รักเด็ก น้องสมยอม เป็นแฟนกัน อย่างนี้แล้วจะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์หรือไม่ อย่างแรกต้องทำความเข้าใจคำว่า “ผู้เยาว์” คือใคร
ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ที่ยังอ่อนในด้านสติปัญญา ความคิด และร่างกาย ผู้เยาว์ไม่สามารถทำนิติกรรมได้ตามลำพังตนเอง เพราะขาดความรู้ ความชำนาญ ถ้าปล่อยให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรมได้ตามลำพังตนเองแล้ว อาจจะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความรู้ ความสามารถดีกว่าทำการเอาเปรียบได้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เยาว์ "ผู้เยาว์" จะแตกต่างจากคำว่า "เด็ก" และ "เยาวชน" ซึ่งแต่ละกฎหมายก็กำหนดไว้แตกต่างกันไป เช่นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก กำหนดนิยามคำว่าเด็กไว้ว่าบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ในขณะที่พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กลับนิยามคำว่าเด็กไว้ว่าบุคคลที่ยังอายุไม่เกินสิบห้าปี ส่วนเยาวชนคือบุคคลที่อายุเกินสิบห้าปีแล้วแต่ยังไม่ถึงสิบแปดปี
การบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์
- บรรลุนิติภาวะโดยอายุ บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 บริบูรณ์ (มาตรา 19)
- บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว (มาตรา 20 และ 1448)
ความผิดฐานพรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์ หมายถึง การพาหรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา
ในกรณีที่ผู้เยาว์อายุมากกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ยินยอมหรือเต็มใจไปด้วย บุคคลที่คิดจะพรากผู้เยาว์ก็ยังถือว่ามีความผิดและได้รับโทษติดคุกสูงสุด 10 ปี ปรับ 200,000 บาท ตรงกับกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรค 1 ว่าด้วยการพรากผู้เยาว์มาเพื่อการอนาจาร หรือเพื่อหากำไร ถือเป็นการพรากมาโดยไม่มีเหตุอันควร ผู้กระทำมีความผิดฐาน “พรากผู้เยาว์” ระวางโทษตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 ถึง 200,000 บาท
ความเป็นจริงของคดีลักพาตัว หรือพรากผู้เยาว์นั้น จากรายงานส่วนใหญ่ผู้ปกครองที่มาแจ้งความเด็กหาย มักจะเข้าใจผิดว่าเด็กๆ หนีออกจากบ้าน หรือไปในที่ๆ พ่อแม่คิดว่าจะไปซ่อนตัวอยู่ การลักพาตัวส่วนใหญ่เกิดจากคนในครอบครัว หรือคนรู้จัก มีเพียงแค่ 25% เท่านั้นที่ถูกลักพาตัวโดยคนแปลกหน้า ทั้งนี้เด็กส่วนใหญ่ถูกพรากผู้เยาว์ หรือถูกลักพาตัวโดยผู้ชาย เด็ก 2 ใน 3 เป็นเพศหญิง และในความเป็นจริงพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ใช่เด็กเล็ก แต่อยู่ในช่วงวัยรุ่นกันแล้ว
ผู้ปกครองสามารถดูแลเบื้องต้นได้โดนให้ความสำคัญกับการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัย เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ดี แต่ก็เป็นแหล่งที่ผู้ล่าใช้ติดตามเด็กเช่นกัน จึงจำเป็นต้องระวังกิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตและ “เพื่อน” แชตของลูกๆ เตือนพวกเขาไม่ให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ในส่วนของพ่อแม่ก็ควรหลีกเลี่ยงการโพสต์ข้อมูลระบุตัวตนหรือรูปถ่ายของลูกๆ ทางออนไลน์
ทั้งนี้การกำหนดขอบเขตเกี่ยวกับสถานที่ที่ลูกๆ จะไป รวมถึงการดูแลพวกเขาในสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สวนสาธารณะ ห้องน้ำสาธารณะ หรือขณะที่มีคนแปลกหน้ามาเคาะประตูบ้าน อย่าปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียวในรถหรือรถเข็นเด็กแม้แต่นาทีเดียว
การเลือกผู้ดูแลเด็ก เช่น พี่เลี้ยงเด็ก ครูผู้สอน อย่างรอบคอบ และตรวจสอบข้อมูลอ้างอิงของพวกเขา หากมีความจำเป็นต้องให้ใครสักคนมารับลูกๆ ของจากโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ให้พูดคุยเกี่ยวกับการนัดล่วงหน้ากับลูกๆ และโรงเรียนหรือศูนย์ดูแลเด็ก ที่สำคัญที่ไม่อยากให้มองข้าม หลีกเลี่ยงการให้ลูกๆ สวมเสื้อผ้าที่มีชื่อของพวกเขาอยู่ หรือผู้ปกครองมักของเขียนชื่อของลูกๆ ลงบนสิ่งของ ทำให้คนแปลกหน้าสามารถเรียกชื่อลูกๆ เราได้ เพราะเด็กๆ มักจะไว้ใจผู้ใหญ่ที่รู้จักชื่อของพวกเขา