดินทางไปที่เขตอี๋เหลียง ในเดือนกรกฎาคมของปีนั้น เขาไปเรียนหลักสูตรฝึกอบรมของแผนกการเมืองของกองกำลังชายแดนในตำบลป่านเฉียว อำเภอหลูซี ซึ่งเขาเข้าร่วมสันนิบาตเยาวชนประชาธิปไตยใหม่ของจีน หลังจากเรียนหลักสูตรฝึกอบรมเสร็จสิ้น เขาได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมหน่วยลาดตระเวนของแผนกเสนาธิการกองบัญชาการกองกำลังชายแดนในฐานะทหาร หลังจากที่เมืองคุนหมิงได้รับการปลดปล่อยโดยพรรคอมมิวนิสต์ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1950 เขาถูกย้ายไปยังแผนกข่าวกรองของกองบัญชาการภูมิภาคทหารยูนนานในฐานะหัวหน้าทีม

แต่ในไม่ช้าเขาก็สมัครเข้ากองทัพอากาศ เพื่อสานต่อความฝันที่จะเป็นนักบิน

ซ่งเหวินชง ซึ่งเพิ่งอายุครบ 20 ปี ได้เดินทางไปที่เมืองฉงชิ่งเพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อคัดเลือกเข้าประจำการ แต่เขากลับไม่ผ่านการตรวจร่างกาย อาจเป็นเพราะความเหนื่อยล้าจากการเดินทางหรือเป็นหวัดเล็กน้อย ผู้นำกองทัพกล่าวด้วยความเสียใจว่า เขาไม่สามารถเรียนการบินได้แม้จะมีพื้นเพการศึกษาก็ตาม แต่เขาควรไปโรงเรียนการบินเพื่อเรียนรู้การจัดการภาคพื้นดินและเป็นช่างเครื่องในอนาคต

สงครามเกาหลีและช่างกลทัพฟ้า
ใครจะรู้ว่านี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตเขา ในเดือนพฤษภาคม 1950 ซ่งเหวินชงได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมกองทัพอากาศและเข้าเป็นนักเรียนช่างเครื่องรุ่นแรกที่โรงเรียนการบินที่ 2 ของเมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลิน แต่ไม่นาน สงครามเกาหลีก็ปะทุขึ้น และฐานทัพอากาศภายในประเทศทั้งหมดต้องการเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินอย่างเร่งด่วน ในเดือนพฤษภาคม 1951 ซ่งเหวินชงสำเร็จการศึกษาก่อนกำหนดและได้รับมอบหมายให้เป็นช่างเครื่องในกองทหารที่ 27 ของกองพลทหารอากาศที่ 9 ทันทีที่ซ่งเหวินชงรายงานตัวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ เขาก็ทุ่มเทให้กับงานหนักอย่างเต็มที่ ในขณะที่เรียนรู้จากช่างเครื่องของโซเวียตอย่างถ่อมตัว เขาก็ศึกษาฝึกฝนอย่างจริงจังและได้รับความไว้วางใจจากนักบินในไม่ช้า เครื่องบินที่เขาดูแลไม่เคยมีปัญหาใดๆ ในปี 1953 เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นช่างเครื่องหลักของฝูงบินบำรุงรักษา 

ระหว่างสงครามครั้งนี้ ซ่งเหวินชงมักสงสัยในใจว่าเมื่อที่คนจีนจะมีเครื่องบินที่เร็วกว่า พิสัยการบินไกลกว่า มีความคล่องตัวดีกว่า และมีศักยภาพในการรบที่แข็งแกร่งกว่าเครื่องบินของฝ่ายต่างๆ ในสงครามเกาหลี หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในสงคราม เขาถูกย้ายไปเป็นนักเรียนช่างเครื่องเครื่องบินรุ่นที่สองในแผนกวิศวกรรมกองทัพอากาศของวิทยาลัยวิศวกรรมการทหารกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนในเดือนสิงหาคม 1954 ที่เมืองฮาร์บิน

ในระหว่างการศึกษาที่ฮาร์บิน ซ่งเหวินชงได้รับรางวัลเกียรติคุณระดับสองและระดับสาม ในขณะที่เรียนหนังสือ เขามีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องบินรบซูเปอร์โซนิก "ตงเฟิง 113" (东风-113) และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมโดยรวม ซ่งเหวินชงจงทำงานในโครงการ "ตงเฟิง 113" มาหลายปีแล้ว เขาไม่มีวันหยุด ทำงานแบบไม่แบ่งวันแบ่งคืน ไม่มีเวลาโรแมนติกเหมือนวัยรุ่น และไม่เคยกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่เลย

ต่อมาในปี  1958 ได้เข้าร่วมในโครงการตงเฟิง (东风) เต็มตัวและได้รับมอบหมายให้ไปที่สตูดิโอออกแบบของโรงงานเสิ่นหยาง 112 (沈阳 112 ต่อยอดมาจากบริษัทยุคหมั่นโจวกั๋วภายใต้อิทธิพลญี่ปุ่นและสืบทอดแนวคิดการออกแบบเครื่องบินที่ผลิตในญี่ปุ่นมามากมาย) ซึ่งเขาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมออกแบบโดยรวมสำหรับเครื่องบินที่ดัดแปลงมา และในปี 1959 ได้มีการควบรวมสำนักงานออกแบบแห่งแรก (สำนักงานออกแบบโครงการตงเฟิง 107) และสำนักงานออกแบบแห่งที่สองเข้าด้วยกัน และซ่งเหวินชงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มโดยรวมของสำนักงานออกแบบที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น 

สู่การออกแบบเครื่องบินรบ
ซ่งเหวินชงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยวิศวกรรมการทหารฮาร์บินในเดือนกรกฎาคม 1960 และได้รับมอบหมายให้เป็นนักออกแบบและหัวหน้าทีมงานมืออาชีพของสถาบันเสินหยาง 601 (沈阳 601 เป็นสถาบันออกแบบเครื่องบินแห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีฉายาว่า "ที่รวมตัวของอัจฉริยะด้านอากาศยาน") ถึงตอนนี้เส้นทางไปสู่การเป็นนักสร้างเครื่องบินรบของซ่งเหวินชงยิ่งก้าวหน้าไม่หยุด ในเดือนสิงหาคม 1961 สถาบันแรกของสถาบันที่หกของกระทรวงกลาโหมแห่งชาติ (สถาบันออกแบบอากาศยานเสิ่นหยาง) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นได้ก่อตั้งขึ้นในเสิ่นหยาง โดยมีซ่งเหวินชงเป็นหัวหน้ากลุ่มเค้าโครงอากาศพลศาสตร์ 

ประสบการณ์จากการร่วมโครงการตงเฟิงก่อนหน้านี้ ซ่งเหวินชงพบว่าโครงสร้างเครื่องบินโซเวียตที่จีนลอกเลียนแบบยังมีข้อบกพร่องด้านการออกแบบอยู่มาก และระบบการพัฒนาเครื่องบินโซเวียตไม่เหมาะกับสภาพของประเทศจีน เขาคิดว่า "ไม่มีทางออกหากเราเดินตามรอยเท้าของคนอื่น" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซ่งเหวินชงจึงได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า "เราต้องหาวิธีให้ชาวจีนออกแบบและพัฒนาเครื่องบิน!" ในงานของเขา เขากล้าแสดงความเห็นที่แตกต่างหลายครั้ง และจากประสบการณ์การทำงานของเขา เขาเป็นผู้บุกเบิกกลยุทธ์เครื่องบินและรูปแบบอากาศพลศาสตร์ที่สำคัญของจีน

ระหว่างปี 1962 ถึง 1964 ซ่งเหวินชงเป็นผู้นำกลุ่มมืออาชีพด้านยุทธวิธีและการจัดวางเครื่องบินเพื่อทำการวิจัยการออกแบบรูปแบบเครื่องบินใหม่มากกว่า 20 แบบที่มีรูปร่างเครื่องบินและการรวมพารามิเตอร์ที่แตกต่างกัน และในที่สุดก็มุ่งเน้นไปที่รูปแบบการจัดวางเครื่องบินปกติสองแบบ ได้แก่ เครื่องยนต์เดี่ยวและเครื่องยนต์คู่ และในปี 1964 แผนการพัฒนาเครื่องยนต์คู่ที่เสนอโดยซ่งเหวินชงได้รับการอนุมัติ ซึ่งกลายเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียงแบบอิสระลำแรกของจีนที่ประสบความสำเร็จ นั่นคือ J-8 และในเดือนกรกฎาคม 1969 เครื่องบิน J-8 ได้ทำการทดสอบบินสำเร็จ

ความลับที่คนในบ้านก็ไม่รู้
ในปี 1970 ซ่งเหวินชงต้องจากจากเมืองเสิ่นหยางไปรับหน้าที่ใหม่ที่เมืองเฉิงตูเพื่อก่อตั้งสถาบันวิจัยเครื่องบินขับไล่แห่งใหม่ ซึ่งก็คือสถาบันออกแบบเครื่องบินเสิ่นหยาง สาขาเฉิงตู (สถาบันเฉิงตู 611) ต่อมา ในเดือนตุลาคม 1981 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้ออกแบบเครื่องบิน J-7C ซึ่งเป็นโครงการสำคัญแรกภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน

มาถึงตอนนี้ ซ่งเหวินชงทำงานด้านการพัฒนาอากาศยานมานานหลายทศวรรษ แต่เนื่องจากความลับนี้ พ่อแม่และพี่น้องของเขาจึงไม่ทราบว่าเขาทำอาชีพอะไร วันหนึ่ง ซ่งเหวินหงน้องชายของเขาไปเยี่ยมเขาและบังเอิญเห็นหนังสือทางการแพทย์สองสามเล่มในตู้หนังสือ เมื่อเขากลับถึงบ้าน เขาก็พูดกับครอบครัวว่า "พี่ใหญ่อาจจะเปลี่ยนอาชีพเป็นทันตแพทย์" ด้วยเหตุนี้คนในครอบครัวจึงคิดว่าเขาคงจะเป็นแพทย์กระมัง ความจริงก็คือ ซ่งเหวินชงกำลังทำงานใหญ่ให้บ้านเมืองโดยไม่มีใครรู้

ไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะทำได้
มาถึงตอนนี้เขาอายุได้ครึ่งศตวรรษแล้ว ฝากชีวิตไว้กับการช่วยประเทศสร้างเครื่องบินรบของตัวเองขึ้นมา แต่มันก็ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นการสร้างนวัตกรรมที่เหนือชั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับโดยครั้งหนึ่งมีคนถามเขาโดยตรงว่า “มันต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 ถึง 10 ปี และอย่างมากที่สุด 20 ปีในการพัฒนาแบบจำลอง (เครื่องบินรบ) ปีนี้คุณอายุเกิน 50 ปีแล้ว เครื่องบินลำนี้สามารถสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ในมือคุณได้หรือไม่?” 

แต่ซ่งเหวินชงตอบว่า “ฮ่าๆ เป็นคำถามที่น่าสนใจ ผมไม่สามารถพูดได้ว่าผมจะอยู่ได้อีกกี่ปี และเครื่องบินลำนี้จะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในมือผมได้หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ การพัฒนาเครื่องบินลำนี้จะทำให้มีบุคลากรที่มีความสามารถด้านการออกแบบและพัฒนาเครื่องบินสมัยใหม่จำนวนมากเติบโตขึ้นในประเทศจีน เราเพียงแค่ต้องปูทางให้พวกเขา เมื่อถึงเวลานั้น ไม่สำคัญว่าผมจะอยู่ที่นี่หรือไม่ แน่นอนว่าจะต้องมีคนที่มีความสามารถมากกว่าผม ซ่งเหวินชง เข้ามารับช่วงต่องานนี้”

แม้จะอุทิศชีวิตให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง แต่เขาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เขาเดินทางโดยใช้จักรยานเป็นประจำ เขามักจะพูดติดตลกว่า “การขี่จักรยานสามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้” เพื่อนร่วมงานจะเห็นเขาขี่จักรยานไปกลับระหว่างบ้านและที่ทำงานทุกวัน ต่อมาเมื่อเขาอายุมากขึ้น การขี่จักรยานก็ไม่ปลอดภัย ดังนั้นเขาจึงเริ่มขับรถยนต์เมื่ออายุ 70 ปีแล้ว

ถึงยุคแห่งเครื่องบิน J-10
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1982 ซ่งเหวินชงเข้าร่วมการประชุมทบทวนและสาธิตแผนการพัฒนาเครื่องบินใหม่ซึ่งจัดขึ้นที่ปักกิ่ง ในการประชุม เขาได้นำเสนอโมเดลเครื่องบินที่มีเค้าโครงใหม่ ซึ่งเป็นต้นแบบของเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชันที่สาม คือ J-10 ในอีกสองปีต่อมา หลังจากการสาธิต การศึกษา และการตรวจสอบมากมาย 

ซ่งเหวินชงประกาศว่า "เราอยากจะพัฒนาเครื่องบินขับไล่ขั้นสูงที่ได้รับการออกแบบโดยชาวจีนโดยแท้จริง เป็นเครื่องบินที่ไม่ล้าหลังกว่าโลกในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า!" ดังนั้น แผนใหม่นี้จึงถูกกำหนดให้เป็นแผนโดยรวมของเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชันใหม่ J-10 ของจีน โครงการเครื่องบิน J-10 ถูกระบุเป็นโครงการพิเศษระดับชาติที่สำคัญ และซ่งเหวินชงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้ออกแบบเครื่องบิน J-10

ในเวลานั้น หลายคนคิดว่าการซื้อเครื่องบินรบของฝรั่งเศส Mirage 2000 ของฝรั่งเศส หรือ Su-27 ของสหภาพโซเวียตโดยตรงจะดีกว่า เพื่อประหยัดเงิน เวลา และความพยายาม แต่ซ่งเหวินชงยืนกรานที่จะพัฒนาเครื่องบินของจีนเอง เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาสามารถปฏิบัติภารกิจ J-10 ได้สำเร็จ ซ่งเหวินชงและเพื่อนร่วมงานจึงลงนามใน "คำสั่งทางทหาร" และมุ่งมั่นพัฒนา J-10 อย่างจริงจัง

“ข้าพเจ้ามีส่วนสนับสนุนโมเดล และโมเดลนั้นก็หล่อเลี้ยงการเติบโตของข้าพเจ้า” และ “มาตุภูมิจะไม่มีวันลืมผู้ที่มีส่วนสนับสนุนมาตุภูมิ” นี่คือคำขวัญที่ซ่งเหวินชงเสนอเมื่อเขาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ J-10 และเป็นแรงขับเคลื่อนกำลังใจให้กับเขาและทีมพัฒนา

จนในที่สุด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1998 เครื่องบิน J-10 ประสบความสำเร็จในการบินครั้งแรก หลังจากเที่ยวบินเสร็จสิ้น ซ่งเหวินชงกล่าวอย่างมีความสุขแก่ผู้ที่อยู่ในที่สาธิตการบินว่า “ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป วันเกิดของผมคือวันที่ 23 มีนาคม”

นี่คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชายที่ใช้เวลาค่อนชีวิตไปกับการสร้างเครื่องบินรบ

ขณะเดียวกัน หลังจากที่จีนประกาศยกเลิกการเก็บความลับเกี่ยวกับเครื่องบิน J-10 หนังสือพิมพ์และนิตยสารบางฉบับก็เริ่มเอ่ยถึงซ่งเหวินชงว่าเป็น "บิดาแห่งเครื่องบิน J-10" ในรายงานสาธารณะ จากนั้นครอบครัวของเขาจึงตระหนักทันทีว่าเขาได้พัฒนาเครื่องบินขับไล่ให้กับประเทศอย่างเงียบๆ มาหลายทศวรรษแล้ว

ซ่งเหวินชงเคยบอกว่า “สิ่งที่ผมเสียใจก็คือ ชีวิตมนุษย์นั้นสั้นเกินไป และเรามีเวลาไม่เพียงพอ หากผู้คนมีอายุยืนยาวถึง 100 หรือ 200 ปี ผมสามารถพัฒนาเครื่องบินสักสองสามลำเพื่อประเทศชาติของผมได้” 

ซ่งเหวินชงถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2016 ด้วยอาการป่วย หนึ่งวันก่อนที่จะถึงวันรำลึกความสำเร็จในการทะยานฟ้าของ J-10

มีการจัดพิธีอำลาในเช้าวันที่ 26 มีนาคม สีจิ้นผิง หูจิ่นเทา หลี่เค่อเฉียง หลี่เผิง จูหรงจี เวินเจียเป่า และผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐทั้งในปัจจุบันและอดีตแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อ "บิดาแห่งเครื่องบิน J-10" ผู้นี้

รายงานพิเศษโดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better

ข้อมูลอ้างอิง

  1. 宋文骢 • 百度
  2. 宋文骢,与歼10结下生死缘
  3. “歼-10之父”宋文骢院士:倾尽此生付长空

Photo - 航空工业  via 知乎专栏

TAGS: #宋文骢 #ซ่งเหวินชง #SongWencong #J-10