หวานแบบไม่มีพลังงาน กินหญ้าหวานอย่างไร ป้องกันโรคได้จริง

หวานแบบไม่มีพลังงาน กินหญ้าหวานอย่างไร ป้องกันโรคได้จริง
หญ้าหวาน ทางเลือกความหวานแบบไร้พลังงาน กินอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงเบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจ พร้อมวิธีเลือกผลิตภัณฑ์หญ้าหวานให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด

ในยุคที่หลายคนพยายามหาทางออกจากน้ำตาล หญ้าหวาน (Stevia) กลายเป็นทางเลือกยอดฮิต ด้วยคุณสมบัติที่ให้ความหวานโดยไม่เพิ่มพลังงาน รสชาติถูกปากแต่ไม่สะสมพุง และที่สำคัญคืออาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจได้


ทั้งนี้หญ้าหวานเป็นพืชที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 200 - 300 เท่า ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะดื้ออินซูลินจึงนิยมรับประทานแทน เพราะหญ้าหวานไม่กระตุ้นน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณ ช่วยลดความดันโลหิต และมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง


ทุกวันนี้มีหญ้าหวานที่ผลิตออกมาเป็นโปรดักส์ต่างๆ มีหลากหลายประเภทให้ได้เลือกนำไปประกอบในอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้นจำเป็นอย่างมากที่ต้องเลือกหญ้าหวานที่มีคุณภาพและดีต่อร่างกาย ซึ่งวิธีการเลือกหญ้าหวาน ควรดูที่แปรรูปน้อยที่สุด หรือแบบผงแห้งไม่ผสมสารให้ความหวานเทียมอื่นๆ  ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์หญ้าหวานที่ผสมไซลิทอล ซูคราโลส หรือแอสปาแตม 


สำหรับปริมาณในการกินควรตักแต่น้อย แม้จะไม่มีแคลอรีก็ตาม แต่การบริโภคมากเกินไปอาจทำให้ติดรสหวาน และส่งผลต่อรสนิยมการกินในระยะยาว โดยควรนำไปใช้ในเมนูที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ชงชา กาแฟ โยเกิร์ต หรือทำขนมที่เน้นโปรตีนและไฟเบอร์


หญ้าหวานแม้จะดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะดื้ออินซูลิน แต่สำหรับ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เป็นประจำ หรือถ้าหากใช้หญ้าหวานแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น เวียนหัว แน่นหน้าอก ควรหยุดใช้และพบแพทย์ทันที


ประโยชน์ของความหวาน แน่นอนว่ามันช่วยเพิ่มรสชาติที่ถูกปากให้กับอาหารและเครื่องเดิม แต่ก็ควรบริโภคอย่างพอดี แม้ว่าจะเป็นหญ้าหวานที่ไม่มีพลังงานก็ตาม  แต่ถ้าเลือกใช้ให้เป็นก็ช่วยให้ "พลังสุขภาพ" ได้ เพราะสิ่งที่หวานที่สุด อาจไม่ใช่รสชาติที่ปากได้รับ…แต่อาจเป็นสุขภาพดีที่เราเลือกให้ตัวเอง

TAGS: #Health #หญ้าหวาน #สรรพคุณหญ้าหวาน #โรคเบาหวาน #ดื้ออินซูลิน