ผลสำรวจ "ความเหงา" ที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับความเป็น Digital Native อย่างแท้จริงของกลุ่มคน Gen Z ไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางอารมณ์ที่ควรมองข้าม เพราะเป็นหนึ่งในพาหะของภาวะซึมเศร้า
แม้ความเหงา จะเป็นความรู้สึกนามธรรม แต่เรากลับเห็นมันได้ชัดขึ้นในกลุ่มคน Gen Z
ปรากฏการณ์ย้อนแย้งที่เกิดขึ้นของเด็ก Gen Z ทำให้หลายคนประหลาดใจ เพราะแม้ว่าในยุคปัจจุบัน Gen Z เป็นกลุ่มคนที่มีเพื่อนหลากหลาย และสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย แต่ทำไมพวกเขาถึงเป็นกลุ่มคนที่ถูกพบว่า เกิดความเหงาได้มากขึ้นในปัจจุบัน
นี่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และในหลายครั้งผลการศึกษาก็พบข้อมูลเป็นไปในทางเดียวกัน ว่า กลุ่ม Gen Z มีความเหงามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่าง ผลสำรวจของ Cigna องค์กรด้านสุขภาพระดับโลก ได้สำรวจกลุ่มคนที่มีอายุ 18-22 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่อยู่ในกลุ่ม Gen Z ในสหรัฐอเมริกา พบว่า 73% ของกลุ่มคนเหล่านี้ รู้สึกโดดเดี่ยวบางครั้งหรือตลอดเวลา
บริษัทวิจัยระดับโลก GlobalWebIndex หรือ GW ก็ได้เผยผลสำรวจในปี 2024 พบว่า กลุ่มคน Gen Z กว่า 80% ทั่วโลก เคยผ่านความรู้สึกเหงา และนับเป็นตัวเลขที่สูงกว่ากลุ่มคนอายุอื่น และผลการสำรวจยังพบพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของ Gen Z ที่พบว่า การใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รู้สึกเหงา
รวมถึงงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Heliyon ในช่วงมกราคมปี 2024 ที่ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) ความรู้สึกว่าตนเองสำคัญ (Mattering) กับความเหงา (Loneliness) ใน Gen Z โดยทั้ง 3 องค์ประกอบ ได้แสดงให้เห็นว่า หากใครที่ต้องการความสมบูรณ์แบบมากกว่าคนอื่น จะยิ่งพยายามทำให้ตนเองมีตัวตนหรือความสำคัญในบริบทนั้นๆ และหากไม่สำเร็จ ก็จะส่งผลให้คนเหล่านั้นเกิดความรู้สึกเหงาได้
สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อความเหงา เป็นเหมือนตัวพาหะของภาวะซึมเศร้าในกลุ่มคน Gen Z ที่เริ่มกลายเป็นสัญญาณอันตรายทางสุขภาพจิต
เหมือนอย่างที่ วารสาร Behaviour Change ได้เผยแพร่งานวิจัย ความสัมพันธ์ระหว่างความเหงาและอาการซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น โดยพบว่า ความเหงาและอาการซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่นมีความสัมพันธ์กันยิ่งรู้สึกเหงามากเท่าไร ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะมีอาการซึมเศร้ามากขึ้นเท่านั้น
ข้อมูลข้างต้นเป็นไปในทางเดียวกันกับการรายงานข้อมูลของ American Psychological Association (APA) ปี 2023 ที่พบว่า Gen Z เป็นกลุ่มที่มีความเครียดสูงที่สุด และพบว่า 91% ของ Gen Z มีอาการของภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปี 2022
ในประเทศไทยเองก็เช่นกัน ในปี 2565-2566 กรมสุขภาพจิตพบว่า 30% ของวัยรุ่นไทยในกลุ่ม Gen Z มีความเสี่ยงหรือแสดงอาการของภาวะซึมเศร้า และเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5–10% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากการพบเจอกับความกดดันทั้งการเรียน และการทำงาน
แม้ “ความเหงา” จะเคยถูกมองว่า เป็นเพียงแค่ความรู้สึกชั่วคราว ที่ผ่านมาแล้วผ่านไป
แต่คงไม่ใช่สำหรับกลุ่มคน Gen Z ในฐานะที่เป็นกลุ่มคนที่มีประชากรมากที่สุดในโลกตอนนี้ และสัมพันธ์กับตัวเลขภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้น อาจต้องเป็นอีกหนึ่่งประเด็นสังคมที่ต้องหยิบมาพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
เรื่อง : Pornthida Jedeepram