วัฒนธรรม'เคลมร่วม' เมื่อเขมรกัมพูชาก็อ้างตำนาน'พระร่วง'เป็นของตัวเอง

วัฒนธรรม'เคลมร่วม' เมื่อเขมรกัมพูชาก็อ้างตำนาน'พระร่วง'เป็นของตัวเอง

ถ้าผมเป็นทีมงานสร้างภาพยนต์ “พระร่วง มหาศึกสุโขทัย” ผมคงท้อน่าดู

เพราะส่งทีเซอร์ออกมาแป๊ปเดียวก็โดนทัวร์ลงซะแล้ว สาเหตุหลักๆ คือภาพยนต์เรื่องนี้ไปใช้นักแสดงหญิงชาวกัมพูชามาร้บบทเจ้าหญิงยุคเขมรโบราณร่วมสมัยกับ "พระร่วง" 

แต่คนไทยจำนวนมากมองว่านักแสดงคนนี้ชอบ "ใส่ชุดไทย" แต่ดันอ้างว่าเป็น "ชุดเขมร" ซึ่งยิ่งเติมเชื้อไฟให้กับวิวาทะเรื่อง "เขมรเคลมไย" 

แต่นอกจากรณีนี้ผมยังเห็น "เขมรกัมพูชา" บางคนออกมาเคลมด้วยว่า "ขอบคุณที่โปรโมทประวัติศาสตร์แขมร์ เรื่องพระร่วง" 

แน่นอนว่าคนไทยเห็นประโยคนี้ย่อมคิดว่าเขมรเมืองพระนครผู้นี้ "วิปลาศไปแล้วหรือกระไร?" 

แต่ผมขออธิบายว่าเธอไม่ได้บ้า เพียงแต่เธอขาดการศึกษา ส่วนคนไทยก็ควรทราบด้วยว่า "พระร่วง" ปรากฎอยู่ในพงศาวดารเขมรเหมือนกัน

ไอ้คำว่า "พงศาวดาร" ที่ว่านี้ไม่ใช่การเรียบเรียงประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบนัก เพราะขาดการระบุศักราช และเนื้อหาอีรุงตุงนังไปหมด แต่ก็สามารถเรียบเรียงให้เป็นวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งประเทศไทยทำแบบนั้น แต่เขมรไม่ทำ แถมยังนิยมสร้างความ "แฟนตาซี" ให้กับประวัติศาสตร์ให้หนักขึ้นไปอีก

"เรื่องพระร่วง" ปรากฏอยู่ในพงศาวดารประเภท "ตำนาน" ทั้งของไทยและกัมพูชา ของไทยนั้นอยู่ใน "ประชุมพงศาวดาร" อันเป็นหนังสือชุดที่รวบรวมประวัติศาสรตร์ของไทย ในชื่อ "เรื่องพระเจ้าปทุมสุริวงศ สร้างพระนครวัด นครธม" และ "พงศาวดารเหนือ" 

ส่วนของกัมพูชาเรื่องพระร่วงอยู่ใน "พงศาวดารวัดโกกกาก" (​ពង្សាវតារ​វត្ដ​កោកកាក) เล่าเรื่องพระร่วงเถลิงอำนาจขึ้นมาในแผ่นดินสยาม จากนั้นก็แข็งข้อต่อพระปทุมสุริวงศ์กษัตริย์เมืองพระนคร หรือเขมรโบราณ พระปทุมสุริวงศ์จึงสั่งให้ "เตโชดำดิน" (តេជោតំឌិន) หรือ "เจ้าพระยาเตโชเจรกเดย" (ចៅពញាតេជោជ្រែកដី) ตามล่าพระร่วง จนกลายเป็นเป็นตำนาน "ขอมดำดิน" ในฝ่ายไทย เพราะเมื่อเตโชดำดินได้ทำการ "ดำดิน" มาถึงสุโขไทยแล้วก็ถูกพระร่วงสาปให้เป็นหินอยู่ตรงนั้น ไม่สามารถขยับเขยื่อนขึ้นมาจับพระร่วงไปส่งเมืองเขมรได้ 

ในตำนานเขมรนั้นเรียกขอมดำดินเป็นถึงพระยา และมีฉายาว่า "เจรกเดย" คือ ดำดินหรือขุดดิน

เอาเพียงเท่านี้ก็แสดงให้เห็นว่าไทยและเขมรมีตำนวนร่วมกัน ทั้งพระร่วง (ที่เขมรเรียกเหมือนกันว่า ព្រះរោង) และขอมดำดิน ที่เขมรเรียกว่า เจ้าพระยาเตโชเจรกเดย

ตัวละครสำคัญที่เหมือนกันอีกคือ "พระปทุมสุริวงศ์" ในตำนานไทยนั้นเรียกว่า "พระเจ้าพันธุมสุริยวงษ์" ก็มี และเรียก "พระปทุมสุริวงศ์" สถานะตรงกันคือเป็นผู้ปกครงเมืองพระนคร และมีอำนาจสั่งให้เมืองบริหารส่งบรรณาการไปให้เมืองพระนคร ใน"เรื่องพระเจ้าปทุมสุริวงศ สร้างพระนครวัด นครธม" ระบุว่า "เมืองสุโขไทยไปส่งส่วยน้ำ เมืองตลุงส่งส่วยไหม เมืองละโว้ส่งส่วยปลาแห้ง" 

ในตำนานไทยที่ปรากฏในพงศาวดารเหนือระบุว่า "นายร่วง" เป็นบุตรของนายคงเคราซึ่งมีหน้าที่ส่งน่้ำจากทะเลชุบศรในเมืองละโว้ (ลพบุรี) ไปให้เมืองพระนคร คาดว่าน้ำทะเลชุบศรอาจเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในพิธีกรรม (เหมือนดั่งชื่อ "ชุบศร" ที่แสดงถึงพิธีการบางอย่าง)  

ปกติการขนส่งน้ำจะต้องใช้ "ลุ้ง" หรือโอ่งดินเผาขนาดกลางๆ แต่นายร่วงเห็นว่าลุ้งมันหนักไป จึงสาน "ชลอม" เอามาขนน้ำ พอใส่น้ำน้ำก็ไม่รั่ว (ชะรอยวาคงจะชันยาเอาไว้) พวกเขมรและไทยเห็นเป็นอัศจรรย์ก็กล่าวโจษจรรกันไป จนถึงมืองพระนคร ครั้นพระปทุมสุริวงศ์เห็นแลเวก็ตกพระทัย คิดว่าคนมีบุญมาเกิดจะโค่นล้มเรา จึงทรงสั่งให้กองทัพตามไล่ล่านายร่วงรมถึงส่งขอมดำดินไปด้วย นายร่วงหนีไปบวชเป็นพระที่สุโขไทย เลยได้ชื่อว่า "พระร่วง" พอขอมดำดินตามไปถึงก็ถูกพระร่วงซึ่งมีวาจาสิทธิ์สาปให้กลายเป็นหินดังที่กล่าวไว้ 

ในพงศาวดารเหนือของไทยกล่าวว่า "พระพุทธศักราช 1502 ปี เจ้าเมืองศุโขไทยทิวงคต เสนาบดีประชุมกันว่า วงษานุวงษ์ไม่มีแล้วเราจะเห็นผู้ใดเล่า เห็นแต่พระร่วงบวชอยู่วัด ก็เห็นด้วยอยู่พร้อมกัน จึงเสนากรมการพร้อมกันไปวัดอัญเชิญพระร่วงเจ้าลาผนวชแล้ว รับพระร่วงเข้ามาครองกรุงศุโขไทย"

เรื่องในพงศาวดารเหนือของไทยจบลงเท่านี้ แต่ในบันทึก "เรื่องพระเจ้าประทุมสุริวงษ
สร้างพระนครวัด นครธม" ในประชุมพงศาวดารเล่าต่อไปว่า "พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ตรัสว่า ไม่ให้เอาน้ำไปส่ง แล้วเหตุใดจึ่งให้พระยาเดโชดำดินมาจับเราเล่า เราจะยกกองทัพไปจับพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์บ้าง จึ่งตรัสสั่งให้เกณฑ์พวกพลโยธาเปนอันมากยกจากเมืองสุโขไทยไปถึงเมืองเสียมราบจนถึงพระนครธม พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ทรงทราบจึ่งตรัสสั่งว่า ให้พระร่วงมาเปิดประตูพระนครเทิญ พระเจ้าร่วงจึ่งยกพลไปเปิดประตูเมืองไม่ได้ พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์เหนว่า พระเจ้าร่วงเปิดประตูเมืองไม่ได้แล้ว จึ่งตรัสว่า เราจะให้ประตูเปิดเองให้พระเจ้าร่วงเข้ามาเฝ้าเราให้จงได้ พระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ตรัสดังนั้นแล้วจึ่งตรัสว่า ประตูเปิดเสียให้พระยาร่วงเข้ามาเฝ้าเรา ประตูก็เปิดออกในทันใดนั้น พระเจ้าร่วงกับพวกพลไทยทั้งปวงกลัวพระเดชานุภาพกราบถวายบังคมชมพระบารมีพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ตั้งแต่พระนครธม นครวัด จนถึงเมืองเสียมราบ จึ่งได้ชื่อว่า เสียมราบ "

ตำนานเรื่องนี้มีข้อสังเกต คือ มีคำว่า "เสียมราบ" หรือสยามแพ้ราบคาบ และเอ่ยถึงเดชานุภาพของพระเจ้าประทุมสุริย์วงษ์ต่อพระร่วง เห็นได้ชัดว่านำเนื้อหามาจากกัมพูชาแม้จะอยู่ในประชุมพงศาวดารของไทยก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะประชุมพงศาวดารของไทยไม่ได้มีแต่พงศาวดารไทย แต่นพงศาวดารของประเทศเพื่อนบ้านมารวมไว้ด้วย ฃ

ในตำนานเรื่องพระปทุมสุริวงศ์มีเหมือนไทยเรื่องพระร่วง "แข็งเมือง" และส่งกองทัพรบที่เมืองพระนคร แต่มักจะจบลงที่ฝ่ายพระร่วงแพ้ต่อพระปทุมสุริวงศ์ เช่น ตำนานเรื่อง "เสียมราบ" ที่ใช้เรียกเมืองพระนคร คือนครวัด นครธม และเป็นชื่อจังหวัดในปัจจุบัน 

แต่นักประวัติศาสตร์ไม่ชื่อว่า "เสียมราบ" มาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ เพราะไม่มีเหตุที่สยามหรือไทยจะมาแพ้ที่นี่ ตรงกันข้ามเมืองพระนครต่างหากที่ถูกกองทัพสยามบุกรุกจนสิ้นเมืองมาแล้วในศตวรษที่ 14 

นี่เป็นลักษณะหนึ่งของพงศาวดารกัมพูชาที่มักจะบันทึก "ความเหนือกว่า" ของฝ่ายตน แม้ว่าจะขัดต่อพงศาวดารไทยและบันทึกอื่นๆ ก็ตาม ในกรณีของเรื่องพระร่วงในตำนานไทยไม่มีว่าทรงไปบุกเมืองเขมรแล้ว "ถูกปราบ" โดยพระเจ้าปทุมสุริยวงษ์

จะขอยกตัวอย่าง "เรื่องพระร่วงแพ้เขมร" ดังนี้ 

"ครั้งแรก "พญาร่วง" (ញារោង) เดินทางไปกัมพูชาอย่างลับๆ โดยนำกองทัพเล็กๆ และดาบสองเล่มซ่อนอยู่ในตัวไปด้วย เมื่อมาถึงพระมหานคร พญาร่วงก็ปลอมตัวและเดินตรงเข้าไปในพระราชวัง ในเวลานั้น ขุนนาง เสนาบดี ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งมนุษย์และนาค ต่างมารวมกันในพระราชวัง รอแสดงความเคารพและเข้าเฝ้าพระปทุมสุริยวงศ์ ผู้ซึ่งประทับบนบัลลังก์ พระองค์ตรัสว่า “มีคนแปลกหน้ามาที่นี่หรือไม่?” ขุนนางและเสนาบดีทุกคนตอบพร้อมกันว่าไม่เห็นคนแปลกหน้าเลย กษัตริย์ตรัสต่อไปอย่างเสียงดัง “ชาวสยาม มาที่นี่ด้วยใจที่กล้าหาญเช่นนี้ เหตุใดเจ้าจึงมาที่นี่” พญาร่วง ซึ่งใช้วิชากำบังกายอยู่จึงตกใจกลัวและทิ้งดาบทั้งสองเล่มจากมือ พญาร่วงพยายามใช้วาจาสิทธิ์ของตนแต่ก็ไร้ผล ในขณะนั้น พญาร่วงรู้ดีว่าอำนาจอันยิ่งใหญ่ของตนไม่อาจเอาชนะพระปทุมสุริยวงศ์ ทันใดนั้น กษัตริย์ก็ลงจากบัลลังก์ ชักดาบออกมา และเดินเข้ามาหาพญาร่วง เพื่อสังหารเขา พญาร่วงรู้ว่าตนไม่มีทางออก จึงคุกเข่าลงและกราบขอการอภัยจากพระปทุมสุริยวงศ์  พระปทุมสุริยวงศ์ ก็ยอมอภัยให้และปล่อยให้พญาร่วงมีชีวิตอยู่ โดยกล่าวว่า “ไม่จริงเลยที่เจ้ามีอานุภาพมากขนาดนั้น!” จากนั้น พญาร่วงก็กราบทูลต่อกษัตริย์เขมร และเดินทางกลับสยาม แต่ในใจของพญาร่วงไม่เคยยอมจำนนต่อกษัตริย์เขมร พญาร่วง ยึดมั่นในใจว่า สักวันหนึ่ง เขาจะลอบสังหารและสังหารกษัตริย์เขมร และยึดเอาทรัพย์สินของราชวงศ์มาให้จงได้" (ความตอนนี้เรียบเรียงจากเรื่อง បទុមសុរិយវង្ស ภาคภาษเขมรในวิกิพีเดีย)

"ครั้งที่สอง พญาร่วงถือโอกาสนี้เตรียมตัวและบริวารเดินทางไปมหานครเพื่อลอบสังหารกษัตริย์เขมร วันนั้น พระปทุมสุริยวงศ์พร้อมด้วยพระขรรค์เสด็จลงมายังลานพระราชวังเพื่อเล่นสนุก พญาร่วงใช้พละกำลังมหาศาล ขี่ช้างใหญ่ แล้วปลอมตัวขี่เข้าพระราชวังหมายจะไปเหยียบย่ำฆ่ากษัตริย์ต่อหน้า ผู้นำกองทัพไม่เห็นพญาร่วง แต่พระปทุมสุริยวงศ์ ผู้มีนัยน์ตาเทพ มองเห็น พระองค์โกรธมาก ร้องตะโกนว่า “ชาวสยามคนนี้ดูหมิ่นเราเกินไปแล้ว! เขาคิดว่าอำนาจของเขายิ่งใหญ่ ครั้งนี้ เราจะไม่ทนอีกต่อไป!” พญาร่วงพยายามกล่อมช้างให้โจมตีเร็วขึ้นและไปฆ่ากษัตริย์เขมร แต่เมื่อถึงเบื้องหน้าของพระปทุมสุริยวงศ์ ช้างก็หยุดและคุกเข่าลงเพื่อถวายบังคม เมื่อไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จตามที่ต้องการได้  พญาร่วงก็ตกใจมาก จึงกระโดดลงจากหลังช้างและกราบทูลต่อกษัตริย์ขอให้อภัยและปล่อยให้เขามีชีวิตอยู่  พญาร่วงประกาศอย่างจริงจังว่าจากนี้ไป เขาจะไม่กล้าดูหมิ่นพระปทุมสุริยวงศ์อีกต่อไป พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ซึ่งทรงทราบประวัติของพญาร่วง และความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างพระองค์ในฐานะพระอนุชา ก็ทรงเต็มใจที่จะให้อภัยพระองค์และมอบที่ดินบางส่วนให้แก่พระองค์ด้วย" (ความตอนนี้เรียบเรียงจากเรื่อง បទុមសុរិយវង្ស ภาคภาษเขมรในวิกิพีเดีย)

ในตอนนี้มีเรื่องน่าสงสัยเรื่องหนึ่ง คือ พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ทราบว่าพญาร่วงเป็นพระอนุชน เรื่องนี้ต่างจากตำนานไทยและตำนานส่วนใหญ่ของเขมรโดยสิ้นเชิง แต่ไปปรากฏในการสืบวงศ์ของพระเจ้าปักษีจำกรง ของ "คณะกรรมการตระเตรียมพงศาวดารเขมร" (គណៈកម្មកា​រៀបចំ​ពង្សាវតារ​ខ្មែរ​​) ซึ่งประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆนายก (เตียง) และสมเด็จพระสังฆนายก (ปาน) เป็นสมาชิกในการประชุม ระบุว่า พระเจ้าปักษีจำกรง มีพระราชโอรสนามว่าพระปทุมวรวงส์ (បទុមវរវង្ស) กษัตริย์นี้เสด็จไปที่ตวลบาสานต์แล้วตกหลุมรักกับนางนาคลูกพญานาค เกิดลูกกด้วยกันสองคน คือ พญาร่วง (ซึ่งมีวาจาสิทธิ์) และ พระปทุมสุริยวงษ์ซึ่งมีตาทิพย์

ตำนานพระร่วงที่เกิดจากนางนาคนี้ก็มีเหมือนกันในไทย คือในใน "จุลยุทธการวงศ์ ความเรียง" ที่แต่งโดยอ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กล่าวถึงพระร่วงเกิดแต่นางนาคกับพระเจ้าศรีธรรมโศกราช

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการมีตำนานร่วม แต่เล่ากันคนละเรื่องเดียวกันระหว่างไทยกับเขมร

ส่วนเรื่องพระปทุมสุริยวงษ์นั้นยังมียืดยาวต่อไปในตำนานฝ่ายเขมร ใน "พงศาวดารวัดตึกวิล" (ពង្សាវតារ​វត្ដ​ទឹកវិល) กล่าวถึงพระปทุมสุริยวงษ์ เป็นพระราชโอรสของพระอาทิตยวงษ์ พระปทุมสุริวงศ์มีพระชายาชื่อนางปทุมเกสร มีโอรสด้วยกันสององค์ องค์หนึ่งชื่อ พญาราช (ពញារាជ) พญาราชผู้นี้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งพระปทุมสุริยวงษ์จากพระราชบิดา ซึ่งหมายความว่า "พระปทุมสุริยวงษ์ " ไม่ใช่พระนาม แต่เป็นราชทินนามของกษัตริย์มากกว่า 

จาก "คำบอกใบ้" จะนำไปสู่เรื่องที่วิเคราะห์ต่อไปในภายภาคหน้าเกี่ยวกับ "ปฐมวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยา" 

บทความทัศนะโดยกรกิจ ดิษฐาน บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

TAGS: #พระร่วง #เขมร #กัมพูชา