“คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก” การนินทาคนอื่นเป็นพฤติกรรมที่แย่ คนที่โดนนินทาจะรู้สึกไม่ดี คนที่นินทาคนอื่นก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ในทางสรีระศาสตร์ การนินทากลับเกิดผลดีต่อร่างกาย
“คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก” จากกรณีข่าว นางเอก ใหม่-ดาวิกา ประกาศยุติทำรายการ “เพื่อนใหม่” ทางช่อง YouTube Davikah Channel หลังถูกตำหนิหนักเกี่ยวกับการเม้าธ์นักแสดงร่วมวงการจนเกิดกระแสดราม่า และได้ออกมาขอโทษที่การทำรายการเกิดกระทบกระเทือน ทำคอนเทนท์ไม่รอบคอบ และจะถือว่าเป็นบทเรียนและไม่ขอพูดถึงบุคคลอื่นอีก ถือว่าเป็นการขอยุติดราม่าร้อนดังกล่าว
กรณีของ ใหม่-ดาวิกาไม่ใช่คนแรกที่ทำรายการนั่งเม้าธ์กับกลุ่มเพื่อน จะเห็นได้ว่ารายการลักษณะนี้มีมากมายจากคนดังในวงการ แต่ส่วนมากหากต้องพูดถึงบุคคลที่สามที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น จะมีการเลี่ยงการพูดชื่อ
ดังนั้นพูดได้เต็มปากว่าเรื่องเม้าธ์ เรื่องนินทาเป็นเรื่องปกติซะด้วยซ้ำ ทั้งเป็นคนที่ถูกนินทา และเป็นคนนั่งนินทาคนอื่น จากเว็บไซต์ iSTRONG Mental Health เผยว่า หากพิจารณาจากลักษณะทางธรรมชาติของมนุษย์ การนินทาจัดว่าเป็นเครื่องมือการสื่อสารแบบหนึ่งที่ก็มีด้านที่เป็นประโยชน์อยู่เหมือนกัน เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมจึงมักจะรู้สึกโหยหาความรู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ มนุษย์มีความรู้สึกเหงา ซึ่งการนินทาสามารถช่วยให้หายเหงาได้
แต่ปัญหาคือการนินทาของมนุษย์ในบางครั้งมันก็มีลักษณะที่เกินไป จนมันกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพราะคนเรามักจะชอบแพร่ข่าวลือในทางลบมากกว่าจะพูดถึงเรื่องดี ๆ ของคนอื่น ซึ่งหากจะถามว่าคนแบบไหนที่ชอบนินทา
- มีพฤติกรรมขี้ขลาด (Cowardly Behavior) เพราะคนจริงมักจะเลือกฟังข้อมูลจากต้นตอหรือคนที่เป็นเจ้าของเรื่องราวโดยตรง แต่คนที่ขี้ขลาดจะไม่กล้าเข้าไปถามตรง ๆ ก็เลยคิดว่า “ฉันฟังจากปากของคนอื่นก็ได้” หรือ “มันก็สนุกดีที่จะพูดต่อ ๆ กันไป”
- รู้สึกไม่มั่นคง/ต้องการเสริมพลังให้ตัวเอง (Insecurity/Empowerment) คนขี้นินทาส่วนใหญ่ต้องการได้รับความสนใจ และมักจะรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญขึ้นมาเมื่อได้เป็นคนปล่อยข่าว ทำให้มีคนเข้ามาคุยด้วยมากขึ้น โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่าการเป็นคนขี้นินทามันมีราคาที่ต้องจ่ายก็คือความน่าเชื่อถือลดลงและสุดท้ายก็จะไม่มีใครอยากอยู่ใกล้เพราะไม่อยากเป็นรายต่อไปที่จะถูกนินทา
- มีพฤติกรรมชอบซาดิสม์ (Sadistic Personality) คนขี้นินทาอาจจะเป็นคนเดียวกับคนที่ชอบเห็นคนอื่นเจ็บปวด และรู้สึกดีเมื่อได้เห็นคนอื่นต้องเจอกับประสบการณ์เจ็บปวดทุกข์ใจ
- มีความกังวลไม่มั่นใจ (Anxiety and Uncertainty) คนที่มีนิสัยขี้กังวลไม่มั่นใจสามารถกลายเป็นคนขี้นินทาได้ เพราะช่วงเวลาที่นินทาคนอื่นมันช่วยให้ลืมความกังวลของตัวเองไปได้ชั่วคราว
- เป็นผู้หญิง (You’re Female) คุณผู้หญิงอาจจะรู้สึกไม่ค่อยดีที่ต้องมาเจอกับข้อความนี้ แต่จากข้อมูลของ Dr. Hallowell จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นพบว่า การนินทามักมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้หญิงมากกว่า และก็มักจะพบว่าคนที่ชอบสร้างเรื่องขึ้นมานินทาส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง
แล้วการนินทาสร้างเรื่องดีๆ บ้างหรือเปล่า ผู้คนมักคิดว่าการนินทาเป็นเพียงพฤติกรรมแย่ๆ ยิ่งการนินทาที่แย่ที่สุดคือการแสดงความคิดเห็นในทางร้ายเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของใครบางคน เพราะเราไม่ได้เกิดการเรียนรู้อะไร แถมยังไม่ได้ประโยชน์ใดๆอื่นอีก แต่การนินทากลับช่วยให้ร่างกายรู้สึกกระตือรือร้น
แมทธิว ไฟน์เบิร์ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรที่ Rotman School of Management แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต และเพื่อนร่วมงานของเขาได้สำรวจในปี 2012 ลงตีพิมพ์ใน Journal of Personality and Social Psychology เมื่ออาสาสมัครได้ยินเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลอื่น อัตราการเต้นของหัวใจของพวกเขาก็เพิ่มขึ้น เมื่อพวกเขาสามารถซุบซิบนินทาเกี่ยวกับบุคคลนั้นหรือสถานการณ์ได้ แต่ในทางกลับกัน มันทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายและทำให้อัตราการเต้นของหัวใจลดลง ไฟน์เบิร์กอธิบายว่าการซุบซิบนินทา "ช่วยให้ร่างกายสงบ"
การนินทายังบอกถึงความสัมพันธ์ที่ผู้คนมีต่อกันอีกด้วย “ในการที่จะนินทา คุณต้องรู้สึกใกล้ชิดกับผู้คน” สเตซี ทอร์เรส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ผู้ศึกษาการนินทาในผู้สูงอายุกล่าวว่า "เกิดความใกล้ชิดในการแบ่งปันประสบการณ์และทำให้รู้สึกเหมือนคุณอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เธอชี้ให้เห็นการวิจัยพบว่าการซุบซิบสามารถขจัดความเหงาได้ ในขณะที่การศึกษาอื่น ๆ พบว่าสามารถส่งเสริมความสัมพันธ์และความใกล้ชิด และทำหน้าที่เป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง