สสส. เสนอมาตรการ “7 ร่วม” คุมเข้มพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้าสร้างคุณค่าวัฒนธรรมประเพณี สนุก ปลอดภัย คืนความสุขคนไทย “ไม่เมา ไม่เจ็บ ไม่ตาย”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดงาน “สงกรานต์ 4 รีเทิร์น คุณค่า ความสุข ความสนุก ความปลอดภัย กำลังจะกลับมา” รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากเว้นวรรคไม่ได้จัดงานสงกรานต์เต็มรูปแบบมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2563 – 2565
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ รูปแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไม่ควบคุมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ อาจส่งผลให้ประชาชนมีแนวโน้มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น โดยเฉพาะค่านิยมการจัดงานวันสงกรานต์จากกลางวันเป็นกลางคืน ทำให้ สสส. และภาคีเครือข่ายต้องวางแนวทางลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพรูปแบบใหม่ ในวันสงกรานต์ปีนี้มากกว่า 20 ปีที่ผ่านมา
รศ.ดร.แล กล่าวต่อว่า สสส. ยังคงยึดมั่นเจตนารมณ์ทำให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี รณรงค์ให้สังคมเห็นคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีสงกรานต์ว่า ไม่ได้มีแค่การเล่นสาดน้ำ แต่มีวัฒนธรรมประเพณีเชื่อมโยงศาสนา ทำให้เกิดกิจกรรมแห่งความสุขในครอบครัวโดยไม่ต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ การมีนโยบายและมาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่รัดกุม หนักแน่น เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง อุบัติเหตุเกิดขึ้นน้อยลง และทำให้สังคมเห็นคุณค่าความหมายที่แท้จริงของวันสงกรานต์มากขึ้น
สสส. และเครือข่ายงดเหล้า ใช้แนวคิดสร้างคุณค่า ความสุข สนุก ปลอดภัย คืนความสุขแบบ “สนุก ไม่เมา ไม่เจ็บ ไม่ตาย” เดินทางท่องเที่ยว กลับบ้านอย่างความปลอดภัย ปีนี้ยังเดินหน้าปูพรมนำร่องและขยายพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยลดปัจจัยเสี่ยงตามถนนตระกูลข้าวกว่า 60 แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และทำให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดี” รศ.ดร.แล กล่าว
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีมติบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงวันสงกรานต์ ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดถนนสายรองมากกว่าถนนหลัก จึงมีแนวทางในเชิงป้องกันโดยใช้มาตรการต้นน้ำ เช่น กำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้า เพื่อสร้างความปลอดภัย ลดการผลิตคนเมาลงสู่ท้องถนน
รณรงค์ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม ส่งเสริมการตั้งด่านและวางมาตรการชุมชน และบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเข้มงวด เช่น ควบคุมไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด ห้ามขายให้เด็ก เยาวชน และคนเมา แนวทางเหล่านี้จะขับเคลื่อนงานผ่านกลไกคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด และ กทม. รวมถึง ส่งเสริมให้นายอำเภอนักรณรงค์มีส่วนร่วมรณรงค์
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สคล. กล่าวว่า วันสงกรานต์แบบสนุกจัดเต็มจะกลับมาอีกครั้ง หลังโควิด-19 คลี่คลายลง ขณะที่ สคล. สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนเรื่องกิจกรรมสงกรานต์ปลอดเหล้า ปี 2565 พบว่า 84% ชอบเที่ยวสงกรานต์ปลอดเหล้า เกือบ 100% เชื่อว่าช่วยลดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ 89% ช่วยลดการทะเลาะวิวาท 88% รู้สึกปลอดภัยในการออกมาท่องเที่ยว ปีนี้มีข้อเสนอ 7 มาตรการ ได้แก่
1.ร่วมกันกำหนด ไม่ให้มีกิจกรรมส่งเสริมการดื่มการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ
2.ร่วมกันสนับสนุน สร้างพื้นที่สงกรานต์ปลอดเหล้าปลอดภัย เล่นน้ำปลอดภัย
3.ร่วมใช้ มาตรการ ไม่ให้คนนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาในงาน มีนโยบายท้องถิ่นและกติกาชุมชนควบคุม
4.ร่วมกันควบคุมและเฝ้าระวัง ไม่ให้ธุรกิจแอลกอฮอล์ฉวยโอกาสจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแล้วทิ้งปัญหาภาระและผลกระทบ ทั้งอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ความสูญเสียให้สังคม
5.ร่วมกันส่งเสริม กิจกรรมตามประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งต่อวิถีวัฒนธรรมสู่เด็กเยาวชน
6.ร่วมกันดูแลเด็กเยาวชน ที่เล่นน้ำสงกรานต์เวลากลางคืน ป้องกันอุบัติเหตุ อาชญากรรม และการคุกคามทางเพศ
7.ร่วมกันสื่อสาร ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและสังคมเข้าใจและตระหนักถึงความปลอดภัย ในเหตุผลที่ต้องร่วมกันควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ