คนทั่วไปรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อหรือมากกว่า แต่การทำ IF แบบ 23/1 คือการอด 23 ชั่วโมง และทาน 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็ยวิธีการที่หลายคนเชื่อว่าช่วยควบคุมน้ำหนักได้
Intermittent Fasting หรือ IF คือ การกินแบบจำกัดช่วงเวลา โดยทั่วไปการลดน้ำหนักแบบจำกัดช่วงเวลาการกินที่นิยม คือ กิน 8 ชั่วโมง และอด 16 ชั่วโมง ช่วงอดร่างกายจะดึงไขมันที่สะสมออกมาใช้ ระดับอินซูลินจะลดลง และระดับ Growth Hormone สูงขึ้น
การทำ IF 23/1 เปรียบเสมือนการรับประทานอาหารมื้อเดียวต่อวัน โดยทั่วไปเราจะรับประทานอาหารประมาณ 3 มื้อต่อวัน หรือมากกว่านั้น ซึ่งการทานบ่อยเกินไปอาจทำให้ความยืดหยุ่นในการเผาผลาญพลังงานของร่างกายลดลง รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
ปรับระดับน้ำตาลในเลือด ลดระดับคอเลสเตอรอลเลว ลดความเสี่ยงของโรคอ้วน และโรคหัวใจ ซึ่งอาจส่งผลดีสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายหรือมีร่างกายที่แข็งแรงอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการควบคุมน้ำหนักให้คงที่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีการกินข้าววันละมื้ออาจไม่ได้มีแต่ประโยชน์ต่อสุขภาพเสมอไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ด้วย
ความเสี่ยงของการทำ IF 23/1
- ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลเลว หรือ LDL สูงขึ้น และอาจจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้มากกว่ากินอาหารแบบปกติ
- การกินอาหารแค่มื้อเดียวอาจจะเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับร่างกายเกินไป อาจทำให้รู้สึกหิวจนควบคุมไม่ได้ เมื่อถึงช่วงกินจะเลือกกินหนักเป็นพิเศษ ซึ่งก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์
- รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อารมณ์แปรปรวน สมองไม่แล่น หรือไม่มีสมาธิ
- หากคุณมีน้ำหนักตัวมากอยู่แล้วและเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ถ้าน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับต่ำเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ หากระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างไม่สมดุล ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
การกินข้าววันละมื้อไม่ใช่วิธีการควบคุมอาหารที่เหมาะสมสำหรับใครหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่ต้องกินยาพร้อมอาหาร ผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงผู้ที่มีความผิดปกติในการกินอาหารด้วย เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้รุนแรงกว่าคนทั่วไป หรืออาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่แย่ลงได้