ความเหงาเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคหัวใจ ที่สูงกว่าอาหาร การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และภาวะซึมเศร้า แต่ก็เป็นปัจจัยที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการทำงานของไต คอเลสเตอรอล และค่าดัชนีมวลกาย
เว็บไซต์บลูมเบิร์กเผย นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ความเหงาก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจ โดยมีภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบหรืออุดตัน โดยสาเหตุจากความเหงานั้นส่งผลกระทบมากกว่าพฤติกรรมการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย สูบบุหรี หรือภาวะซึมเศร้าเสียอีก ทางนักวิจัยกล่าวว่า พวกเขาค้นพบข้อมูลในนิตยสาร ซึ่งตีพิมพ์ใน European Heart Journal เน้นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีผลดีเพื่อรักษาสุขภาพที่ดี
การศึกษาของศาสตราจารย์ลูซี่ แห่งคณะสาธารณสุขศาสตร์และเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยทูเลน เมืองนิวออร์ลีนส์ กล่าวว่า การติดต่อ การพูดคุยหรือการมีสังคมนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพหัวใจสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน "เราไม่ควรมองข้ามความเหงาซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ"
ศาสตรจารย์ซี่กล่าวว่า "ฉันสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่รู้สึกเหงาต้องการเข้าสังคม ให้ได้พบปะ พูดคุย หรือเข้าคลาสร่วมกันเพื่อหาเพื่อนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน
สำหรับการศึกษาเรื่องนี้ นักวิจัยหาข้อมูลจาก UK Biobank ซึ่งเป็นฐานข้อมูลออนไลน์ที่ใช้บันทึกทางการแพทย์และการใช้ชีวิตจากชาวอังกฤษมากกว่าครึ่งล้าน โดยข้อมูลที่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่มากกว่า 18,000 คนที่มีอายุระหว่าง 37 ถึง 73 ปี คนเหล่านี้มีภาวะโรคเบาหวาน แต่ไม่มีภาวะโรคหัวใจสอดแทรกนับตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นของการศึกษาที่ยาวนานนับสิบปี
โดยนักวิจัยใช้แบบสอบถามเพื่อประเมินความเหงาและปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ เช่น ดัชนีมวลกาย (BMI) กิจกรรมทางกาย การรับประทานอาหาร แอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการใช้ยาในการรักษาบางตัว ความดันโลหิต คอเลสเตอรอล และการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
พบว่าในช่วงเวลากว่า 10 ปี ผู้คนกว่า 3,000 คนเป็นโรคหัวใจ ซึ่งรวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง
นักวิจัยพบว่าผู้ที่ทำคะแนนความเหงาได้สูงที่สุดมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับผู้ที่มีคะแนนต่ำกว่า
ทีมนักวิจัยยังพบว่าความเหงาเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคหัวใจ ที่สูงกว่าอาหาร การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และภาวะซึมเศร้า แต่ก็เป็นปัจจัยที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการทำงานของไต คอเลสเตอรอล และค่าดัชนีมวลกาย
ศาสตราจารย์ซี่ กล่าวว่า "ความเหงาเป็นปัจจัยที่จูงใจให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตหลายอย่าง เรายังพบว่าสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผลที่ตามมาของปัจจัยเสี่ยงทางร่างกาย (เช่น การควบคุมน้ำตาลในเลือดลดลง ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง การสูบบุหรี่ และการทำงานของไตไม่ดี) มีมากกว่าในผู้ที่รู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็น "
"ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการถามผู้ป่วยโรคเบาหวานเกี่ยวกับความเหงาควรเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินมาตรฐาน โดยมีการส่งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบไปยังบริการสุขภาพจิต" ศาสตราจารย์ซี่ กล่าว