"ควรหรือไม่ไทยใช้ตำรวจจีน?" เปิดกรณีอื้อฉาว "สถานีโพ้นทะเล" ที่จีนใช้ตำรวจทำงานลับในประเทศอื่น

เปิดกรณีอื้อฉาว "สถานีโพ้นทะเล" ที่จีนใช้ตำรวจแทรกแซงอธิปไตยของประเทศอื่น จนเป็นเรื่องราวใหญ่โต

ทำไมไทยชวนตำรวจจีนมาช่วย?

  • เศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หารือเรื่องที่จะนำตำรวจจากประเทศจีนมาลาดตระเวนร่วมในประเทศไทยตามเมืองท่องเที่ยว ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง 
  • ฐาปนีย์ กล่าวว่า เราต้องการให้ตำรวจจีนเห็นการทำงานของประเทศไทย ว่าไทยยกระดับเรื่องความปลอดภัยอย่างไรบ้าง และถ้าตำรวจจีนมาแสดงความมั่นใจในเมืองไทย ก็จะช่วยยกระดับความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวจีน
  • ฐาปนีย์ มั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยทำให้ตัวเลขการท่องเที่ยวจีนช่วง 2 เดือนสุดท้าย เป็นไปตามเป้าเดิม ที่กำหนดไว้ที่ 4-4.4 ล้านคน และเผยว่าโครงการลาดตระเวนร่วมในไทย เคยมีตัวอย่างที่เคยประสบความสำเร็จที่ประเทศอิตาลี 

แต่โครงการที่อิตาลีสำเร็จจริงหรือเปล่า?
• อิตาลีกับจีนข้อตกลงทวิภาคีปี 2558 ที่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนมีส่วนร่วมในการลาดตระเวนร่วมกับตำรวจอิตาลีในโรม มิลาน เนเปิลส์ และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในอิตาลี 
• โครงการนี้เกิดขึ้น เพื่อรับมือกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มมากขึ้นในอิตาลี ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคนต่อปีมาที่อิตาลีจากตัวเลขก่อนการระบาดของโควิด-19
• และยังมีการวิเคราะห์กันว่า การนำตำรวจจีนเข้ามาอาจเกี่ยวข้องกับการที่ทางการอิตาลีต้องการเข้าถึงกลุ่มชาวจีน 266,000 คนที่อาศัยในอิตาลี และในชุมชนนี้มี "จีนเทา" แฝงอยู่
• การลาดตระเวนร่วมนี้เกิดขึ้นระหว่างปี 2559-2562 อิตาลี แล้วหยุดไปหลังเกิดโควิด-19 หลังจากนั้นอิตาลีก็ประกาศยกเลิกข้อตกลงนี้ ในช่วงที่เกิดการ "แฉ" ครั้งใหญ่พอดี

ตำรวจจีนที่อาจไม่ใช่ตำรวจจริง
ในเดือนธันวาคม 2565 อิตาลีประกาศว่าตำรวจจะยุติการลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนในเมืองต่างๆ ของอิตาลี โดยรัฐมนตรีมหาดไทย มัตเตโอ ปิอันเตโดซี ชี้แจงว่าการลาดตระเวนที่เป็นปัญหาไม่เกี่ยวข้องกับ "สถานีโพ้นทะเล" 

1. "สถานีโพ้นทะเล" หรือ Overseas 110 หมายถึง สำนักงานของรัฐบาลจีนที่ตั้งขึ้นโดยอยู่เหนือกฎหมายของประเทศเจ้าของสถานที่ สถานีเหล่านี้มักเป็นสถานีตำรวจ มีอยู่หลายแห่งที่จัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนและสำนักงานความมั่นคงสาธารณะ 

2. ในปี 2565 กลุ่มสิทธิมนุษยชน Safeguard Defenders เผยแพร่รายงานที่พบว่ารัฐบาลจีนใช้ "สถานีโพ้นทะเล" เหล่านี้อย่างผิดกฎหมายเพื่อข่มขู่ผู้เห็นต่างชาวจีนและผู้ต้องสงสัยทางอาญาในต่างประเทศ และเพื่อกดดันให้พวกเขาเดินทางกลับประเทศจีน รายงานดังกล่าวนำไปสู่การสอบสวนสถานีโดยรัฐบาลของหลายประเทศ

3. Safeguard Defenders เผยแพร่รายงานเบื้องต้นในเดือนกันยายน 2565 และเพิ่มเติมในเดือนธันวาคม 2565 โดยกล่าวหาว่าสถานีตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของโครงการชื่อ "ปฏิบัติการล่าจิ้งจอก" (Operation Fox Hunt) ของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นการล่าตัวอาชญากรชาวจีนทั่วโลก แต่ปฏิบัติการนี้ถูกกล่าวหาว่ามุ่งเป้าไปที่ชาวจีนที่เห็นต่างจากรัฐบาลจีนที่กำลังอาศัยอยู่ในต่างประเทศ เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวต่อต้านทางการจีน โดยจับกุมคนเหล่านี้กลับไปโดยอ้างว่าก่ออาชญากรรม

4. Safeguard Defender อ้างว่าระหว่างเดือนเมษายน 2564 ถึงกรกฎาคม 2565 มี "ผู้ต้องสงสัยฉ้อโกง" 230,000 รายที่ "ถูกชักชวนให้กลับมา" โดยรัฐบาลจีน ซึ่งทางกลุ่ม Safeguard Defender ระบุว่าสถานีตำรวจเหล่านี้ละเมิดอธิปไตยของประเทศเจ้าบ้านโดยเปิดทางให้ตำรวจจีนหลีกเลี่ยงกฎและขั้นตอนความร่วมมือของตำรวจเจ้าของประเทศ

5. ผลจากการแฉครั้งนี้ ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องตรวจสอบปฏิบัติการของตำรวจจีนในประเทศของตนกันยกใหญ่ เช่น "สถานีโพ้นทะเล" ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ได้รับคำสั่งให้ปิดโดยกระทรวงการต่างประเทศไอร์แลนด์ในปลายเดือนตุลาคม 2565 เดือนเดียวกัน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เผยว่าจีนเปิดสถานีโดยไม่บอกกล่าว ทั้งที่ดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย

6. เดือนพฤศจิกายน 2565 แคนาดาเรียกทูตจีนมาเตือนให้หยุดการกระทำนั้นเสีย ในเดือนเดียวกัน สหรัฐฯ โดยหน่วยงาน FBI ตรวจสอบรายงานเรื่องจีนเปิดสถานีตำรวจ และประณามว่าเป็นการกระทำที่ "อุกอาจ" และละเมิดอธิปไตยของสหรัฐฯ และเดือนธันวาคม 2565 อิตาลีหยุดการลาดตระเวนร่วม แต่เบื้องต้นบอกว่าไม่เกี่ยวกับกรณี "สถานีโพ้นทะเล"

7. โดยรวมแล้วมีรายงานการเปิด "สถานีโพ้นทะเล" ในประเทศเหล่านี้ คือ บรูไน, (1 แห่ง) อินโดนีเซีย (1แห่ง), กัมพูชา (2 แห่ง), ญี่ปุ่น (1 แห่ง), เกาหลีใต้ (1 แห่ง), เมียนมา (2 แห่ง), ฝรั่งเศส (3 แห่ง), อิตาลี (11 แห่ง), เนเธอร์แลนด์ (4 แห่ง), โปรตุเกส (3 แห่ง), สเปน (9 แห่ง), สหราชอาณาจักร (3 แห่ง), แคนาดา (3 แห่ง), สหรัฐฯ (1 แห่ง), แอฟริกาใต้ (3 แห่ง) เป็นต้น โดยไม่มีไทยอยู่ในรายชื่อ

8. จากรายงานของ Radio Free Asia รายงานว่า ณ เดือนตุลาคม 2565 มีการจัดตั้งสถานีดังกล่าวทั้งหมด 54 สถานีใน 30 ประเทศ แต่ตัวเลขของ Safeguard Defender คือ 110 แห่ง สถานีตำรวจเหล่านี้มักเชื่อมโยงกับสถานีที่ตั้งไว้แล้วในจีน เช่น หน่วยงานตำรวจของเทศมณฑลฝูโจว มณฑลฝููเจี้ยน และเมืองชิงเถียน มณฑลเจ้อเจียง เป็นหน่อยงานในท้องถิ่นจีนจัดตั้ง "สถานีโพ้นทะเล" หลายแห่งมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีหน่วงานด้านความมั่นคงในเมืองเวินโจว และหลีสุ่ย มณฑลเจ้อเจียง ที่เปิดหน่วยงานในต่างประเทศด้วย 

9. แต่ผู้เริ่มต้น คือ สำนักงานตำรวจหนานทง มณฑลเจียงซู ที่ได้จัดตั้ง "สถานีบริการในต่างประเทศ" แห่งแรกขึ้น จนเป็นที่มาของคำว่า "110 Overseas" หรือ "Overseas 110" (ตัวเลข 110 คือเลขโทรฉุกเฉินในจีน) โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องในปี 2559 ต่อมาสำนักงานตำรวจหนานทง ได้จัดตั้งสำนักงานใน 6 ประเทศ และได้สะสางคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนอย่างน้อย 120 คดี รวมทั้งควบคุมตัวผู้คนกว่า 80 คนในเมียนมา กัมพูชา และแซมเบีย

สรุป ลาดตระเวนร่วมแบบอิตาลีเวิร์กหรือเปล่า?
หลังจากเกิดการตีแผ่เรื่องนี้ มัตเตโอ ปิอันเตโดซี รัฐมนตรีมหาดไทยอิตาลีบอกกับหนังสือพิมพ์ Il Foglio เมื่อปี 2565 ว่า “ผมพูดได้เลยว่ารูปแบบความร่วมมือเหล่านั้นจะไม่ถูกนำไปใช้หรือทำซ้ำในรูปแบบอื่นอีกต่อไป” นั่นหมายความว่าการลาดตระเวนร่วมในอิตาลีจบลงแล้ว และจะไม่เกิดขึ้นอีก 

ดังนั้นการบอกว่าการลาดตระเวนร่วมของตำรวจอิตาเลียนกับจีนเป็น "ความสำเร็จ" จึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก ตรงกันข้าม มันจบลงอย่างล้มเหลว และอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ของสองประเทศด้วยซ้ำ แม้ว่าตอนแรก  ปิอันเตโดซี จะชี้แจงว่าการลาดตระเวนที่เป็นปัญหาไม่เกี่ยวข้องกับ "สถานีโพ้นทะเล" 

แต่ในเวลาต่อมาเราจะเห็นว่า เมื่อถึงเดือนมกราคม 2566 จากการรายงานของ decode39  ปิอันเตโดซี กล่าวกับวุฒิสมาชิกว่า ตำรวจได้ประสานงานกับหน่วยข่าวกรอง เพื่อดำเนินสอบสวนกรณีสถานีตำรวจจีนโพ้นทะเล ซึ่งตั้งอยู่บนดินแดนอิตาลี

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2566 การสอบสวนของ ProPublica องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก ทำงานเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชนเชิงสืบสวน พบว่าผู้นำของ "สถานีบริการตำรวจต่างประเทศฝูโจว" ในเมืองปราโต ประเทศอิตาลีมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชญากรรม

กรณีของอิตาลี "สถานีโพ้นทะเล" จึงไม่ใช่แค่การทำตามอำเภอใจของจีนแล้ว แต่มันยังอาจเกี่ยวพันกับพวก "จีนเทา" ด้วยซ้ำ

จีนอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร? - ตามที่รัฐบาลจีนระบุ ศูนย์ต่างๆ (หรือ "สถานีโพ้นทะเล") ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้ให้ชาวจีนสามารถเข้าถึงบริการด้านการบริหารของรัฐ เช่น ใบขับขี่ และการต่ออายุเอกสารอื่นๆ โดยไม่ต้องเดินทางไปจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อช่วยเหลือคนจีนในต่างแดนเมื่อเผชิญหน้ากับอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฉ้อโกงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนชาวจีนโพ้นทะเล

ภาพประกอบข่าว - ทหารจีนเดินขบวนหลังจากพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์วีรชนของประชาชน เพื่อเป็นเกียรติแก่วีรบุรุษของชาติที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ต่างๆ งานนี้จัดขึ้นเรื่องในวันวีรชนวีรชน ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2023 (ภาพโดย Pedro PARDO / AFP)

TAGS: #ลาดตระเวนร่วมตำรวจไทยจีน #จีน #Overseas #110