วิวัฒนาการของนาฬิกา จากเครื่องมือบอกเวลา สู่สินทรัพย์การลงทุนระดับโลก ที่ทั้งสร้างมูลค่าและสะท้อนรสนิยมของผู้ที่ครอบครอง
หากคุณหลงใหลในการเก็บสะสมของสักชิ้นหนึ่ง แน่นอนว่าสิ่งนั้นย่อมสงผลต่อจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นของที่มีมูลค่ามากหรือน้อยก็ตาม เช่นเดียวกับเครื่องมือบอกเวลาอย่างนาฬิกา แม้ว่าในอดีตอาจจะยังไม่ใช่สิ่งที่กลายเป็นของที่มีมูลค่ามหาศาล แต่นาฬิกาก็เป็นที่นิยมในกลุ่มนักสะสมเป็นอย่างมาก จนกระทั่งกลายมาเป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้
Timekeepers to Treasures
การลงทุนในนาฬิกา เริ่มต้นจากความสนใจของนักสะสมที่ต้องการครอบครองนาฬิกาที่มีความพิเศษ ซึ่งการลงทุนในนาฬิกา เริ่มได้รับความนิยมตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะในกลุ่มนักสะสมที่มองเห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความหายากของนาฬิกาบางรุ่น
ในปัจจุบันการลงทุนในนาฬิกาได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากนาฬิกาบางรุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบางครั้งสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับนักลงทุน อีกทั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ช่วงปลายยุค 1940s–1950s) นาฬิกาบางรุ่นก็เริ่มมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในตลาดรอง และกลายเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลกเช่นกัน โดยเฉพาะในวงการนาฬิกาจากสวิส ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่เฟื่องฟูอย่างมาก
จนกระทั่งในช่วงปี 1970s–1980s อุตสาหกรรมนาฬิกาของสวิสได้เกิดวิกฤติครั้งใหญ่ หลังจากที่ญี่ปุ่นเปิดตัวนาฬิกาควอตซ์เรือนแรกของโลกอย่าง Seiko Astron ในปี 1969 ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นการใช้แบตเตอรี่และคริสตัลควอตซ์ควบคุมเวลา ทำให้นาฬิกาแม่นยำ มีราคาถูก และผลิตง่ายกว่านาฬิกากลไกแบบที่สวิสเคยทำ ทำให้แบรนด์นาฬิกาหรูสวิสต้องเผชิญกับวิกฤต หลายแบรนด์ผลิตนาฬิกาน้อยลง บางรุ่นกลายเป็นของหายาก แต่ในขณะเดียวกันหลายรุ่นที่เลิกผลิตไปก็มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
หลังจากนั้น ในช่วงนี้ 1990s–2000s การประมูลนาฬิกาเริ่มได้เริ่มความสนใจจากนักสะสมทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียและตะวันออกกลาง และที่เรียกเสียงฮือฮาในหมู่นักสะสมมากที่สุดก็คือ นาฬิกา Patek Philippe Ref. 2499 ที่ถูกประมูลในราคากว่า 2 ล้านดอลลาร์ ในปี 1999 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับนาฬิกาให้กลายเป็นสินทรัพย์และเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตการลงทุนทางเลือกที่ยังคงได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้
5 Top Brand Timeless Watch
มูลค่าของนาฬิกา แม้ว่าจะถูกนำเสนอในมุมของการเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความหลงใหลในความงดงามของการออกแบบ ความประณีตในการผลิต และเรื่องราวควาเป็นมาของนาฬิกาแต่ละเรือนนั้นคือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้นักสะสมนาฬิการู้สึกถึงคุณค่าของสิ่งนี้ ซึ่งนาฬิกาแบรนด์ดังในรุ่นที่ยังคง Timless จนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
Rolex Daytona Ref. 6239
Rolex
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 Rolex Daytona เป็นหนึ่งในโมเดลที่ได้รับความนิยมอย่างมากในวงการนาฬิกา โดยรุ่นแรกๆ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการในตลาดนาฬิกามีทั้ง Rolex Daytona Ref. 6239 (1963 - 1969) นาฬิกา Daytona รุ่นแรกที่ผลิตและกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "Paul Newman Daytona" ซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามนักแสดงและนักแข่งรถชื่อดังอย่าง Paul Newman โดยเขาสวมใส่ Rolex Daytona ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือ หน้าปัดแบบสองสีที่ดูคลาสสิก โมเดลต่อมาคือ Rolex Daytona Ref. 6241 (1965 - 1969) รุ่นนี้ได้รับการพัฒนาให้มีฟังก์ชัน Tachymeter มีกรอบพลาสติก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในช่วงเวลานั้น ซึ่งรุ่นนี้ยังคงได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากดีไซน์ที่มีเสน่ห์และเทคนิคการผลิตที่ซับซ้อน
Rolex Daytona Ref. 6241
อีกหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจของแบรนด์นี้ คือ Rolex Daytona Ref. 6263 (1970 - 1988) รุ่นนี้เป็นการพัฒนาจาก Ref. 6241 โดยมีการปรับปรุงกรอบและการออกแบบหน้าปัดใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ขนาดและดีไซน์ของนาฬิกามีความเป็นเอกลักษณ์และยังคงเป็นที่ต้องการของนักสะสม
Patek Philippe
สำหรับแบรนด์ Patek Philippe นั้นเป็นอีกหนึ่งแบรนด์นาฬิกาที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรุ่น Nautilus ที่เริ่มมีการผลิตในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 อย่าง Patek Philippe Nautilus Ref. 3700/1 นาฬิการุ่นแรกของ Nautilus ที่ออกแบบโดย Gérald Genta ซึ่งมีดีไซน์เป็นที่รู้จักในรูปแบบทรงสี่เหลี่ยมที่มีขอบโค้งมนและหน้าปัดที่ดูเรียบง่ายแต่หรูหรา ตัวเรือนผลิตจากสเตนเลสสตีล มีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์และดูสปอร์ต ทำให้ Nautilus รุ่นนี้เป็นที่ต้องการในตลาดนักสะสมปัจจุบัน โดยเฉพาะรุ่นที่มีหน้าปัดสีดำ
Patek Philippe Nautilus Ref. 3700/1
อีกรุ่นของโมเดลนี้ อย่าง Patek Philippe Nautilus Ref. 3800/1 (1981 - 1997) เป็นรุ่นที่มีขนาดเล็กกว่ารุ่น 3700/1 เล็กน้อย (ขนาดตัวเรือน 37 มม. เทียบกับ 42 มม. ของรุ่น 3700/1) แต่ยังคงความโดดเด่นในด้านการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของ Nautilus รุ่นแรก โดยรุ่นนี้ได้รับความนิยมมากในตลาดนักสะสมในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และ 1990 เนื่องจากการออกแบบที่หรูหราและมีฟังก์ชันการใช้งานที่ดี
Patek Philippe Nautilus Ref. 3800/1
นอกจากนี้ยังมี Patek Philippe Nautilus Ref. 5711/1A รุ่นนี้แม้จะไม่ได้อยู่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 แต่ Ref. 5711 เป็นการสานต่อความสำเร็จจากรุ่น 3700 และ 3800 และกลายเป็นหนึ่งในรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาดนาฬิกาในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนาฬิกาที่สามารถตอบโจทย์ทั้งการใช้งานในชีวิตประจำวันและการลงทุนในระยะยาว
มาต่อกันที่ Patek Philippe Ref. 3970 เป็นหนึ่งในรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในวงการนักสะสมเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มมีการลงทุนในนาฬิกาในปี 1980s ถึง 2000s รุ่นนี้มีฟังก์ชัน Perpetual Calendar สามารถแสดงวันที่, เดือน, ปีอธิกสุรทิน และวันในสัปดาห์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ มีฟังก์ชัน Chronograph สามารถจับเวลาที่มีความแม่นยำสูง อีกทั้งดีไซน์และวัสดุ ของรุ่นนี้ถูกออกแบบมาในสไตล์ที่คลาสสิกและใช้วัสดุอย่างดี เช่น สเตนเลสสตีลหรือทองคำ ทำให้เป็นนาฬิกาที่สามารถสวมใส่ได้ในหลายโอกาส
Cartier
นาฬิกา Cartier Crash ถือเป็นหนึ่งในนาฬิกาที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่นและแตกต่างจากนาฬิกาทั่วไป จุดเด่นของรุ่นนี้คือ ตัวเรือนมีรูปร่างโค้งไม่มีความสมส่วน ซึ่งผู้ออกแบบตั้งใจสะท้อนถึงความหลงใหลในศิลปะการดีไซน์ในศิลปะ Surrealism ที่ต้องการนำเสนอความแปลกใหม่ให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของรุ่นนี้ อีกทั้งความโดดเด่นของ Cartier Crash ยังทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราและความสร้างสรรค์ที่หลุดนอกกรอบเดิมๆ ซึ่งยังคงเป็นที่นิยมในหมู่คนรักนาฬิกาจนถึงปัจจุบัน
Cartier Crash
Seiko
แบรนด์นาฬิกาสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Seiko ดีไซน์ Vintage ก็เป็นอีกโมเดลที่ยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มนักสะสมนาฬิกาเช่นเดียวกัน โดย Seiko 6139 (ผลิตในปี 1969) เป็นนาฬิกาจับเวลารุ่นแรกของโลกที่ใช้กลไก Chronograph Automatic มาพร้อมกับฟังก์ชันจับเวลาที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถจับเวลาได้แม่นยำ โดยรุ่นนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงปลายยุค 1960s และ 1970s
Seiko 6139
นอกจากนี้ในรุ่น Seiko 6138 ที่ผลิตในปี 1970 ที่เป็นรุ่นต่อมาจาก Seiko 6139 มีฟังก์ชัน Chronograph Automatic ที่คล้ายกัน แต่ฟังก์ชันการจับเวลา สามารถทำได้หลายฟังก์ชันพร้อมกับ Pulsations Scale (มาตราส่วนการนับการเต้นของหัวใจ) ไว้สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่ต้องการใช้ในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ โดยรวมแล้วไม่ว่าจะเป็น Seiko 6139 หรือ Seiko 6138 ก็ถือเป็นรุ่นที่สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ Quartz Crisis เกิดขึ้น และยังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักนาฬิกา vintage ด้วย
Audemars Piguet
Audemars Piguet Royal Oak โดยเฉพาะรุ่นแรกอย่าง Ref. 5402ST นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลจากวันที่เปิดตัวครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ทั้งในแง่ของมูลค่าในตลาดนาฬิกาและความนิยมในกลุ่มนักสะสม
อย่างในช่วงวิกฤต Quartz Crisis ที่แบรนด์นาฬิกาสวิสหลายแบรนด์ต้องเจอกับปัญหานาฬิกาควอตซ์ราคาถูกจากญี่ปุ่น แต่ Audemars Piguet ตัดสินใจเปิดตัวนาฬิกาสปอร์ตแบบสเตนเลสสตีล ซึ่งราคาแพงกว่าเรือนทองของแบรนด์อื่นในตลาดตอนนั้น โดยได้ดีไซเนอร์ระดับตำนานอย่าง Gérald Genta เป็นผู้ออกแบบรุ่น Royal Oak 5402ST ที่มีจุดเด่นคือเป็นหน้าปัดแบบ Tapisserie และมีตัวเรือนบางเพียง 7 มม. โดยในเวลานั้นผลิตแค่ 1,000 เรือนแรก (Series A) เท่านั้น และปัจจุบันกลายเป็นของสะสมระดับไอคอนไปแล้ว
Audemars Piguet Royal Oak Ref. 5402ST
เวลาคือทรัพย์สิน และนาฬิกาคือสัญลักษณ์ของการใช้เวลาอย่างมีคุณค่า สิ่งนี้ไม่ใช่แค่เครื่องวัดเวลา แต่คือนิยามของรสนิยม ประวัติศาสตร์ และการลงทุน