ปี 2023 ‘Joy-Conomy’ โอกาสแบรนด์สินค้าเจาะผู้บริโภคโหยหาแรงบันดาลใจ

ปี 2023 ‘Joy-Conomy’ โอกาสแบรนด์สินค้าเจาะผู้บริโภคโหยหาแรงบันดาลใจ
วันเดอร์แมน ธอมสัน กาง 100 เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นรับ Joy-Conomy เศรษฐกิจความสุข ที่ผู้คนมองหาความเบิกบานและความสุข หลังยุคโควิดผ่านพ้น

วันเดอร์แมน ธอมสัน เผยรายงาน ‘The Future 100:2023’ การศึกษาแนวโน้มสำคัญประจำปี 2023 ฉายภาพเค้าโครงของเทรนด์ที่กำลังมาแรงที่สุด และต้องจับตาในช่วงเวลาหนึ่งปีข้างหน้า

 

แม้วิกฤติทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมจะยังคงดำเนินต่อไป แต่ผู้คนก็จะเลือกอยู่กับสิ่งที่สร้างความเบิกบานใจ เป็นพลังขับเคลื่อนเข้าสู่ช่วงปีนับจากนี้

 

ใครๆก็อยากอยู่ในมู้ดดีๆ

 

สำหรับ การก่อตัวของเทรนด์ต่างๆ อย่างเช่น ‘Elevated Expressionism’, ‘Feel-Good Feeds’ และ ‘Ageless Play’ ซึ่ง วันเดอร์แมน ธอมสัน อินเทลลิเจนซ์ (Wunderman Thompson Intelligence) ให้ชื่อเรียกว่า ‘จอย-โคโนมี่’ (Joy-Conomy) หรือ เศรษฐกิจความสุข เผยโอกาสสำหรับแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการที่ผู้บริโภคโหยหาแรงบันดาลใจและการมองโลกในแง่ดี

 

เนื่องจาก ผู้คนต่างต้องการความยืดหยุ่นในการปรับตัว นวัตกรรม และความเบิกบาน ในขณะที่ยังมีความยากลำบากคอยอยู่ตรงหน้าอย่างต่อเนื่อง

 

เอมม่า ชิว (Emma Chiu) ผู้อำนวยการใหญ่ วันเดอร์แมน ธอมสัน อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า ในปีที่ทุกสัญญาณล้วนชี้ไปยังภาพอนาคตที่มืดมนและสับสนวุ่นวายเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ยากลำบาก และความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อม แต่กลับพบว่าแบรนด์ ยังมีโอกาสในการเชื่อมตัวเข้ากับความคิดและจิตใจของผู้บริโภค

 

เนื่องจากการมองโลกในแง่ดี ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วกำลังเปลี่ยนผันเป็นความต้องการที่งอกงามขึ้นเรื่อยๆ ในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขสนุกสนาน

 

“ชุมชน ความคิดสร้างสรรค์ และสีสันสดใส จะเข้ามาเติมชีวิตชีวาในปี 2023 ความเครียดในปีที่ผ่านๆ มาได้ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการหาจุดลงตัวที่สุดทั้งใจกายเพื่อให้ตนเองมีความสุขได้มากขึ้น” เอมม่า กล่าว

 

นอกจากนี้ การพัฒนาการอันรวดเร็วของเทคโนโลยีทำให้เห็นวิวัฒนาจากอาคารบ้านเรือนไปสู่การใช้ชีวิตอยู่ในเมตาเวิร์ส (โดยที่ทุกมิติในชีวิตของเรากำลังถูกสำรวจอยู่ในพรมแดนใหม่ในโลกของประสบการณ์ลูกค้าดังกล่าว) และผู้คนกำลังเรียกร้องให้แบรนด์ใช้พลังของตนเองเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น

 

โดยการให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ กับเรื่องของการเข้าถึงและการผสานความแตกต่าง

 

นอกเหนือจากการก่อตัวขึ้นของ Joy-Conomy แล้ว เทรนด์เด่นอื่นๆ ยังประกอบด้วย:

 

วัฒนธรรม – นวัตกรรมพื้นเมือง (Indigenous Innovation): เทคนิคของชนพื้นเมืองกำลังสร้างแนวทางใหม่ที่เป็นการปฏิรูปการจัดการสิ่งแวดล้อม

 

เทคโนโลยีและเมตาเวิร์ส – การเข้าถึงเทคโนโลยี (Techcessibility): บริษัทต่างๆ กำลังออกแบบสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลของตนเองใหม่เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงได้มากขึ้น

 

การเดินทางและบริการต้อนรับ – การเดินทางท่องเที่ยวในเขตอบอุ่น (Temperate Travel): อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้นักเดินทางหันมาเสาะหาที่หมายที่มีสภาพภูมิอากาศเย็นกว่า

 

แบรนด์และการตลาด – ครีเอเตอร์ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น (Amplifying Diverse Creators): เสียงเรียกร้องที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องการให้โฆษณาสะท้อนความเป็นผู้บริโภคที่แท้จริง กำลังขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือระหว่างแบรนด์กับครีเอทีฟที่เป็นบุคคลทั่วๆ ไป

 

อาหารและเครื่องดื่ม – เมนูจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Cell-cultured Dishes): เมื่ออาหารจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสามารถออกจากโลกของห้องแล็บจนเข้าสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตได้แล้ว ร้านอาหารระดับหรูหราก็อาจจะเป็นธุรกิจประเภทแรกที่ได้รับประโยชน์

 

ความงาม – ส่วนผสมที่ฟื้นคืนชีพ (Resurrected Ingredients): แบรนด์กำลังนำเอาส่วนประกอบที่กระตุ้นสัมผัสการรับรู้ต่างๆ ซึ่งห่างหายไปและถูกหลงลืมไปแล้วกลับมาสู่วงการอีกครั้ง

ค้าปลีกและการพาณิชย์ – ค้าปลีกในยามวิกฤติ (Crisis Retail): เมื่อวิกฤติทางการเงินแผลงฤทธิ์ แบรนด์ต่างๆ จึงยกระดับความช่วยเหลือที่มีให้แก่ผู้บริโภคกลุ่มที่เปราะบางที่สุดของตน

 

ลักชัวรี่ – ทะเลคือที่พำนัก (Residence at Sea): ชาวดิจิทัลรุ่นถัดไปที่อยู่ไปไม่ติดที่ กำลังมุ่งหน้าออกสู่ทะเลอย่างมีสไตล์

 

สุขภาพ – โปรแกรมสำหรับคนวัยทอง (Menopause Retreats): โปรแกรมที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนกำลังเป็นกระแสที่มาแรง โดยที่เนื้อหามีตั้งแต่การให้ความรู้เรื่องการให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy - HRT) ไปจนถึงการให้คำแนะนำด้านโภชนาการ

 

การทำงาน – ความยืดหยุ่นตามยุคสมัย (Generation Flex): ความคาดหวังของพนักงานกำลังเพิ่มสูงขึ้น แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ การสร้างสมดุลในการบริหารงานจะออกมาในรูปที่เกิดประโยชน์ต่อพวกเขาหรือไม่?

 

พลังบวก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-ชีวิต

 

มัวรีน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย กล่าวว่า หลังจาก 3 ปีแห่งความเศร้าซึมจากสถานการณ์โรคระบาด เห็นได้ว่ามนุษย์กำลังเลือกที่จะอยู่กับพลังบวกและความหวัง ท่ามกลางความยากลำบากนำมาซึ่งความขัดสนทางเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตาม คนไทยกำลังได้ลิ้มรสความหวังครั้งใหม่ จากการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นในหลายๆด้าน กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง

ในปีที่ผ่านๆ มา รายงาน Future 100 ได้นำเสนอการคาดการณ์ต่างๆ มากมายหลายเรื่องที่ได้กลายเป็นจริงในทุกด้าน

 

“รายงานฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อแบรนด์และนักการตลาดในการวางแผนเพื่อวันข้างหน้าและปรับตัวให้ตรงใจผู้บริโภคได้มากขึ้น เพื่อเป็นพลังกระตุ้นความหวัง แรงบันดาลใจ และความสุขความเบิกบานให้กับผู้บริโภคชาวไทย” มัวรีน กล่าว

 

 

 

TAGS: #JoyConomy #เศรษฐกิจความสุข #เทรนด์การตลาด2023