วิกฤตสารพัดปัญหา ตั้งแต่โควิด-19 หรือจะเป็นปัญหาฝุ่น PM2.5 ทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น ไม่มีนโยบาย หรือแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหานี้ที่ถูกต้อง
วิกฤตสารพัดปัญหา ตั้งแต่โควิด-19 ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 ทำเอาคนทั้งโลกตกอยู่ในสถานการณ์การระบาดครั้งใหญ่ ทุกคนต้องกักตัว เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งกิจวัตรประจำวัน วิถีการทำงาน กับคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบว่า การระบาดครั้งนี้สิ้นสุดหรือยัง? หรือจะเป็นปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีปัญหาทุกปี หนักหน่วงสุดในช่วเดือนมีนาคมปัญหาฝุ่นที่ทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น ไม่มีนโยบาย หรือแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหานี้ที่ถูกต้อง
เพียงแค่ 2 วิกฤตนี้หนักหน่วง หลายคนประสบปัญหาสุขภาพกาย ลามไปจนปัญหาสุขภาพจิตตามมา สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ลงจากการตกงาน การใช้ชีวิตแบบใหม่ที่ใครหลายคนยังคงปรับตัวไม่ได้ เทรนด์การใช้ชีวิตที่ต้องโปรดักซ์ทีฟ เร่งเร้าให้ทุกคนกดดันตัวเองหนักกว่าเก่า ท่ามกลางการปรับสมดุลเวิร์ก-ไลฟ์ บาลานซ์กับปัญหาที่ยังไม่เคยได้รับการคลี่คลาย กลายเป็นว่าเราจะต้องเป็นคนจัดการปัญหาเหล่านั้นด้วยตัวเอง
การระบาดครั้งใหญ่ของ 'โควิด-19' นี้เริ่มต้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2562 พบผู้ติดเชื้อรายแรกในจีน ต่อมาทาง WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในวันที่ 30 มกราคม 2563 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยเริ่มมีการรายงานข่าวเรื่องการระบาดโควิด และอัปเดตผู้ติดเชื้อในประเทศ และต่างประเทศ ขั้นตอนการรักษา และการป้องกัน เริ่มมีการตุนหน้ากากอนามัย สเปรย์แอลกอฮอล์ ธุรกิจใหม่ๆเริ่มผุดขึ้นมา และการค้าขายออนไลน์เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น
จนกระทั่งวันที่ 11 มีนาคม 2563 WHO ประกาศภาวะการระบาดใหญ่ ผู้คนทั่วโลกถูกล็อกดาวน์ และในวันที่ 25 มกราคม 2564 พบผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก 100 ล้านราย ในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปีเกิดการเปลี่ยนแปลครั้งใหญ่มากมาย ธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายปิดตัวลง เกิดการเลิกจ้าง และอีกหลายธุรกิจเกิดจากการขายออนไลน์ รูปแบบการทำงานที่ต้อง WFH (Work From Home) หลายคนเห็นโอกาส แต่หลายคนสูญเสียโอกาส งาน รวมทั้งคนรักจากการระบาดครั้งนี้
บทความวิชาการ ผลกระทบทางด้านสุขภาพจิต จากวิกฤตการระบาดของโรคอุบัติใหม่ โควิด-19 โดยนางสาวอรอุมา รัตนบรรณกิจ ผู้ช่วยบรรณารักษ์ กลุ่มงานห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเผยสาเหตุผลกระทบทางด้านจิตใจ ด้วยสาเหตุอย่างน้อย 4 ประการ (สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล. 2563)
- ประการแรก สาเหตุทางสุขภาพ คนส่วนใหญ่เกิดความกังวลว่าตนเองได้รับเชื้อหรือไม่ คนในครอบครัวจะปลอดภัยหรือเปล่า เกิดการวิตกกังวลกลัวสูญเสียคนที่รักไป
- ประการที่สอง เครียดจากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมากเกินไป
- ประการที่สาม เครียดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทีทั้งภาคธุรกิจและประชาชน เผชิญอยู่ ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการชั่วคราวจากมาตรการรัฐ ที่เปิดอยู่ก็ค้าขายซบเซา ประชาชนบางส่วนตกงาน ขาดรายได้ มีหลายครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวตกงานพร้อมกัน ส่งผลต่อความสามารถในการดำรงชีพ
- ประการที่สี่ ความเครียดของผู้คนบางส่วนยังเกิดจากวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ต้องทำงานจากบ้าน ไม่ได้พบเจอเพื่อนร่วมงาน ไม่สามารถไปออกกำลังกาย ไปร้านกาแฟหรือเจอเพื่อนและครอบครัว มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลให้มี“ภาวะโดดเดี่ยวเหงา” จำนวนมาก
เมื่อปัญหาทุกอย่างมีการสะสมความเครียดนาน ๆ วันเข้าก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจิตและถ้าสุขภาพจิตป่วยก็มีผลกระทบในการดำเนินชีวิตในด้านอื่น ๆ ตามมา ในการแพร่ระบาดของโรคใดๆก็ตาม เป็นธรรมดาที่แต่ละคนจะรู้สึกเครียดและวิตกกังวล ปฏิกิริยาที่พบบ่อยในผู้ที่ได้รับผลกระทบ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) อาจมีได้ดังนี้(พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์. 2563)
▪ กลัวจะล้มป่วยและเสียชีวิต
▪ หลีกเลี่ยงการเข้าสถานพยาบาลเพราะกลัวติดเชื้อขณะรับบริการ
▪กลัวการเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต ไม่สามารถท างานได้ระหว่างถูกแยกกันโรค (Isolation) และถูกให้ออกจากงาน
▪ กลัวการแบ่งแยกออกจากสังคม หรือถูกกักกันโรค (Quarantine) เพราะมีความเสี่ยงสัมผัสโรค (เช่น การเหยียดเชื้อชาติผู้ที่มาจากหรือคิดว่ามาจากพื้นที่การระบาด)
▪ รู้สึกหมดหนทางในการปกป้องคนที่รัก และกลัวการสูญเสียคนที่รักจากการติดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
▪ กลัวว่าจะถูกแยกออกจากคนที่รักและผู้ดูแลเนื่องจากมาตรการกักกันโรค
▪ ปฏิเสธไม่รับดูแลเด็กที่ไม่มีผู้ปกครองหรือเด็กที่ถูกแยกออกจากครอบครัว ผู้พิการ หรือ ผู้สูงอายุ เนื่องจากกลัวติดเชื้อ เพราะผู้ปกครองหรือผู้ดูแลถูกน าตัวไปกักกันโรค
▪ รู้สึกหมดหนทาง เบื่อหน่าย โดดเดี่ยว และซึมเศร้าจากการถูกแยกกักโรค
▪ กลัวเกิดเหตุการณ์ย้อนกลับเหมือนการแพร่ระบาดครั้งก่อน
คำถามที่ตามาคือ การระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลงหรือยัง?
เว็บไซต์เจาะลึกระบสุขภาพเผยว่า วิทยาลัยแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) เผยแพร่บทความของ โรเบิร์ท เอช. ชเมอร์ลิง บรรณาธิการอาวุโสของ Harvard Health Publishing เรื่อง "การระบาดของ COVID-19 สิ้นสุดลงหรือยัง?" ซึ่งผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเรื่องคำนิยามของคำว่า "การระบาดใหญ่" (Pademic) ที่ทำให้การระบุการสิ้นสุดของการระบาดแตกต่างกันไปตามการตีความคำๆ นี้ของนักวิชาการรายต่างๆ แต่สุดท้ายแล้วเขาบอกว่า "ยังมีอีกมากที่ยังไม่แน่นอนเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของ COVID-19 น่าเสียดาย สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนชัดเจน ก็คือ เรายังไม่สามารถเรียกมันว่าจบได้อย่างสมบูรณ์"
ดังนั้นจากคำถามของชื่อบทความว่า "การระบาดของ COVID-19 สิ้นสุดลงหรือยัง?" คำตอบก็มาจากตัวบทความนั่นเอง คือ "เรายังไม่สามารถเรียกมันว่าจบได้อย่างสมบูรณ์" นี่คือทัศนะของบรรณาธิการวารสารออนไลน์ด้านการแพทย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดรายหนึ่ง
ณ วันที่มีการเผยแพร่บทความนี้ (26 ตุลาคม 2565) ข่าวการระบาดในส่วนอื่นๆ ของโลกซาลงไปมากแล้ว จนแทบไม่มีใครสนใจอีกแล้วว่าจะมีคนป่วยกี่คน คนตายกี่คนจาก COVID-19 แต่สื่อก็ยังจับตาความเคลื่อนไหวของบางประเทศ เช่น จีน ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด แต่ก็ยังไม่เลิกมาตรการล็อคดาวน์ และ ณ เวลาที่บทความนี้ถูกเผยแพะร่ สื่อจับตาการล็อคดาวน์ที่เมืองอู่ฮั่นอีกครั้ง (เป็นบางส่วน)
แต่ก็เป็นการชี้ให้เห็นว่าแม้การระบาดใหญ่จะล่วงเลยมานานถึง 3 ปีแล้ว แต่ "สมรภูมิอู่ฮั่น" ก็ยังไม่สงบจากการทำสงครามกับไวรัส อย่างน้อยก็ในทัศนะของรัฐบาลจีน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า "เราไม่เคยอยู่ในสถานะที่ดีกว่านี้มาก่อนในการยุติการแพร่ระบาด แม้เรายังไม่ได้ไปถึงจุดนั้น แต่มองเห็นจุดจบอยู่ในสายตาแล้ว"
แม้ทุกวันนี้มาตรการในประเทศไทยจะเบาบางลง รัฐบาลยกเลิกมาตรการการใส่หน้ากากอนามัย ยกเลิกโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งการรักษาที่หากใครเป็นโควิดในช่วงเวลานี้ (30 มีนาคม 2566) จะต้องเข้ารับการรักษาด้วยตนเอง อาจจะมีโรงพบาลบางแห่งที่รับรักษาฟรี แต่ยาที่ใช้รักษาจะใช้ยารักษาตามอาการ ผู้คนเริ่มถอดหน้ากาก และกลับมาทำงานกันอย่างปกติ บริษัทบางแห่งมีการสลับวันเข้าทำงานและทำงานจากที่บ้าน หรือบางแห่งยินดีที่จะให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องเข้าบริษัท ธุรกิจออนไลน์บางรายไปได้ดี
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565 บาบาตุนเด โอโลโวกูเร ผู้อำนวยการด้านความมั่นคงด้านสุขภาพและเหตุฉุกเฉินของ WHO ในแปซิฟิกตะวันตกกล่าวว่า สิงคโปร์และนิวซีแลนด์กำลังประสบกับจำนวนผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มขึ้น โดยการหมุนเวียนของตัวสายพันธุ์ย่อย COVID-19 Omicron XBB กำลังกระตุ้นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสิงคโปร์ ในขณะที่ BA.5 ยังคงเป็นตัวแปรหลักในนิวซีแลนด์ “สิงคโปร์กลับมาใช้มาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุข เช่น การจำกัดผู้มาเยี่ยมโรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา” เขากล่าวและย้ำว่า “การระบาดใหญ่ยังไม่จบ”
จะเห็นได้ว่าการระบาดนั้นที่จริงแล้วยังไม่สิ้นสุด การติดเชื้อยังมีขึ้นในทุกๆวัน และที่สำคัญเชื้อไวรัสมีการวิวัฒนาการตัวเองหลบหลักวัคซีน ขยายพันธุ์เร็วขึ้น ติดเชื้อแล้วอาการหนักขึ้น แต่ผู้คนกลับหยุดวิวัฒนาการการป้องกันตัว การะมัดระวัง การป้องกันหลวมขึ้น และน่าจะเป็นอย่างนี้ไปอีกหลายปีกว่าสถานการณ์โลก หรือประเทศไทยจะกลับเข้าสู่ความปกติ หรือจะเป็นความปกติแบบใหม่
PM2.5 ปัญหาสุดเอือมระอา
ปัญหาหนักอีกปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และทำให้สุขภาพร่างกายของคนไทยย่ำแย่ลงคือฝุ่น PM2.5 กรีนพีซเผยข้อมูลข้อค้นพบหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย ในปี 2565 พบว่า 7 จาก 9 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 ลดลง มีเพียง สปป.ลาวและเวียดนามเท่านั้นที่มีค่าความเข้มข้น PM2.5 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีค่าความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 30.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือ สปป. ลาว 27.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเวียดนาม 27.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
กัมพูชาเป็นประเทศที่มีค่าความเข้มข้น PM 2.5 น้อยสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีค่าเฉลี่ย อยู่ที่ 8.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 58 มีเพียง 8 เมืองจากทั้งหมด 296 เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่ผ่านหลักเกณฑ์ค่าแนะนำคุณภาพอากาศ PM2.5 ฉบับปรับปรุงล่าสุดปี 2564 ของ WHO
ไทยและอินโดนีเซียมีจำนวนเมือง/ อำเภอ ที่มีมลพิษมากที่สุดจากทั้งหมด 15 อันดับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ไทยมี 7 อำเภอที่มีมลพิษสูงคือ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี, อ.เมืองน่าน จ.น่าน, อ.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ, คลองตาคต จ.ราชบุรี, ท่าวาสุกรี จ.พระนครศรีอยุธยา, ดอนหัน จ.ขอนแก่น , ยางซ้าย จ.สุโขทัย และอินโดนีเซียมี 5 เมืองคือ ปาซาร์เคมิส, ชีเลงเซีย, จาการ์ตา, เบกาซี, สุราบายาตามลำดับ
ค่าความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยของไทยปี 2565 อยู่ที่ 18.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงกว่าปี 2564 ร้อยละ 10.4 กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีค่าความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยรายปี สูงเป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับที่ 52 ของโลก มีค่าความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ย 18 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ประเทศไทยยังไม่กำนดค่ามาตรฐานการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิดหลักและการเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ที่จะเป็นเครื่องมือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบและป้องกันสุขภาพจาก PM2.5 และมลพิษอื่นๆ ได้ซ้ำรัฐบาลไม่ได้กำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหานี้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยบทความฝุ่น PM2.5 มีผลต่อสุขภาพจิต ของเด็กและเยาวชน พบว่า เด็กมีอัตราการหายใจต่ออัตราส่วนขนาดร่างกายที่สูงกว่า และมักจะใช้เวลาอยู่กลางแจ้งมากกว่าผู้ใหญ่ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ยังมีรายงานที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศกับโรคจิตเภทในผู้ใหญ่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสกับ PM2.5 และการก่อให้เกิดอาการวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายขึ้น
สำหรับการศึกษาในเด็กพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศมีผลต่ออัตราที่สูงขึ้นของโรคสมาธิสั้น, ออทิสติก, อาการวิตกกังวล ซึมเศร้า และปัญหาพฤติกรรมในเด็ก พบว่ามีรายงานอัตราการจ่ายยาจิตเวชที่เพิ่มขึ้นในเด็กและวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศสูงขึ้น
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีหลายพื้นที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน ว่า เรื่องนี้อาจทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเครียดและวิตกกังวล จึงขอแนะนำแนวทางในการดูแลสุขภาพใจ เพื่อช่วยให้สามารถปรับตัว ปรับวิธีคิด และสามารถรับมือกับสถานการณ์ช่วงฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐานด้วยวิธีการ 5 ข้อ ดังนี้
1. มีสติและขอให้ติดตามข่าวสารสถานการณ์จากทางหน่วยงานราชการเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เราทราบถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหว สามารถปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ และประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง จะทำให้ลดความเครียด และความวิตกกังวลลงได้
2. ปรับวิธีการคิด ซึ่งความคิดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนเราเกิดความเครียด หากเรารู้จักปรับวิธีการคิด ให้คิดแบบยืดหยุ่น คิดหลายแง่มุม โดยการยอมรับ ปรับตัว และทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะช่วยลดความเครียดลงไปได้มาก
3. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง จะช่วยทำให้ผ่อนคลาย ไม่มีความเครียด
4. หาวิธีการป้องกันฝุ่นละออง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เจ็บป่วยได้ง่าย เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว ให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน หากต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยหรือ N 95 และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาประจำตัวให้พร้อม ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะทำให้คลายความเครียดและวิตกกังวลลงไปได้
5. เฝ้าระวังหรือสังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
สองปัญหานี้ยังคงดำเนินอยู่ และกินเวลาเกิน 3 ปี ปัญหาที่คงอยู่นี้กระทบทั้งสุขภาพร่างกาย และกระทบสุขภาพจิตอย่างมีนัยยะสำคัญ ปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ปัจจุบันพบเด็ก และวัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น เดิมทีปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นเกิดจากสิ่งแวดล้อมประการสำคัญคือ เรื่องของสภาพครอบครัว โรงเรียน สื่อมวลชน สิ่งแวดล้อมทางมนุษย์
ปัญหาพฤติกรรมทางอารมณ์ของเด็กและวัยรุ่นเป็นปัญหาของการปรับตัว มีสิ่งกระตุ้นหรือมีความเครียดก็มีการปรับตัว แต่การปรับตัวอาจจะแสดงออกมาในหลายรูปแบบ แม้การทำความเข้าใจเรื่องโรคเกี่ยวกับจิตเวชจะเริ่มเป็นที่รู้จัก และให้ความเข้าใจมากขึ้นแต่เด็กและวัยรุ่นหลายคนยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ และบางคนยังไม่ทันได้รับการรักษา จึงเกิดเหตุการณ์การฆ่าตัวตายมากขึ้นในปัจจุบัน
ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลรักษาปัญหาด้านสุขภาพจิตจึงต้องมีการออกมาตรการแนวทางหรือแผนงานตลอดถึงกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจอย่างเร่งด่วนในการเยียวยารักษาสมดุลและรับมือกับปัญหาด้านสุขภาพจิต เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงและเกิดความเชื่อมั่นว่าจะสามารถดำรงชีวิตต่อไปได